Skip to main content

ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน

วิธีที่จะทำให้พวกเขาได้แสดงความเห็นคือ จัดเก้่าอี้นั่งเป็นครึ่งวงกลม แม้ว่าบางปีห้องเรียนจะใหญ่ขนาด 50-60 คน ผมก็ทำอย่างนี้ นอกจากนั้น ต้องให้พวกเขาเตรียมตัวมาก่อน ผมแบ่งกลุ่มย่อย กลุ่มละ 2-3 คน แล้วให้ทุกคนอ่านเอกสารก่อนเข้าเรียน แต่ละกลุ่มต้องเขียนบันทึกสรุปเอกสารที่อ่านแล้วเตรียมคำถามมา 4-5 คำถาม ใครไม่อ่าน ก็จะไม่ได้อะไรจากการเรียน พอสัมมนาไปสักพัก ผมจะบรรยายสรุปประเด็นปิดท้าย (ดูเอกสารประกอบการบรรยายบางส่วน)

 

นอกจากนั้น ผมให้ทุกคนทำงานเดี่ยว ทุกคนต้องอ่านหนังสือหรือวิทยานิพนธ์หนึ่งเล่ม แล้วเขียน “บทปริทัศน์หนังสือ” คนละ 5-7 หน้า อีกส่วนที่ต้องทำคือ มีโครงการวิจัยเล็กๆ ของแต่ละคน เป็นงานเดี่ยว พวกเขาจะต้องเลือกหัวข้อที่สนใจเอาเอง แล้วจัดสรรเวลาไปเก็บข้อมูล ในสัปดาห์ท้ายๆ ของการเรียน เราจะนำ "บันทึกภาคสนาม" มาแลกเปลี่ยนกัน ถกเถียงกัน คัดเลือกของบางคนที่น่าสนใจมานำเสนอหน้าชั้นเรียนกัน สุดท้าย ทุกคนจะต้องเขียน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” คนละ 10-12 หน้า

 

เมื่อวาน ผมเพิ่งอ่าน “บทประพันธ์เชิงชาติพันธ์ุนิพนธ์” ของนักศึกษาเสร็จ นักศึกษาวิชานี้ปีนี้มีทั้งสิ้น 65 คน คนละหนึ่งชิ้น ชิ้นละ 10-12 หน้า รวมแล้วราว 700 กว่าหน้าจบ ขอแชร์บันทึกสั้นๆ ที่ผมประมวลภาพรวมของผลงานทั้งหมดไว้ดังนี้

 

(1) เนื้อหาของงานมีความหลากหลายมาก ตั้งแต่เรื่องดาราเกาหลี อินสตาแกรม ศาสนา ความเชื่อ ไปจนถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ การเขียนนิยาย การแต่งรถ แรงงานอพยพ คนสูงวัย เทคโนโลยี คนพิการ การแต่งหน้า การศัลยกรรม กลุ่มชาติพันธ์ุ ฯลฯ

 

แต่โดยภาพรวมแล้วส่วนใหญ่สนใจสังคมใกล้ตัว คนใกล้ตัว หรือสนใจตนเอง ทำให้เห็นว่านักศึกษาสนใจทำความเข้าใจตนเอง มากกว่าทำความเข้าใจสังคมที่กว้างห่างไกลตนเอง หรือไม่อย่างนั้นก็สนใจสังคมรอบข้างที่ใกล้ตนเอง

 

(2) ส่วนประเด็นศึกษาหรือแนวคิดที่ใช้ในการวิเคราะห์ก็มีหลากหลาย ตั้งแต่เพศสถานะ ความเป็นหญิง-ชาย เรือนร่าง อัตลักษณ์ วัฒนธรรมการต่อต้าน วัฒนธรรมความจน ไปจนถึงมานุษยวิทยาทัศนา ความเป็นชายขอบ ความเป็นพื้นที่ เป็นต้น หรือที่ซื่อๆ ก็ยังเห็นมีคนใช้ทฤษฎีการแพร่กระจาย ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และทฤษฎีบทบาททางสังคมอยู่ 

 

บางคนเลือกพรรณนารายละเอียดของชีวิตคนโดยแทบจะไม่มีการตีความทับเลย และส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดมากเท่ากับสาระของวิถีชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ดีหากทำได้อย่างละเอียดละออและหากสามารถแสดงให้เห็นแง่มุมของชีวิตผู้คนได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ

 

(3) ในแง่การนำเสนอ โจทย์ที่ผมตั้งให้พวกเขาคือ "surprise me" คือจะทำอย่างไรก็ตามที่จะทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นกับงานเขียนของพวกเขา 

 

หลายคนจึงเลือกวิธีการเขียนที่ไม่ธรรมดา ไม่ได้อยู่ในขนบของการเขียน "งานวิชาการ" ทั่วไป เช่น บางคนเขียนเรื่องสั้น บางคนเขียนบทความวิชาการปนเรื่องสั้นปนภาพประกอบนามธรรมเกี่ยวกับเรื่องที่นำเสนอ บางคนเขียนการ์ตูนมาส่ง บางคนเขียนจดหมาย บางคนเขียนบทนำเป็นกลอนที่ไพเราะและได้เนื้อหาทางวิชาการดีมากด้วย 

 

แต่งานเขียนส่วนใหญ่ก็ยังเป็นการเขียนในขนบของงานวิชาการ บางคนเขียนเป็นวิทยาศาสตร์เสียจนบางทีก็น่าเบื่อไปบ้าง สุดท้ายผมพบว่า งานชิ้นไหนยิ่งชวนให้ใช้เวลาอ่านนานเท่าไหร่ จูงใจให้อ่านได้มากตัวอักษรเท่าไหร่ ยิ่งจะได้คะแนนดี

 

(4) แน่นอนว่างานเขียนของพวกเขาหลายคนยังมีปัญหา ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ การเขียนโดยไม่มีย่อหน้า หรือเรื่องราวทั้งหัวข้อใหญ่ๆ เนื้อหายาวๆ แต่กลับมีเพียงย่อหน้าเดียว ผมบอกเขาหลายครั้งแล้วว่า นั่นแสดงว่าคุณจัดระบบความคิด จัดลำดับการนำเสนอไม่ได้ หรือไม่ได้จัดโครงสร้างการนำเสนอก่อนหรือหลังการเขียน 

 

บางคนเหมือนพวกบ้าทฤษฎี หรือบางทีพวกเขาจะพยายามเอาใจนักทฤษฎีเสียจนล้นพ้น ทำให้เนื้อที่สำหรับการเสนอผลงานตนเองน้อยไป พวกเขานึกว่าอาจารย์จะอยากอ่านทฤษฎีที่พวกเขาเพียรลอกๆๆ มาอย่างนั้นหรือ ไม่ทราบเมื่อไหร่จะเข้าใจกันเสียที

 

ปัญหาการเขียนทั่วๆ ไปยังมีอีกมาก แต่ที่สำคัญอยากยกมาสรุปตรงนี้คือปัญหาการนำเสนอด้วยมุมมองจากเบื้องบน (omniscient point of view) คือสรุปความโดยไม่มี "ผู้มอง" ไม่มีผู้พูด กล่าวราวกับเป็นความจริงสูงสุด ทั้งๆ ที่สรุปมาจากเพียงการศึกษาคน 2-3 คน ไม่ปล่อยเสียงของผู้คนที่พวกเขาศึกษาเข้ามาในงานบ้างเลย บางคนคงเชื่อว่าการเขียนด้วยการบังตนเองและขจัดเสียงหลากหลายออกไปให้หมดคือวิธีที่ทำให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดความชัดเจน แต่จริงๆ แล้วนั่นคือวิธีลดทอนความจริงที่มีสีสัน ให้กลายเป็นเพียงข้อสรุปที่ตายด้าน

 

สรุปรวมแล้ว งานหลายชิ้นทำให้ผมทึ่งทั้งด้วยเนื้อหา วิธีการนำเสนอ และประเด็นที่พวกเขานำเสนอ งานหลายชิ้นทำให้ผมต้องสารภาพว่า เมื่อตอนที่อายุเท่าพวกเขา ผมยังไม่สามารถเขียนอะไรได้ขนาดนี้เลยด้วยซ้ำ งานหลายชิ้นให้ความบันเทิงมากกว่างานนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก งานส่วนใหญ่ให้ความหวังทางวิชาการมากกว่างานวิจัยและบทความวิชาการของนักวิชาการหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย แถมบางชิ้นยังให้ความรู้และน่าอ่านมากกว่างานเขียนของศาสตราจารย์บางคน

 

การอ่านงานของนักศึกษาชวนให้เกิดอารมณ์หลายๆ อย่าง งานบางชิ้นชวนให้โกรธ งานบางชิ้นชวนให้หน่าย ให้ง่วง ให้น้อยใจในวาสนาของตนเอง แต่งานหลายชิ้นก็ชวนให้ตื่นเต้น ชวนให้ปลื้มใจ ทำให้ยิ้มได้และอยากเอาไปอวดผู้คน

 

นักศึกษาหลายคนอาจเพิ่งเคยเขียนงานลักษณะนี้ หลายคนอาจจะยังมีโอกาสเขียนงานลักษณะนี้อีก แต่หลายคนอาจจะเขียนงานลักษณะนี้เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเรียนของพวกเขา 

 

หวังว่าพวกเขาจะนำเอา "การเขียนชีวิตผู้คน" ไปใช้ทำความเข้าใจชีวิตตนเองและคนอื่นที่พวกเขาจะพบเจอในภายหน้าได้บ้างตามสมควรแก่โอกาส และหากโชคดี สังคมอาจจะได้ต้อนรับงานเขียนจากนักเขียนหน้าใหม่อีกมากมายในอนาคตอันใกล้นี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย