Skip to main content

ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ

ผมมักจำสลับกันระหว่างหนังสือ "แด่หนุ่มสาว" ของกฤษณมูรติ แปลโดยพจนา จันทรสันติ กับหนังสือ "แด่นักศึกษา" ของคานธี แปลโดยกรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย ที่อ่านสมัยเรียนปริญญาตรีปีหนึ่ง ผมว่าผมอ่านทั้งสองเล่มนั่นแหละ และความคิดหลายๆ อย่างในหนังสือสองเล่มนั้นคงมีอิทธิพลต่อผมไม่น้อยทีเดียว (แล้วอย่างนี้ใครยังจะมาว่าผมบ้านักคิดฝรั่งได้ยังไง ยังเขียนเรื่อง "บ่นบนหอคอยงาช้าง" ไม่จบ เอาไว้ค่อยว่ากันทีหลัง)
 
ผมไม่เคยคิดว่า "นักศึกษา" เป็น "ลูกศิษย์" เลย แม้แต่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนกัน ศิษย์ไม่ได้เป็นแค่ศิษย์ แต่ยังเป็นครูของครูด้วยเสมอ

ยิ่งกว่านั้น ผมไม่ชอบคำว่า "ลูก" ที่มาต่อหน้าคำว่า "ศิษย์" จินตกรรม "พ่อ-แม่-ลูก" ไม่ควรก้าวก่ายอธิบายความสัมพันธ์ไปเสียทุกๆ อย่าง รัฐไทยชอบเอาจินตกรรมนี้ครอบไปเสียทุกเรื่อง จนแยกไม่ออกกันแล้วว่า ใครพ่อแม่จริง ใครพ่อแม่สมมุติกันแน่ ผมคิดกับพวกเขาเสมอเหมือนเป็นเพื่อนร่วมโลก ที่เกิดมาร่วมชะตาความไร้สาระเบาหวิววววของการมีชีวิต แต่ผมก็เลือกที่จะไม่ละโลกเบาหวิวนี้ไปหรอก สนุกจะตายที่จะทุกข์สุขไปวันๆ

ผมชอบอุปลักษณ์ "เรือจ้าง" มากกว่า ยิ่งทุกวันนี้ระบบประกันคุณภาพ ระบบของการทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้า ยิ่งรู้สึกได้มากขึ้นถึงการเป็นเรือจ้าง เป็นลูกจ้างของนักศึกษา เมื่อส่งนายจ้างถึงฝั่งแล้ว ก็แล้วกัน คนเรือจ้างก็จะยังคอยรับจ้างพายเรือข้ามฟากอยู่อย่างนี้ไปทุกเมื่อเชื่อวัน ขณะที่นายจ้างเรือข้ามฟาก ผ่านมาแล้วก็จากไป
 
เมื่อพวกคุณขึ้นฝั่งแล้ว ช่วยถีบหัวเรือแรงๆ ก็แล้วกัน คนแจวเรือจ้างจะได้ไม่มีภาระคัดท้ายเรือออกจากฝั่งให้ยากเย็นนั

เรือข้ามฟากเป็นพื้นที่ของการโคจรอย่างไม่รู้จบ น้อยคนนักที่จะข้ามเรือแล้วกลายมาเป็นคนแจวเรือข้ามฟากอย่างผมที่ถูกสาปให้กลับมาเป็นคนแจวเรือ ทั้งๆ ที่ถึงฝั่งไปแล้ว 

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะศิษย์-ครูย่อมเป็นกันชั่วครู่ชั่วคราว ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นครู เป็นอาจารย์ใครกันไปตลอดชีวิต เมื่อจบแล้ว ศิษย์ก็อาจกลายมาเป็นเพื่อนร่วมงาน อาจกลายมาเป็นเพื่อนสนทนา กลายเป็นเพื่อนร่ำสุรา หรือศิษย์ก็อาจเป็นคนที่เกลียดขี้หน้าครู ชิงชังครู เป็นศัตรูกับครู ที่จริงครูผมที่ภายหลังตั้งตนเป็นศัตรูกับผมก็ยังมีเลย และถึงที่สุดแล้ว ศิษย์เป็นเพื่อนร่วมโลกกับครู

วัยอันสดใส-ร่าเริง-มุทะลุ-บ้าบิ่น-คึกคะนอง-ปราดเปรื่อง-ฝันเฟื่อง-ใช้ชีวิตเปลือง ฯลฯ ของหนุ่มสาวมักหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อพวกเขา "จบการศึกษา" หนุ่มสาวจำนวนมากเข้าสู่วัยทำงาน ตั้งหน้าตั้งตาหาเมียหาผัวสร้างครอบครัว แต่งงาน มีลูก ปลูกบ้าน เป็นหนี้ ดูแลพ่อแม่ชรา แล้วชีวิตก็จบลงด้วยการเข้าวัดฟังธรรมเลี้ยงหลาน

หลายคนที่เคยบ้าบิ่น ตั้งคำถามกับทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้า พอพ้นวัยเรียน ก็อธิบายตนเองว่า "เฮ่ย! โตแล้ว แก่แล้ว เริ่มเข้าใจชีวิตมากขึ้น ออกจากโลกของความฝันแล้ว" แต่ส่วนมากไม่ทันได้สงสัยว่าชีวิตคืออะไร ก็ "ท้องป่อง" (ทั้งชายและหญิงนั่นแหละ) เข้าสู่วัฏสงสาร ทำงานใช้หนี้ให้กับสิ่งจำเป็นในชีวิตจนหัวบานแล้ว

แต่จะว่าไป มนุษย์ที่มีชีวิตรูทีนเหล่านี้แหละที่หล่อเลี้ยงสังคม หล่อเลี้ยงคนช่างฝัน หล่อเลี้ยงสังคมอีกซีกหนึ่งที่ไม่อยากโต ที่ไม่อยาก "เรียนจบ" ไม่อยากหยุดเพ้อพกฝันเฟื่อง 

เพียงแต่ว่า ผมก็ยังอยากเห็นเพื่อนร่วมศึกษา ที่เคยแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันมาในห้องเรียน ที่กำลังจะถีบหัวเรือจ้างในเร็ววันนี้ จะยังไม่หยุดฝันเฟื่อง จะยังไม่ปฏิเสธความคิดฝันเพียงด้วยพันธะของคำอธิบายว่า "เราโตแล้ว เราจบแล้ว เราเข้าสู่ชีวิตจริงแล้ว" 

ผมยังอยากเห็นพวกเขาจะยังค้นหาความหมายของชีวิต จะยังหยุดคิดสักเพียงบางนาทีในแต่ละวัน เพื่อใคร่ครวญสงสัยว่าเราทำอะไรอยู่ เราเลือกทางเดินชีวิตแบบนี้เองจริงหรือ เราเลือกสิ่งที่ตนเองต้องการแล้วหรือยัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก