Skip to main content

วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN

วิทยากรมีทั้งนักวิชาการ (ดุลยภาค ปรีชารัชช, อัครพงษ์ ค่ำคูณ, อนุสรณ์ อุณโณ, ธเนศ อาภรสุวรรณ) ประชาชนผู้อยู่ในขบวนการสันติภาพโดยตรง (ประจักษ์ กุนนะ จากสภากอบกู้รัฐฉาน) และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (บาสรี มะเซ็ง นักวิชาการท้องถิ่นจากนราธิวาส) ผมดำเนินรายการ

 

ผมไม่มีความรู้ลึกซึ้งอะไรเกี่ยวกับกรณีรัฐฉานในพม่า ซาบาห์ในมาเลเซีย และรัฐปัตตานีในประเทศไทย เพียงแต่เมื่อฟังแล้วได้ข้อสรุปบางประการที่อยากแบ่งปันสั้นๆ ดังนี้

 

(1) มรดกความขัดแย้ง ความขัดแย้งนี้เป็นมรดกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่หนึ่งเป็นมรดกของสังคมที่มีความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ กลุ่มคน และอำนาจการปกครองที่ไม่เคยมีเอกภาพ ในอีกแง่หนึ่งเป็นมรดกของอาณานิคม ที่สร้างพรมแดนขึ้นมาซ้อนทับพาดผ่านพื้นที่ซึ่งไม่เคยมีพรมแดนมาก่อน อีกแง่หนึ่งยังเป็นมรดกของความพยายามสร้างรัฐเดี่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ประเด็นหลังนี้อาจารย์ธเนศสรุปไว้ชัดเจนทำนองที่ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูจะเป็นที่แห่งเดียวในโลกที่ให้ความสำคัญกับรัฐเดี่ยวมากเกินไป และเกินจริง แต่ทุกรัฐที่มีปัญหาขัดแย้งพรมแดนหรือขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐ มักคิดว่าตนเป็นรัฐเดี่ยวมาตั้งแต่โบราณ ทั้งๆ ที่มันไม่จริง

 

(2) สันติภาพของใคร กระบวนเจรจาสันติภาพไม่ว่าจะระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า ไทยกับคนมลายู หรือมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ จะไม่สามารถเข้าถึงสันติภาพได้ เนื่องจากคู่ขัดแย้งมักมองสันสิภาพแตกต่างกัน

 

สำหรับชาวไทใหญ่ สันติภาพหมายถึงการยอมให้พวกเขาปกครองตนเอง แต่แน่นอนว่านั่นไม่ใช่สันติภาพของรัฐบาลพม่าที่ต้องการให้ไทใหญ่ยุติขบวนการกู้ชาติ สันติภาพของผู้ใช้กำลังในภาคใต้ไทยกับรัฐบาลไทยย่อมแตกต่างกัน 

 

ผมจึงคิดว่า การเจรจาที่แท้จริงน่าจะเป็นการเจรจาว่า จุดไหนกันที่คู่ขัดแย้งจะยอมรับได้ว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ คู่ขัดแย้งควรหาข้อยุติว่า อะไรคือสันติภาพที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ไม่ใช่ยืนยันแต่สันติภาพในความหมายของตนเองเท่านั้น

 

(3) องค์กรสลายความขัดแย้ง เท่าที่เห็นคือ ความขัดแย้งที่เท่าเทียมกันคือความขัดแย้งระหว่างรัฐนั้น มักมีองค์กรมาไกล่เกลี่ย หรือเป็นตัวกลางในการเจรจา หรือแม้แต่ตัดสินหาข้อยุติ เช่น กรณีข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างรัฐ หลายครั้งยุติที่คำตัดสินของศาลโลก อาจารย์อัครพงษ์ชี้ว่าความขัดแย้งที่ซาบาห์มีลักษณะนั้น ไม่ต่างจากเขาพระวิหาร

 

แต่กรณีความขัดแย้งที่ไม่เท่าเทียมกัน คือระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐ เช่น รัฐบาลพม่ากับชาวไตในรัฐฉาน รัฐบาลไทยกับคนมลายูในรัฐปัตตานี เป็นความขัดแย้งที่ไม่มีกลไกระหว่างประเทศหรือกลไกที่อยู่เหนือรัฐ อยู่นอกขอบเขตของรัฐ เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเจรจาโดยตรง 

 

ในข้อนี้ อาจารย์อนุสรณ์ชี้ว่า การที่ BRN เรียกร้องว่ารัฐบาลมาเลเซียต้องไม่เป็นเพียงผู้จัดให้มีการเจรจา แต่จะต้องเป็น "ตัวกลาง" การเจรจาด้วย เข้าข่ายลักษณะที่ว่า BRN ต้องการให้มีองค์กรนอกเหนือรัฐไทยเข้ามาร่วมเจรจาด้วย ส่วนประจักษ์ก็ชี้ให้เห็นว่า กรณีรัฐฉานกับพม่าสามารถเข้าสู่กระบวนการเจรจาได้ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะมีองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเป็นตัวกลาง

 

การที่ประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งกำลังยกระดับสมาคมอาเซียนไปเป็นประชาคมอาเซียน แต่กลับไม่มีกลไกในการให้อาเซียนเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเจรจากรณีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชนในรัฐนั้น นับเป็นข้ออ่อนของอาเซียน และเป็นการมองข้ามความเหลื่อมล้ำของคู่ขัดแย้งต่างๆ ในอาเซียน ข้อนี้แตกต่างจากสหภาพยุโรป ที่มีศาลอียู ซึ่งมีอำนาจตัดสินความกรณีรัฐละเมิดประชาชนของรัฐได้ แต่อาเซียนปัดความรับผิดชอบนี้

 

(4) ประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการสันติภาพนี้ ไม่ว่าการเจรจาจะเป็นอย่างไร เอาเข้าจริงๆ แล้วดูเหมือน "ประชาชน" ในพื้นที่จะไม่ได้มีส่วนร่วม หรือแม้แต่มีส่วนรู้เห็นกับกระบวนการสันติภาพนี้เลย พูดไม่ได้ว่ารัฐบาลหรือขบวนการต่อต้านรัฐบาลเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน 

 

หากประชาชนมีส่วนร่วม เขาคงบอกได้แต่แรกแล้วว่าไม่ต้องการความขัดแย้ง ไม่ต้องการความรุนแรง ทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ความรุนแรงจบไป หากแต่คู่ขัดแย้งต่างหากที่เรียกร้องจากแต่ละฝ่าย และใช้ประชาชนไม่ว่าจะฝ่ายใด สังเวยความรุนแรง สังเวยกระบวนการสันติภาพตามเป้าหมายของฝ่ายตน 

 

ในข้อนี้ ประชาชนจากพื้นที่ขัดแย้งที่แสดงความเห็นในที่ประชุมทุกคนยืนยันถึงสภาพที่พวกเขาตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง ที่พวกเขาไม่ได้ก่อและไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาใดๆ ทั้งๆ ที่พวกเขาคือคนที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อตกลงหรือไม่ตกลงที่คนอื่นยื่นให้

 

สุดท้าย ความท้าทายของกระบวนการสันติภาพในรัฐต่างๆ ที่มีความขัดแย้งในอุษาคเนย์คือ รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันอาจจะต้องยอมรับที่จะค้นหารูปแบบรัฐใหม่ ที่ไม่ใช่รัฐเดี่ยว ไม่ใช่รัฐแบบที่จะต้องกดและแปลงให้ทุกคนกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกันหมด 

 

กระบวนการสันติภาพจึงไม่ใช่เพียงการเจรจาหาข้อยุติให้กับความรุนแรง แต่ขบวนการสันติภาพในก้าวต่อไปจะต้องนำไปสู่การค้นหาวิธีการอยู่ร่วมกันรูปแบบใหม่ ที่ยอมรับอำนาจอธิปไตยที่ไม่รวมศูนย์มากกว่าที่เป็นมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา