Skip to main content

ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี

คุณธรรมของ "ความเท่าเทียมระหว่างเพศ" ไม่ใช่คุณธรรมแบบไทยๆ แน่ๆ แต่ผมมั่นใจว่าสังคมไทยก็ไม่ได้เหยียดผู้หญิงมากเท่าที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันมาก่อน และที่จริงการเคารพเพศอย่างเท่าเทียมกันก็ไม่ใช่คุณธรรมแบบตะวันตกอีกด้วย เพราะสังคมตะวันตกก็เหยียดเพศ เกลียดตุ๊ดไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะยิ่งกว่าในสังคมไทยและสังคมตะวันออกตั้งมากมายด้วย

แต่หากใครจะบอกว่า สังคมไทยเป็นสังคม "ปิตาธิปไตย" ชายเป็นใหญ่มาแต่ไหนแต่ไร ผมก็ว่าไม่ถูกนัก สังคมไทยในอดีต (นานแค่ไหนไม่รู้ อย่างน้อยในรุ่นยายผมก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่) ไม่ได้ยอมให้ใครเหยียดเพศแม่ได้ง่ายๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมคิดว่าการเหยียดเพศหญิงอย่างในปัจจุบันน่าจะมีที่มาจากสอง-สามแหล่ง ซึ่งมาจากซีกโลก "ตะวันตก" ของไทยทั้งสิ้น

หนึ่งคือจากศาสนาโลก ไม่ว่าจะฮินดู (พราหมณ์) พุทธ คริสต์ อิสลาม ให้ค่าผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายทั้งสิ้น เทพเจ้าสูงสุดของฮินดูสามองค์ ศิวะ พรหม นารายณ์ เป็นชายทั้งสิ้น พุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบเถรวาทกีดกันผู้หญิง ในศาสนาคริสต์ผู้หญิงเกิดจากกระดูกซี่โครงของผู้ชาย เกิดมาภายหลังและเกิดจากผู้ชาย ในอิสลามผู้หญิงต้องอยู่ในการดูแลของผู้ชาย ต้องควบคุมตัวเองเพื่อไม่กระตุ้นราคะของผู้ชาย

สองคือจากสังคมอเมริกันชั้นกลาง ที่กดผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง "อเมริกันดรีม" ที่พ่อบ้านทำงานเหน็ดเหนื่อยกลับมาบ้านแล้วเจอศรีภรรยาทำกับข้าวด้วยเครื่องครัวที่อำนวยความสะดวกสารพัด แม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ ทำความสะอาดบ้าน ระหว่างที่สามีทำงานนอกบ้าน ในครอบครัวขนาดเล็กที่มีพ่อ-แม่-ลูก คือครอบครัวในอุดมคติของสังคมอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมของผู้ชนะสงครามแล้วก่อสงครามไปทั่วโลก

ถ้าจะมีอีกแหล่ง น่าจะมาจากสังคมวิกตอเรี่ยนในยุโรปศตวรรษที่ 19 นี่เอง ที่ควบคุมเพศหญิงให้รักนวลสงวนตัว ผู้หญิงถูกควบคุม ถูกเก็บไว้ในบ้าน ถูกเรียกร้องให้เสียสละต่อครอบครัว ผู้หญิงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ยุคนี้นี่เองที่เริ่มมีขบวนการสิทธิสตรีในยุโรป เพื่อต่อต้านกับการกดทับอำนาจของผู้หญิง

แต่ในสังคมก่อน อยู่นอก แต่ยังผสมผสานอยู่กับสังคมไทยหลังอิทธิพลของศาสนาโลก ผู้หญิงมีที่ทางมากกว่าในยุโรปและอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนน่าเชื่อว่าจะมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย เอาง่ายๆ คือ การที่ผู้ชายต้องแต่งงานแล้วเข้าไปอยู่บ้านผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงครอบครองพื้นที่ทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ผู้ชายต้องเข้าไปอยู่ในสังคมผู้หญิง เป็นคนนอกในสังคมของผู้หญิงที่เป็นพี่น้องกันหมด

สังคมลักษณะนี้น่าจะเป็นพื้นฐานของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่เรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิค ที่มีหลักฐานความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมายืนยันมากมาย จนเป็นที่มาของแนวคิดเฟมินิสต์ยุคใหม่ ที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ของเฟมินิสต์ที่เอาผู้หญิงตะวันตกเป็นศูนย์กลาง แล้วสรุปเหมารวมอย่างผิดๆ ว่าผู้หญิงถูกกดขี่ทั่วโลก

ในการศึกษาสังคมไทยช่วงหลังๆ จึงเริ่มมีนักมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์อย่างแคทเธอรีน บาววี่เสนอว่า การสร้างเครือข่ายทางการเมืองเชื่อมโยงสังคมในวังเข้ากับสังคมชาวบ้าน น่าจะผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน และดังนั้น การ "ถวายตัว" ของผู้หญิง แท้จริงแล้วเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับไพร่ผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน เป็นคนละเรื่องกันกับการสร้างฮาเร็มที่พวกฝรั่งมักเข้าใจเก่ียวกับโลกของนางใน

ว่าด้วยสังคม "นางใน" มีหลักฐานการสร้างฐานอำนาจของฝ่ายหญิงในสังคมชนชั้นสูง สุจิตต์ วงษ์เทศเคยบอกเล่าว่า ในสมัยอยุธามีคำว่า "กษัตริย์ฝ่ายใน" หมายถึงเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีอิทธิพลไม่น้อยกว่ากษัตริย์ผู้ชาย 

ในเวียดนามในอดีตเมื่อหลายศตวรรษก่อน นักประวัติศาสตร์พบว่าเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว ในบางรัชกาลแทนที่จะตั้งกษัตริย์ใหม่ กลับให้ราชินีองค์เดิมสมรสกับกษัตริย์องค์ใหม่ ที่อาจเป็นน้องชายหรือพี่ชายของกษัตริย์องค์เก่า ทั้งนี้เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายราชินีไว้ พูดอีกอย่างก็คือ บางครั้งราชินีก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์

คุณธรรมความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยยังต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่ แต่อย่าตั้งข้อรังเกียจด้วยคิดว่านั่นเป็นของตะวันตก เพราะความเข้าใจดังกล่าวก็เคยมีในสังคมไทยมาก่อน ต้องรื้อฟื้นความเข้าใจสังคมพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาผสมผสานกับคุณธรรมสิทธิมนุษยชนของสังคมสมัยใหม่ และที่สำคัญคือ ต้องเรียกร้องการเคารพเพศที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน กับทั้งผู้อื่นและต่อตนเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย