Skip to main content

ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)

สมัยผม ในต้นทศวรรษ 2530 โรงอาหารเศรษฐฯ มธ. คือพื้นที่ทางปัญญานอกห้องเรียนที่สำคัญของชาวธรรมศาสตร์ ที่เรียกโรงอาหารเศรษฐฯ เพราะสมัยนั้นโรงอาหารอื่นไม่ได้มีแต่ที่คณะสังคมฯ แต่ยังมีร้านอาหารเล็กๆ คณะนิติฯ คณะบัญชีฯ และข้างโรงยิมฯ ร้านเล็กๆ พวกนี้อาหารอร่อย แต่มักแน่นขนัด ต้องเตรียมตัวจัดเวลาดีๆ ไม่งั้นไม่ได้กิน ครั้นจะไปกินที่ร้านแถวท่าพระจันทร์ สำหรับผมก็ว่าแพงไป มีหลายครั้งที่ผมยินดีเดินไปกินที่ศิลปากร เพราะอาหารถูกปาก บรรยากาศถูกใจ แถมราคาถูกกว่า แต่หากจะนั่งคุย ยังไงก็ต้องนั่งที่โรงอาหารเศรษฐฯ
 
ความจริงพื้นที่ทางปัญญาสมัยก่อนมีมาก เช่น ตามห้องจัดสัมมนางาน เสวนาวิชาการต่างๆ ที่จัดกันเป็นประจำ เรียกว่าสัปดาห์หนึ่งต้องมีที่น่าเข้าฟังสำหรับผมอย่างน้อย 2-3 รายการ ถ้าไม่มี บางทีเราก็จัดให้มีเสียเองบ้าง นอกจากนั้นพรรคพวกผมก็จะเจอกันที่ห้องทำงานกน. (กรรมการนักศึกษา) อมธ. ตึกกิจฯ สภาฯ ที่มักเป็นที่สิงสถิตของบรรดานักถกเถียง ไปจนถึงพวกมาหลบนอนเวลาโดดเรียน หรือมานั่งเท่ไปวันๆ แล้วคิดหาปรัชญาชีวิตมาอธิบายว่า ทำไมกูจึงไม่เข้าห้องเรียน ไม่เขียนหนังสือ ไม่ผลิตอะไรเลยนอกจากพ่นๆๆ ตัวหนังสือที่เพียรอ่านเป็นปีๆ 
 
ผมเรียนรังสิตรุ่นแรก เรียนได้ปีเดียวก็กลับมาเรียนท่าพระจันทร์ ทีแรกที่รู้ว่าปีแรกต้องไปเรียนรังสิต ผมเกือบจะสละสิทธิ์ไปแล้ว เพราะอยากเรียนที่ท่าพระจันทร์มากกว่า ระหว่างปีหนึ่ง ผมจึงมาท่าพระจันทร์บ่อยมาก เพราะห้องสมุดท่าพระจันทร์ดีกว่า มีขุมความรู้มากกว่า มีความเป็นห้องสมุดมากกว่าห้องสมุดมธ.รังสิต (ทั้งสมัยนั้นและสมัยนี้) ผมจึงไม่ค่อยรู้ว่า สมัยนั้นเพื่อนๆ เขานั่งถกนั่งคุยกันที่ไหนที่รังสิต
 
ที่จริง จากการตระเวนสำรวจห้องสมุดไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยไหนๆ ผมกล้าบอกว่าสมัยที่ผมเข้าเรียนปริญญาตรีปี 2529 จนจบโท ห้องสมุดกลางธรรมศาสตร์ รวมกับห้องสมุดต่างๆ ในแทบทุกคณะ มีหนังสือทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ดีกว่าห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่ผมไป ทั้งศิลปากร จุฬา มศว.ประสานมิตร เกษตร รามฯ ยกเว้นห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางอย่างศิลปะ หรือวิศวกรรม
 
สมัยนั้นจะมีอะไรที่ใกล้เคียงกำแพงสมุดพักตร์หน่อยก็เห็นจะเป็น "กำแพงข่าว" จะว่าไปกำแพงข่าวน่าจะเทียบได้กับเว็บบล็อกในปัจจุบันมากกว่า
 
กำแพงข่าวเป็นมนต์ขลังของท่าพระจันทร์สมัยผม ผมชอบมามหาวิทยาลัยแต่เช้า เพราะรถเมล์ว่าง และรถไม่ติดมาก มักมาถึงมหา'ลัยราวๆ 7 โมงกว่า ก่อนใครต่อใครมา แล้วมาเดินอ่านกำแพงข่าว กำแพงข่าวเขียนโดยพวกรุ่นพี่ๆ นักกิจกรรม เป็นบทวิเคราะห์การเมืองมันๆ เท่ๆ กำแพงข่าวจะไล่มาตั้งแต่หน้าคณะศิลปศาสตร์ มาจนถึงกำแพงตึกเอที ที่ขณะนี้ทุบไปแล้ว กลายเป็นส่วนหนึ่งของห้องสมุดเศรษฐฯ กับห้องสมุดกลาง บางทีคณะเศรษฐฯ ที่ผมเรียนก็มีกำแพงข่าวของตนเองบ้างเหมือนกัน คนอ่านไม่ได้มีเฉพาะนักศึกษา คนทั่วไปจะเข้ามายืนอ่านกำแพงข่าวกันเป็นเรื่องเป็นราว
 
ปีแรกๆ ก็คิดว่าสักวันจะต้องเขียนกำแพงข่าวกับเขาบ้างให้ได้ พอปีสามปีสี่ ผมเริ่มเขียนกำแพงข่าวบ้างเหมือนกัน ที่จริงผมช่วยงานกน.เศษรฐฯ เขียนคัทเอาท์ (ป้ายโฆษณา) ที่บางทีก็แอบวาดรูปลงคัทเอาท์ประกอบบทความหรือบทกวีสั้นๆ อยู่เหมือนกัน พอได้รับความไว้วางใจจากพี่ๆ เพื่อนๆ ให้เขียนอะไรยาวๆ ก็ขยับปากกาเขียนกับเขาบ้าง จำไม่ได้แล้วว่าเขียนอะไรมั่วๆ ลงไปบ้าง
 
นอกจากพื้นที่พวกนั้น ก็มีโรงอาหารเศรษฐฯ นี่แหละที่พวกเราจากหลายคณะ หลายชั้นปีมานั่งแกร่ว นั่งถกเถียงกัน นั่งคุยเล่น นั่งแลกเปลี่ยนความเห็นเคล้ากาแฟกัน บางทีได้รับเกียรติจากศิลปินบ้าง นักเขียนบ้างจากศิลปากร มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ เพื่อนบางคนมาจากจุฬา บ้าง จากรามฯ บ้าง ข้ามเมืองจากแดนแสนไกลมาสนทนากัน
 
เพื่อนหลายคนในขณะนั้นเวลานี้กลายเป็นบรรณาธิการหนังสือ เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ เป็นนักเขียน เพื่อนอีกหลายคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หลายคนเกลียดขี้หน้ากันเมื่อการเมืองแบ่งสี หลายคนยังรักใคร่เป็นทั้งมิตรสหายและเพื่อนร่วมวิชาชีพ หลายคนที่เคยถกเถียงกันเคร่งเครียดจนแทบเกลียดชัง กลับกลายมาเป็นมิตรทางปัญญาที่ดีในภายหลัง แต่เพื่อนหลายคนก็ไปขายของ ไปเป็นเถ้าแก่ ไปเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็ยังคบหากัน ยังแลกเปลี่ยนความเห็นกันจนทุกวันนี้
 
สมัยเมื่อธุรกิจการพิมพ์เฟื่องฟู (ก่อนหน้านั้นคงไม่เฟื่องฟูเท่าทศวรรษ 2530 สมัยนั้น นักวิชาการชื่อดังบางคน ซึ่งผมดีใจที่ท่านเหล่านั้นยังดังอยู่จนทุกวันนี้ ยังมีคุณภาพและยังเขียนสม่ำเสมอจนทุกวันนี้ มีผลงานเขียนตีพิมพ์เดือนหนึ่งลือกันว่านับสิบชิ้น หรือมากกว่านั้น) พรรคพวกเพื่อนผมขยับขึ้นไปเขียนกันบ้าง ผมเองเริ่มเขียนในช่วงหลังเรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ในปลายทศวรรษ 2530
 
หลังจากนั้นไม่นาน โรงอาหารเศรษฐฯ ก็ปิดลง เพื่อสร้างตึกใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ระหว่างนั้น พรรคพวกผมเริ่มเรียนจบบ้าง ไม่จบบ้าง ชีวิตหันเหไปทางอื่น ไม่ได้ต่อสายกับเพื่อนๆ น้องๆ รุ่นต่อๆ มาเท่าไรนัก กระทั่งเมื่อเข้าทำงานสอนในมหา'ลัยปี 2539 ผมก็เริ่มห่างไปจากภูมิทัศน์เดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วชีวิตทางปัญญาก็เปลี่ยนไปในอีก 2 ปีให้หลังเมื่อได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอก
 
ปล.
แฮ่ม! เห็นผมเขียนบล็อกออกมาหลายชิ้นติดๆ กันนี่ คนที่รองานเขียนผมอยู่คงบ่นแล้วว่า "ทำไมเอ็งไม่เอาเวลาไปเขียนงานวิชาการ นั่งเขียนบล็อกอยู่ได้" 
 
ผมอยากตอบว่า "ขอโทษครับ วันๆ ผมคิดโน่นคิดนี่มากมาย ทำงานขีดเขียนอะไรมากมาย ไม่ได้เอาเวลาที่เหลือเวลาไปนั่งดูทีวี ดูกีฬา ไม่ต้องเล่นกับลูก ไม่ได้ต้องเอาใจใครทุกบ่อยๆ ขอพักผ่อนกับการเขียนอะไรเรื่อยเปื่อยบ้างเถอะครับ"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย