Skip to main content

ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ

ผมมักจำสลับกันระหว่างหนังสือ "แด่หนุ่มสาว" ของกฤษณมูรติ แปลโดยพจนา จันทรสันติ กับหนังสือ "แด่นักศึกษา" ของคานธี แปลโดยกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ที่อ่านสมัยเรียนปริญญาตรีปีหนึ่ง ผมว่าผมอ่านทั้งสองเล่มนั่นแหละ และความคิดหลายๆ อย่างในหนังสือสองเล่มนั้นคงมีอิทธิพลต่อผมไม่น้อยทีเดียว (แล้วอย่างนี้ใครยังจะมาว่าผมบ้านักคิดฝรั่งได้ยังไง ยังเขียนเรื่อง "บ่นบนหอคอยงาช้าง" ไม่จบ เอาไว้ค่อยว่ากันทีหลัง)
 
ผมไม่เคยคิดว่า "นักศึกษา" เป็น "ลูกศิษย์" เลย แม้แต่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนกัน ศิษย์ไม่ได้เป็นแค่ศิษย์ แต่ยังเป็นครูของครูด้วยเสมอ

ยิ่งกว่านั้น ผมไม่ชอบคำว่า "ลูก" ที่มาต่อหน้าคำว่า "ศิษย์" จินตกรรม "พ่อ-แม่-ลูก" ไม่ควรก้าวก่ายอธิบายความสัมพันธ์ไปเสียทุกๆ อย่าง รัฐไทยชอบเอาจินตกรรมนี้ครอบไปเสียทุกเรื่อง จนแยกไม่ออกกันแล้วว่า ใครพ่อแม่จริง ใครพ่อแม่สมมุติกันแน่ ผมคิดกับพวกเขาเสมอเหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่เกิดมาร่วมชะตาความไร้สาระเบาหวิววววของการมีชีวิต แต่ผมก็เลือกที่จะไม่ละโลกเบาหวิวนี้ไปหรอก สนุกจะตายที่จะทุกข์สุขไปวันๆ

ผมชอบอุปลักษณ์ "เรือจ้าง" มากกว่า ยิ่งทุกวันนี้ระบบประกันคุณภาพ ระบบของการทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า ยิ่งรู้สึกได้มากขึ้นถึงการเป็นเรือจ้าง เป็นลูกจ้างของนักศึกษา เมื่อส่งนายจ้างถึงฝั่งแล้ว ก็แล้วกัน คนเรือจ้างก็จะยังคอยรับจ้างพายเรือข้ามฟากอยู่อย่างนี้ไปทุกเมื่อเชื่อวัน ขณะที่นายจ้างเรือข้ามฟาก ผ่านมาแล้วก็จากไป
 
เมื่อพวกคุณขึ้นฝั่งแล้ว ช่วยถีบหัวเรือแรงๆ ก็แล้วกัน คนแจวเรือจ้างจะได้ไม่มีภาระคัดท้ายเรือออกจากฝั่งให้ยากเย็นนั

เรือข้ามฟากเป็นพื้นที่ของการโคจรอย่างไม่รู้จบ น้อยคนนักที่จะข้ามเรือแล้วกลายมาเป็นคนแจวเรือข้ามฟากอย่างผมที่ถูกสาปให้กลับมาเป็นคนแจวเรือ ทั้งๆ ที่ถึงฝั่งไปแล้ว 

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะศิษย์-ครูย่อมเป็นกันชั่วครู่ชั่วคราว ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นครู เป็นอาจารย์ใครกันไปตลอดชีวิต เมื่อจบแล้ว ศิษย์ก็อาจกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน อาจกลายมาเป็นเพื่อนสนทนา กลายเป็นเพื่อนร่ำสุรา หรือศิษย์ก็อาจเป็นคนที่เกลียดขี้หน้าครู ชิงชังครู เป็นศัตรูกับครู ที่จริงครูผมที่ภายหลังตั้งตนเป็นศัตรูกับผมก็ยังมีเลย และถึงที่สุดแล้ว ศิษย์เป็นเพื่อนร่วมโลกกับครู

วัยอันสดใส-ร่าเริง-มุทะลุ-บ้าบิ่น-คึกคะนอง-ปราดเปรื่อง-ฝันเฟื่อง-ใช้ชีวิตเปลือง ฯลฯ ของหนุ่มสาวมักหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อพวกเขา "จบการศึกษา" หนุ่มสาวจำนวนมากเข้าสู่วัยทำงาน ตั้งหน้าตั้งตาหาเมียหาผัวสร้างครอบครัว แต่งงาน มีลูก ปลูกบ้าน เป็นหนี้ ดูแลพ่อแม่ชรา แล้วชีวิตก็จบลงด้วยการเข้าวัดฟังธรรมเลี้ยงหลาน

หลายคนที่เคยบ้าบิ่น ตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้า พอพ้นวัยเรียน ก็อธิบายตนเองว่า "เฮ่ย! โตแล้ว แก่แล้ว เริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น ออกจากโลกของความฝันแล้ว" แต่ส่วนมากไม่ทันได้สงสัยว่าชีวิตคืออะไร ก็ "ท้องป่อง" (ทั้งชายและหญิงนั่นแหละ) เข้าสู่วัฏสงสาร ทำงานใช้หนี้ให้กับสิ่งจำเป็นในชีวิตจนหัวบานแล้ว

แต่จะว่าไป มนุษย์ที่มีชีวิตรูทีนเหล่านี้แหละที่หล่อเลี้ยงสังคม หล่อเลี้ยงคนช่างฝัน หล่อเลี้ยงสังคมอีกซีกหนึ่งที่ไม่อยากโต ที่ไม่อยาก "เรียนจบ" ไม่อยากหยุดเพ้อพกฝันเฟื่อง 

เพียงแต่ว่า ผมก็ยังอยากเห็นเพื่อนร่วมศึกษา ที่เคยแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันมาในห้องเรียน ที่กำลังจะถีบหัวเรือจ้างในเร็ววันนี้ จะยังไม่หยุดฝันเฟื่อง จะยังไม่ปฏิเสธความคิดฝันเพียงด้วยพันธะของคำอธิบายว่า "เราโตแล้ว เราจบแล้ว เราเข้าสู่ชีวิตจริงแล้ว" 

ผมยังอยากเห็นพวกเขาจะยังค้นหาความหมายของชีวิต จะยังหยุดคิดสักเพียงบางนาทีในแต่ละวัน เพื่อใคร่ครวญสงสัยว่าเราทำอะไรอยู่ เราเลือกทางเดินชีวิตแบบนี้เองจริงหรือ เราเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการแล้วหรือยัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา