Skip to main content

แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 

ผมได้กลับมาโตเกียวอีกครั้งเมื่อสองวันก่อน (9 มีนาคม 2556) เพื่อมาเสนอผลงานวิชาการเกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นหัวข้อที่ผมใช้หากินในเวทีวิชาการนานาชาติมากว่าเรื่องประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ผมไปอยู่ในอีกซีกโลกทางวิชาการ แต่เอาเถอะ พักเรื่องวิชาการไปหน่อย แล้วไปหาอะไรดื่มกินกันอีกสักข้อเขียนหนึ่ง

 

เมื่อวาน หลังจากตรากตรำทำงานหามรุ่งหามค่ำมาสองคืนก่อนหน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็ตรากตรำทำงานหามรุ่งหามค่ำกับงานอื่นๆๆๆ เมื่อตัดใจได้ว่าควรจะส่งงานได้แล้ว ก็จึงส่งไปในรูปแบบที่ตนเอง “พอรับได้” 

 

ส่งงานแล้วจะให้ทำอะไร ถ้าไม่ใช่หาราเมนสไตล์เกียวโตอร่อยๆ กิน ซึ่งน่าจะได้มาจากกลิ่นน้ำแกงใสแต่เข้มข้นด้วยปลาแห้งชิ้นหนาที่ซอยจนบางราวกระดาษ ซึ่งมักประดับโรยหน้าโอโคนามิยากิ (แปลว่า ผักจับฉ่ายนาบกะทะ) แต่ไม่ปรากฏเนื้อตัวปลาในน้ำซุปราเมนช้ั้นดี ถ้าไม่ใช่ออกไปเดินรับลมหนาวเคล้าสายฝนยามต้นฤดูใบไม้ผลิ (อุณหภูมิ 13 เซลเซียส) ถ้าไม่ใช่ไปเดินดูผู้คนที่พูดจาภาษาถิ่น ถ้าไม่ใช่หาอะไรดื่มเบาๆ เคล้าความหนาวเย็นที่ไม่ถึงระดับเย็นยะเยือก (ใครที่เรียนหนังสือกับผม อย่าเขียนประโยคยาวๆ แบบนี้ส่งงานผมมาเด็ดขาดนะครับ เอาไว้เรียนจบแล้วค่อยเขียนประโยคยาวๆ)

 

สุดท้าย เมื่ออ่ิมท้องแล้ว ยามบ่ายวานนี้ ก็เดินไปหลบฝนไปหาที่คลายหนาวไปจนสิ้นสุดที่ร้านขายสุราแห่งหนึ่ง ไม่ได้ซื้อ "สุรา" ในความหมายเฉพาะเจาะจง แต่หาซื้อไวน์ เพราะรู้จากการมาเยือนคราวก่อนๆ แล้วว่า ไวน์ราคา "ปกติ" ของญี่ปุ่น ที่ถูกสุดราคา 100 บาทไทย (มีจริงๆ) ไปจนถึงแค่ 2,000 เยน (ราว 600 บาท) ซึ่งแค่นี้ทางร้านก็ตื่นเต้นล็อคตู้ไม่ให้หยิบชมเล่นแล้ว แต่ที่ราคาสูงลิ่วจริงคือขวดละ 20,000 เยน (ราว 6,000 บาท) ที่แช่ตู้เย็นลงกลอนไว้แล้วห่อด้วยพลาสติกแร็บ (ไม่รู้ทำไม)

 

ตรรกะของไวน์ในร้านไวน์-เหล้าที่เกียวโตก็น่าสนใจ ของถูก (100, 150 ถึง 300 บาท) ใส่กะบะบ้าง วางตรงระดับเพียงตาบ้าง วางอยู่กลางร้านบ้าง แต่ของราคาแพงกลับวางอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา หรือไม่ก็เข้าถึงยากด้วยการลงกลอน แต่ถ้าในอเมริกา เขาจะไม่ได้วางอย่างนี้ ของถูกวางต่ำกว่าระดับสายตา ของแพงปานกลางวางระดับสายตาไปจนถึงของราคาสูงวางระดับเหนือสายตา

 

ไม่ต้องคิดอะไรมาก อากาศหนาวแถมฝนพรำยามบ่าย แถมเพิ่งปั่นงานที่นั่งเขียนตั้งแต่บนเครื่องบินเสร็จส่งไป จะให้ทำอะไรได้มากกว่านี้ สู้ซื้อไวน์ราคา 300 บาทไทย (ซึ่งไวน์ระดับนี้ หากซื้อหาในเมืองไทยก็ต้องราวๆ 600-800 บาทไทย) กลับมานั่งชิลที่โรงแรมไม่ดีกว่าหรือ ว่าแล้วก็ถอยมา 2 ขวด (ถึงขณะที่เขียนนี้ผ่านไป 2 ชั่วโมง แก้หนาวกับไวน์แดงจากสเปนหมดไปแล้วครึ่งขวด) 

 

ส่วนหนึ่งของความยุ่งยากในเกียวโตคือ การหลีกเลี่ยงที่จะเสียเงินไปกับไวน์ราคายุติธรรม

 

ตกเย็น เพื่อไม่ให้ตกเป็นทาสของไวน์ราคายุติธรรม ประกอบกับแดดเริ่มออกหลังฝนตกยามบ่ายจนต้องหาเหตุกลับมาจิบไวน์หลบฝนในโรงแรม ก็คิดได้ว่า ควรออกไปเดินแล้วหาอะไรอร่อยๆ ในเกียวโตกิน 

 

ไปเดินหาอาหารในตำนานส่วนตัว ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ น่าจะต่ำกว่า 10 เซลเซียส บวกลมแรงแล้ว อุณหภูมิคงต่ำลงไปอีกจนถึง 5 ถึง 3 เซลเซียส ที่จริงตั้งใจไปหาร้านราเมนในตำนานของใครหลายๆ คน ร้านนี้สืบทอดตำนานมาจากเพื่อนอาจารย์ญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่พาไปกินเมื่อสาม-สี่ปีก่อน คราวนี้ไปเกียวโตทีไร ก็จะต้องไปเดินหาร้านนี้ แล้วก็เจอทุกที จนจำได้ว่า ปากทางเข้าเป็นร้านไอครีมยี่ห้อดังเจ้าหนึ่ง 

 

แต่คราวนี้ได้ไปพักในย่านอีกย่านหนึ่ง ไม่คุ้นเคยมาก่อน เดินเรื่อยเปื่อยไปทางถนน Sanjo ข้ามแม่น้ำ Kamo ข้ามห้วยเล็กสายหนึ่ง เจอสามแยกแล้วเลี้ยวซ้าย เดินลงไปทางฝต้พักหนึ่ง แวะร้านขายเครื่องเขียนที่เคยมาหลายปีก่อน จากนั้นก็เดินหาร้านราเมนต่อ แต่หาไม่เจอ หิวแล้วและหนาวลงเรื่อยๆ

 

เลยหันทิศทางเดินกลับมาทางที่พัก เดินตามทางริมห้วยเล็กๆ ที่่มีร้านอาหารเรียงรายเต็มไปหมด แล้วทันใดนั้น ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ต้องเป็นย่านนี้แน่เลยที่เคยเจอร้านอาหารในตำนานส่วนตัว

 

มาหยุดอยู่ที่หน้าร้านแห่งหนึ่ง ป้ายร้านมีรูปปลาหมึกยักษ์สีแดง ยื่นหน้าเข้าไปดู คิดว่าต้องเป็นร้านนี้แน่ๆ ที่เคยหลงทางมากับเพื่อนคนหนึ่ง แล้วพบร้านนี้เข้า แต่หลายปีต่อมาพยายามหาทีไรก็ไม่เจอ แต่วันนี้มาเจออีกครั้งเข้าจนได้

 

ร้านนี้ไม่มีเมนูภาษาอังกฤษเลย คนกินมีแต่คนญี่ปุ่นหรือไม่ก็คนต่างชาติที่รู้จักร้านนี้ดี ร้านมีที่ปรุงอาหารอยู่กลางร้านเลย รายล้อมด้วยที่นั่งเป็นเคาท์เตอร์รอบๆ บริเวณที่ปรุงอาหาร ในร้านมีคนทำงานอยู่สองคน หญิงหนึ่งชายหนึ่ง น่าจะเป็นแม่-ลูกกัน พอบอกว่าเคยมาและมาหาร้านนี้ถึงสามปีแล้ว เขาดีใจมาก

 

อาหารที่เด็ดมากของร้านนี้ เรียกว่าใครเข้ามาก็ต้องกินคือ Tamako Yaki (ทีแรกไม่รู้ว่าเรียกอะไร เพื่อนอาจารย์ที่เคยอยู่เกียวโตบอกชื่อให้) แต่วันนี้เห็นคนขายทำเต้าหู้ชุปแป้งบางๆ ทอดแล้วเสิร์ฟในน้ำซ้อส เต้าหู้นุ่มมาก ไม่รู้เขาใช้มือหยิบมันคลุกแป้งแล้วใส่ได้อย่างไร เพราะมันนุ่มมาก เรียกว่าต้องใช้ตะเกียบประคองตักใส่ปาก

 

ส่วน Tamako Yaki นั้นต่างจาก Tako Yaki ทั่วไปตรงที่ อาหารจานนี้มีแต่ไข่ล้วนๆ แล้วบรรจงวางปลาหมึกลงไปในหลุมเท่าหลุมขนมครกที่เต็มไปด้วยไข่ เหมือนขนมครกไข่ไส้ปลาหมึก ได้ไข่นุ่มๆ กลมๆ เสิร์ฟเป็นแนวมาสองแถวสวยงามบนถาดสีแดง

 

ในที่สุดก็เจอร้านในตำนานส่วนตัว แต่วันหลังต้องดั้นด้นพิชิตร้านอาหารตามลายแทงส่วนตัวให้ครบ ก่อนจะดั้นด้นสร้างตำนานใหม่ๆ ให้ตัวเองต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้