Skip to main content


วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ

ก็เลยลองคิดต่อดูว่า พวกที่มีปัญหากับปฏิทินนกแอร์มีพวกไหนบ้าง พวกนี้คิดแบบไหน และวิธีคิดแบบนั้นมีปัญหาอย่างไร ผมว่าพวกนี้มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องแยกกัน คือในตัวคนหรือองค์กรเดียวกัน อาจมีวิธีคิดทั้ง 4 แบบนี้เลยก็ได้
 
(1) พวกอยากแช่แข็งความเป็นไทย พวกนี้รับไม่ได้ว่าภาพลักษณ์ความเป็นไทยจะถูกนำเสนอด้วยความสากล อยากให้ความเป็นไทยแปลกแยกไม่เหมือนใครในโลกนี้ เข้าใจว่ามีความเป็นไทยแท้อยู่จริง ไม่เห็นว่าความ้ป็นไทยถูกประดิษฐ์ขึ้นมา 
 
แต่พวกนี้เองนั่นแหละ ที่จะเป็นพวกนิยมให้นักเรียนนักศึกษาแต่งเครื่องแบบ พวกนี้เอาเข้าจริงจึงไม่ได้อยากให้ควบคุมความเป็นไทย แต่พวกนี้อยากควบคุมคนอื่น เพราะกับตนเอง พวกนี้จะบอกว่าฉันแต่งตัวตามกาละเทศะ ฉันเท่านั้นที่รู้ว่าอะไรควรแต่งอะไรไม่ควรแต่งเมื่อไหร่ แต่พวกเธอไม่รู้เรื่อง จึงต้องให้ฉันจัดการดูแลควบคุม
 
(2) พวกชอบกำกับความเป็นหญิงไทย พวกนี้คือส่วนขยายของพวกแรก เป็นพวกชอบบอกว่า หญิงไทยที่ดีต้องเป็นอย่างไร พวกนี้กลัวภาพลักษณ์ผู้หญิงเสียหาย มากกว่าจะสนใจความเป็นจริงว่า ผู้หญิงมีสิทธิต่างๆ เท่าเทียมชายหรือยัง แล้วยังมี "ผู้" อื่นๆ เพศอื่นๆ ที่ให้ต้องดูแลอีกมากมาย พวกนี้ก็จะไม่สนใจ เพราะคิดว่าโลกนี้มีแต่หญิงกับชาย 
 
พวกนี้ไม่สนใจภาพลักษณ์ผู้ชายเท่ากับภาพลักษณ์ผู้หญิง ผู้หญิงจึงถูกคาดหวัง ถูกควบคุมให้รักษาภาพความเป็นหญิงไทยมากกว่าผู้ชาย ดูอย่างชุดแต่งกายในการโฆษณาสายการบินที่เน้นความเป็นไทยสายหนึ่ง เห็นมีแต่ให้ผู้หญิงที่ใส่ "ชุดไทย" ไม่เห็นมีว่าผู้ชายหรือกัปตันต้องใส่ชุดไทย ฉะนั้นพวกนี้ไม่ได้ห่วงผู้หญิง เท่ากับห่วงว่าภาพลักษณ์ผู้หญิงบางส่วน จะทำให้ภาพลักษณ์ตนเองเสื่อมเสียไปด้วย
 
(3) พวก sexist พวกนี้จะมีทัศนะต่อปฏิทินนี้ว่า เป็นสื่อยั่วยุกามารมณ์ กระตุ้นกาม ทำให้ผู้โดยสารหื่นกามกับแอร์โฮสเตส
 
ถ้าผู้หญิงถูกลวนลาม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน พวกนี้จะถามว่า "หล่อนแต่งตัวยังไง" พวกนี้ไม่เคารพในสิทธิในร่างกายของผู้หญิง เท่ากับการควบคุมตัณหาผู้ชายด้วยการผลักภาระให้ผู้หญิงควบคุมตนเอง พวกนี้ไม่คิดว่า การสั่งสอนให้ผู้ชายไม่ข่มขืนผู้หญิง สำคัญกว่าการสั่งสอนให้ผู้หญิงไม่แต่งตัวยั่วยวน พวกนี้ไม่คิดว่า แม้ว่าใครจะจงใจเดินแก้ผ้ามาอยู่ต่อหน้า ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอจะยินยอมมีเซ็กส์ด้วย
 
ลองคิดกลับกัน ถ้าผู้ชายถูกข่มขืน ใช่ ผู้ชายก็มีโอกาสถูกข่มขืน เช่น ถูกคนเพศเดียวกันข่มขืน ถูกผู้หญิงที่มีอำนาจกว่าบังคับให้ร่วมเพศด้วย แม้ว่าจะไม่ได้แต่งตัวยั่วยวนอะไรเลย แล้วจะโทษได้ไหมว่าผู้ชายคนนั้นแต่งตัวยั่วยวนจนทำให้ถูกข่มขืน ปัญหาของการใช้ความรุนแรงทางเพศจึงไม่ได้อยู่ที่เหยื่อ แต่อยู่ที่ผู้ก่ออาชญากรรม
 
(4) พวกปกป้องสิทธิสตรีในกรอบสตรีนิยมแบบเก่า พวกนี้คิดว่าจะต้องปกป้องเรือนร่างของผู้หญิงที่อ่อนแอ พวกนี้อาจคิดว่าผู้หญิงทุกคนอ่อนแอ ต้องได้รับการปกป้องไปทั้งหมดด้วยซ้ำ พวกนี้บางคนยังเข้าใจผิดๆ อยู่ว่า ผู้หญิงทุกคนถูกกดขี่ทั่วโลก ช่างไม่รู้เลยว่า แม้แต่นักสตรีนิยมคนสำคัญๆ ของโลกนี้ ที่เคยเชื่อแบบนี้ เธอยังเลิกเชื่อแบบนี้ไปแล้วเลย (เช่น Sherry Ortner นักมานุษยวิทยาสตรีนิยมคนสำคัญ)
 
พวกนี้คิดว่า การคิดแทนเพื่อปกป้องผู้หญิงไม่ว่าจะในรูปแบบใดเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากเป็นผู้ชาย พวกนี้้เป็นพวกผู้ชายที่คิดว่าตนเองรู้ดีกว่าผู้หญิง คิดว่าผู้หญิงถูกหลอกลวง เป็นทาสทุนนิยม เป็นทาสการทำให้ตนเองเป็นวัตถุทางเพศ ตนรู้ดี จึงต้องปลดปล่อยผู้หญิงเหล่านี้จากการครอบงำ พวกนี้เหมือนผู้หญิงโลกที่หนึ่งในอดีต ที่คิดว่าต้องปกป้องและปลดปล่อยผู้หญิงโลกที่สามจากการครอบงำ โดยหารู้ไม่ว่า ผู้หญิงในโลกที่หนึ่งนั่นแหละ ที่ถูกกดขี่อาจจะมากกว่าผู้หญิงโลกที่สามหลายแห่ง
 
พวกนี้มักใช้สำนวน sexual objectification อย่างสับสนกับ sex appeal ขณะที่การทำให้เป็นวัตถุทางเพศเป็นการลดทอนความเป็นคนให้กลายเป็นวัตถุบำเรอกามกิจ แต่การแสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้หมายความว่าผู้แสดงออกจะต้องการเป็นเหยื่อกามารมณ์ เพราะหากผู้แสดงออกอย่างยั่วยวน ไม่ได้ต้องการมีเซ็กส์กันผู้ที่ถูกยั่วยวนแล้ว ก็ไม่ใช่เหตุที่จะมาโทษเขาหรือเธอว่าเป็นผู้ยั่วยวน 
 
ลองคิดกลับกัน การที่ผู้ชายแต่งตัวยั่วยวนผู้หญิง (ปลดกระดุมเสื้อ ใส่น้ำหอม แต่งตัวตามแฟชั่น ไว้เครา หรือสวมใส่ ไม่สวมใส่อย่างไรก็ตาม ที่คิดว่าจะยั่วยวนสาวๆ ได้ ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะยั่วพวกเธอได้จริงหรือเปล่า) แปลว่าผู้ชายกำลังทำตัวเองให้เป็นวัตถุทางเพศอย่างนั้นหรือ หรือกำลังเพียงหว่านเสน่ห์ยั่วยวน เพื่อเลือก ไม่ใช่เพื่อถูกขืนใจ แล้วถ้าพวกผู้ชายคิดอย่างนั้นได้ พวกผู้หญิงหรือผู้อื่นๆ ที่แต่งตัวยั่วยวน จะคิดอย่างนั้นบ้างไม่ได้หรือ
 
ถ้าคุณดูปฏิทินยั่วยวน หรือกระทั่งดูหนังโป๊ แล้วออกไปลวนลามคนอื่น ทำร้ายคนอื่น ความผิดจะอยู่ที่สื่อยั่วกามได้อย่างไร ถ้าสายการบินใด สินค้าใด จะใช้ความงามแบบยั่วยวนเป็นสื่อ แล้วคุณไม่ชอบ ก็ขึ้นสายการบินที่แต่งตัวเรียบร้อยแถมบางทีราคาถูกกว่าเสียสิ ซื้อสินค้าอื่นเสียสิ ถ้าอยากให้หญิงไทยงามแบบไทยๆ ก็บังคับลูกหลานคุณที่บ้านให้ได้เสียก่อนค่อยออกมาบังคับคนอื่น ถ้าใครไม่อยากให้ผู้หญิงแต่งตัวยั่วยวน ก็รณรงค์ให้ตัวเองเลิกหื่นเสียสิ จะทำได้จริงๆ หรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้