Skip to main content

“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย

ก่อนรัฐประหาร 2549 ผมร่วมขบวนวิจารณ์ทักษิณ ชินวัตรโดยเฉพาะหลังจากที่กองกำลังทหารในสมัยรัฐบาลทักษิณสังหารหมู่ประชาชนที่กรือเซะและตากใบปี 47 แต่ผมก็ไม่เคยชื่นชมขบวนการพันธมิตรฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพันธมิตรฯ ดึงสถาบันกษัตริย์มาสนับสนุนและเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 จนกระทั่งเมื่อเกิดรัฐประหาร ผมเขียนวิจารณ์คณะรัฐประหารและองค์กรต่างๆ ที่เป็นดอกผลของคณะรัฐประหาร ผมเป็นส่วนหนึ่งของคนที่ถูกเรียกว่า "นักวิชาการสองไม่เอา" "ไม่มีกระดูกสันหลัง"

 

ขณะนั้นขบวนการเสื้อแดงที่ยังไม่ได้ใช้สัญลักษณ์เสื้อแดงเริ่มก่อตัวขึ้น แล้วแกนนำส่วนหนึ่งที่สังกัดพรรคพลังประชาชนได้เข้าร่วมในภายหลัง พอปี 2550 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง พันธมิตรฯ เร่ิมก่อตัวขึ้นอีกครั้ง 

 

ปี 2551 เนื่องจากเริ่มเห็นทิศทางของการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมกับเพื่อนนักวิชาการจำนวนหนึ่งจึงร่วมกันตั้ง "เครือข่ายสันติประชาธรรม" เพื่อเรียกร้องให้การเคลื่อนไหวของรัฐบาลสมัคร นปช. และพันธมิตรฯ เป็นไปอย่างสันติ แต่หลังจากสมัคร สุนทรเวชถูกปลดแล้วสมชาย วงศ์สวัสดิ์เป็นนายกฯ พันธมิตรฯ ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จนถูกสลายการชุมนุมอันเป็นที่มาของ "งานศพน้องโบว์" แล้วพันธมิตรฯ ก็ปิดสนามบิน

 

จนกระทั่งพรรคพลังประชาชนถูกยุบในปลายปี 2551 แล้วเกิดการเปลี่ยนรัฐบาล ระหว่างนั้นขบวนการเสื้อแดงเติบโตขึ้นชัดเจนในปี 2552 จนมีการชุมนุมครั้งใหญ่หน้าทำเนียบของนปช. และการสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเมื่อสงกรานต์ 2552 

 

นับตั้งแต่ขบวนการเสื้อแดงเป็นตัวเป็นตนขึ้น ผมไม่ได้ถูกเรียกว่า "นักวิชาการเสื้อแดง" ในทันทีที่ขบวนการนี้เติบโตขึ้น ความจริงผมเคยถูกเรียกจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า "กลุ่มคนกลางๆ" เมื่อร่วมกับเพื่อนนักวิชาการและประชาชนจำนวนหนึ่งเรียกร้องในรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาเมื่อปี 2553 ก่อนการสังหารประชาชนกลางถนนเมื่อ 10 เมษายน 2553 และ กลางพฤษภาคม 2553 หลังจากนั้น กิจกรรมที่ผมทำระหว่างปี 2553 ถึงปัจจุบันที่ทำให้ผมยิ่งกลายเป็น “นักวิชาการเสื้อแดง” คงจะมาจากการร่วมทำงานกับศปช. การวิจัยการก่อตัวของคนเสื้อแดง และการร่วมงานกับครก. 112

 

หลังการสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภา 2553 นักกิจกรรมทางสังคมกลุ่มหนึ่งมาขอให้ผมกับเพื่อนนักวิชาการร่วมก่อตั้ง "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) เพื่อนๆ นักกิจกรรมคือกำลังหลักของศูนย์ข้อมูลนี้ในการหาข้อมูลและลงพื้นที่พบปะผู้ประสบเหตุ ส่วนผมกับเพื่อนนักวิชาการเป็นกำลังหนุนช่วยเขียนงาน ช่วยจับประเด็น และนำเสนอสู่สาธารณะ เราทำงานกันแบบอาสาสมัคร ใช้เวลานอกเวลางาน โดยที่ไม่มีใครได้รับผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

 

ขณะนั้นศปช.ทำงานเป็นองค์กรประชาชนที่ตรวจสอบและเพิ่มเติมข้อมูลด้านที่คอป. ซึ่งตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ อาจไม่สามารถเข้าถึงได้หรือไม่ต้องการเข้าถึง ย่ิงกว่านั้น ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเองก็ไม่เชื่อถือคอป.จึงต้องการให้ข้อมูลกับศปช.มากกว่า ในที่สุดศปช.ก็เสนอรายงานออกมาหนานับพันหน้า เมื่อเวลาผ่านมาร่วม 3 ปี กลุ่มคนที่ทำงานศปช.ตระหนักชัดขึ้นว่า หากศปช.ไม่ลงแรงทำงานนี้ ข้อมูล ปากคำ เรื่องราวของผู้ประสบภัยจากการสลายการชุมนุมก็จะสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย

 

จากนั้นผมและนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรมส่วนหนึ่งต้องการเสนอความเข้าใจสังคมไทยในภาพใหม่ เนื่องจากงานวิชาการในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลหรือกรอบควาคิดทฤษฎี ไม่สามารถใช้ทำความเข้าใจการลุกฮือของคนเสื้อแดงได้ ผมเห็นว่า การอธิบายว่าพวกเสื้อแดง "เป็นควาย หัวรุนแรง แต่โง่ ถูกหลอก ถูกซื้อมาโดยทักษิณ" ไม่สามารถใช้อธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยขนานใหญ่นี้ได้ จึงเกิดโครงการวิจัยขึ้นมาโครงการหนึ่ง ขณะนี้กำลังจะปิดโครงการแล้ว

 

ล่าสุด เริ่มเมื่อปลายปี 2554 คณะนิติราษฎร์ได้ชักชวนเพื่อนนักเขียนและนักวิชาการที่ทำงานศปช. และกลุ่มสันติประชาธรรม ร่วมตั้งคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) ผมเป็นผู้หนึ่งที่ถูกวางตัวให้เป็นผู้แถลงข่าว ออกสื่อ ชี้แจงเหตุผลทางสังคมและวัฒนธรรมในที่สาธารณะ ว่าทำไมจึงต้องแก้ม.112 ระหว่างนั้น ฝ่ายต่อต้านการแก้ ม. 112 เรียกผมว่า "นักวิชาการล้มเจ้า" บางคนเรียกผมว่า "พวกนิติราษฎร์" ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เป็นนักนิติศาสตร์สักหน่อย

 

ครก.112 ดำเนินตามขอบเขตของกฎหมาย ระดมรายชื่อพร้อมการลงนามประกอบสำเนาทะเบียนบ้านผู้สนับสนุนขอแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ที่เรียกร้องให้เแก้ไขเพราะเห็นว่าม.112 ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และม.112 ถูกใช้ทางการเมือง มีผลทำให้สถาบันฯ เสื่อมลงเนื่องจากถูกดึงลงมาเกลือกกลั้วกับการเมืองได้โดยง่าย ผลสุดท้าย ครก.112 ได้รายชื่อและหลักฐานที่ตรวจสอบว่าถูกต้องครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด ยื่นต่อรัฐสภา แต่ในที่สุดก็ถูกประธานสภาฯ ปัดตก หาว่าไม่เข้าข่ายหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

กระบวนการกลายเป็น "นักวิชาการเสื้อแดง" จึงใช้เวลานานพอสมควร ผมดูแดงขึ้นเรื่อยๆ ดูเลวขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย และส่วนหนึ่งทำให้คนใกล้ชิดผมถูกมองว่าเป็นแดงไปด้วย ถูกตั้งข้อรังเกียจไปด้วย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และยังไม่เดือดร้อนเท่ากับประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแดง แล้วต้องติดคุกฟรี ต้องล้มตายฟรี ต้องถูกจำกัดเสรีภาพ

 

ที่เลวร้ายไม่น้อยกว่ากันคือการที่ผู้คนที่เรียกตนเองว่าปัญญาชน ผู้มีการศึกษาในสังคมไทย รวมทั้งเพื่อนนักวิชาการจำนวนมากไม่อยากคบหากับผม ไม่อยากร่วมทำงานด้วย ไม่อยากมองหน้า ไม่ไว้ใจ อันเนื่องมาจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของของผมข้างต้น 

 

บางคนเห็นว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความขัดแย้งในสังคมไทย แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่คิดบ้างหรอกหรือว่า การนั่งดูอยู่เฉยๆ มันจะช่วยให้อะไรดีขึ้นมาได้อย่างไร บางคนบอกว่า “สังคมไทยขณะนี้ซับซ้อน ชาวบ้านไม่เข้าใจหรอกว่ามันซับซ้อนขนาดไหน เขาจึงตกเป็นเหยื่อ” อ้าว! เห็นพวกคุณเคยบอกว่าชาวบ้านมีภูมิปัญญา ชาวบ้านฉลาด แต่เดี๋ยวนี้ทำไมคุณมาคิดว่าชาวบ้านโง่เสียแล้วล่ะ บางคนบอกว่า “ชาวบ้านเดี๋ยวนี้ไม่ซื่อๆ เหมือนเดิมอีกแล้ว” อ้าว! พอเขาแกร่งกล้าขึ้น พวกคุณกลับไม่ไว้ใจพวกเขาอย่างนั้นหรือ 

 

บางคนบอกว่า “การไปสนับสนุนแสดงออกอะไรช่วงนี้น่ะไม่ดีหรอก เดี๋ยวจะเข้าทางฝ่ายทุนสามานย์” อ้าว! แล้วการนั่งอยู่เฉยๆ ดูคนตาย คนถูกขัง คนถูกใส่ร้าย มันจะช่วยต้านทุนสามานย์ได้ดีกว่าตรงไหน บางคนบอกว่า "เมื่อ "เวลานั้น" มาถึง มันก็จะเปลี่ยนไปเองนั่นแหละ จะต้องมาเร่งปฏิกิริยาตอนนี้ทำไม" อ้าว! ตกลงพวกคุณก็เห็นด้วยกับผม แต่เป็นอีแอบ รอเวลาฉวยเค้กก้อนโตเมื่อโอกาสมาถึงอย่างนั้นหรือ 

 

บางคนบอก “ต้องมองข้ามความขัดแย้งนี้ ด้วยการมองไปยังปัญหาที่ใหญ่กว่า" มองภัยของสังคมความเสี่ยงในระดับโลกบ้างล่ะ ภัยของนีโอลิเบอรัลลิซึ่มบ้างล่ะ ภัยทุนสามานย์บ้างล่ะ ขอโทษ แล้วทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่รอดพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้ด้วยวิธี “พิเศษ” ที่มีกฎหมาย ม.112 ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพคุ้มครองอยู่น่ะ มันไม่เป็นภัยต่อสังคมไทยตรงไหน ไม่เป็นความเสี่ยงที่ตรงไหน ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยม.112 การสลายการชุมนุมปี 52, 53 ไม่เกี่ยวกับนีโอลิเบอรัลลิซึ่มตรงไหน ไม่หรูหราทางทฤษฎีเพียงพอให้เข้าใจสังคมไทยมากขึ้นอย่างไร เว้นเสียแต่ว่าพวกคุณจะเฉยชาต่อการฉ้อฉลอย่างรุนแรงของสังคมไทยปัจจุบัน หรือไม่ก็จงใจหลบเลี่ยงด้วยความขลาดหากจะไม่ถึงกับเขลา

 

แล้วคนที่ตายอยู่ตามท้องถนนเมื่อเมษา - พฤษภา 53 กับนักโทษ 112 และนักโทษการเมืองอีกมากมายน่ะ เป็นคนน้อยกว่าคนที่พวกคุณเคยปกป้องต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขาเมื่อ 7 ตุลา 51, พฤษภา 35, ตุลา 19, ตุลา 16 หรือกรณีกรือเซะ-ตากใบปี 47 หรืออย่างไร หรือเพราะคนเสื้อแดงและไม่แดงแต่ถูกลูกหลง พวกเขาตายด้วยคราบไคลของ "ทักษิณ" เท่านั้นหรือ พวกคุณจึงไม่อยากเข้าใจเขา ไม่อยากช่วยเหลือเขา ไม่เห็นเขาเป็นคนเท่าคุณ

 

สำหรับผม ถ้ากิจกรรมที่ผมทำนั้นทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อขยายอำนาจของคนสามัญ เพื่อความเป็นธรรมของสังคม แล้วคนจะเรียกผมว่า "นักวิชาการเสื้อแดง" ผมก็จะใส่เสื้อแดงไปอย่างนี้แหละ จนกว่า humanity, equality, justice จะไม่ใช่หลักการสำคัญของการดำเนินชีวิตในยุคสมัยนี้อีกต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก