Skip to main content

 

เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 
เรื่องที่ว่าคือประเด็นเรื่อง "เพื่อนบ้านศึกษา" ซึ่งตั้งคำถามกับการพัฒนาการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง แต่ขอไม่เล่าเรื่องนี้ในที่นี้ ขอเล่าเรื่องอาหารการกินที่ติดรสหวานของคนถิ่นนี้แทน
 
ปกติอาหารนครศรีธรรมราชที่ผมรู้จักในครอบครัว ไม่เคยเลยที่จะติดรสหวาน แต่มานครฯ เที่ยวนี้แล้วรู้สึกได้ถึงรสหวานที่ดูจะระบาดไปทั่ว โดยเฉพาะในร้านอาหารที่มีคนกรุงเทพฯ คนต่างถิ่น มากินกัน 
 
เริ่มจากอาหารเย็นวันแรก (2 มีค.) ไปร้านอาหารในเมืองนครฯ กินกันเป็นมหกรรมปลาเลยทีเดียว มื้อนี้มีปลาสดๆ อร่อยๆ เยอะมาก และปรุงมาด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ อินทรีทอด สำลีเผา ดุกอุยร้า ดุกทะเลฉู่ฉี่ กระบอกต้มส้ม จนถึง กุเลาแกงเหลือง อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ ถึงกับเอ่ยปากว่า "ไม่เคยกินปลามากเท่านี้มาก่อนในชีวิตเลย" เพียงแต่อาหารมื้อนั้นรสชาติไม่จัดจ้าน เรื่องจากต้องประคับประคองท้องของผู้ใหญ่ แต่ที่ชวนหงุดหงิดนิดหน่อยคือ อะไรๆ ก็ติดหวาน แม้แต่น้ำพริกแมงดานา
 
แต่เมื่อวาน (3 มีค.) ไปร้านที่คนท่าศาลาแนะนำว่า "อร่อย" ครั้งนี้ไปเป็นรอบที่สองแล้ว ก็ยังรู้สึกว่าอาหารส่วนใหญ่ออกรสหวานๆ โดยเฉพาะจานเด็ดของเขาคือส้มตำทะเลน่ะ ตัวหวานเลย แม้แต่แกงปลาทรายใบยี่หร่าก็ยังหวานเหลือทน สุดท้ายด้วยความแค้น กะว่าถ้าจานนี้ยังไม่อร่อยอีกล่ะก็ คราวหน้ามาท่าศาลาจะไม่มาร้านนี้อีกแลัว ก็เลยขอให้เขาสั่งแกงส้ม บอกให้ทำแบบอร่อยๆ แบบคนใต้กิน 
 
ทางร้านหายไปนาน พอยกมา ได้แกงเหลืองถ้วยเขื่อง ตักชิมคำแรก โห! แกงส้มปลากุเลาสดๆ ทั้งเผ็ด ท้ังเปรี้ยวจิ้ดจ้าดกำลังดี ปรุงด้วยน้ำมะนาวสด เครื่องแกงถึงขมิ้น ถึงกะปิ ใช้พริกสดปนกับพริกแห้ง ไม่ติดรสหวาน อย่างนี้สิค่อยเรียกว่ามานครฯ หลังจากกินดื่มมาพอสมควรแล้ว ก็เลยต้องยอมกินข้าวปิด ท้ายมื้อ รับผิดชอบอาหารที่สั่งมานั่งกินคนเดียวท่ามกลางเพื่อนๆ อาจารย์อีกสิบกว่าคนที่อิ่มกันหมดแล้ว นับว่าจานนี้ช่วยกอบกู้ชื่อเสียงของร้านเอาไว้ได้จริงๆ
 
ท้ายสุด ยังไปกินน้ำชาร้านดังของท่าศาลาร้านนึงต่ออีก ต้องกำชับเขาว่าไม่เอาหวานมาก ได้ชาร้อนรสจัด ชนิดต้องกินแบบจิบๆ เขากินแกล้มกับขนมปังขาวจืดๆ แทนที่จะเป็นโรตีอย่างแต่ก่อน ก็เลยแขวะขนมปังเขาไปว่ามันเป็นขนมปังให้ปลา แต่น้ำชาเขารสเด็ดมาก
 
เช้านี้ (4 มีค.) ไปกินน้ำชากับโรตีในหมู่บ้านมุสลิมใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ร้านนี้อร่อย โรตีจิ้มแกงหวานนิดหน่อย แต่ตามรสของเขา เพราะเคยกินของพวกนี้ที่ปัตตานี คนมุสลิมทางใต้มักกินติดหวาน ก็รับได้อยู่เพราะเป็นรสแบบของเขา ที่ชอบจานหนึ่งคือข้าวมันราดแกง เข้าใจว่าเขาหุงข้าวใส่กะทิเลยมันๆ ร่วนๆ หน่อย ราดแกงคล้ายพะแนงเนื้อ อร่อยดี หวานนิดหน่อย 
 
ที่เด็ดคือโรตีบางๆ อาจารย์ที่พาไปเล่าว่า มีอีกร้านที่เขาเรียกโรตีทิชชู เพราะบางกรอบมาก แต่ผมชอบแบบที่ร้านนี้แหละ บางแล้วมีกรอบบ้างนิ่มบ้าง กินกับน้ำชาร้อนนมข้น รสชามาตรฐานดี 
 
ไม่รู้ว่าความหวานในอาหารใต้เมืองนครฯ คืบคลานจากเหนือลงมาใต้ หรือจากใต้ขึ้นมาเหนือ แต่มันคงค่อยๆ ทำให้อาหารใต้เปลี่ยนไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถึงวันนั้น ผมคงต้องคอยบอกร้านอาหารใต้เหมือนเวลาซื้อกาแฟในกรุงเทพฯ กินว่า "อย่าหวานนะ" 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดิมทีนักมานุษยวิทยาไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเอง แต่อาศัยข้อมูลจากนักชาติพันธุ์นิพนธ์ ที่ส่งข้อมูลจากสังคมห่างไกลทุกมุมโลก มาให้นักมานุษยวิทยา ณ ศูนย์กลางอำนาจของโลกวิเคราะห์ สร้างทฤษฎี