Skip to main content

ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี

คุณธรรมของ "ความเท่าเทียมระหว่างเพศ" ไม่ใช่คุณธรรมแบบไทยๆ แน่ๆ แต่ผมมั่นใจว่าสังคมไทยก็ไม่ได้เหยียดผู้หญิงมากเท่าที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันมาก่อน และที่จริงการเคารพเพศอย่างเท่าเทียมกันก็ไม่ใช่คุณธรรมแบบตะวันตกอีกด้วย เพราะสังคมตะวันตกก็เหยียดเพศ เกลียดตุ๊ดไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะยิ่งกว่าในสังคมไทยและสังคมตะวันออกตั้งมากมายด้วย

แต่หากใครจะบอกว่า สังคมไทยเป็นสังคม "ปิตาธิปไตย" ชายเป็นใหญ่มาแต่ไหนแต่ไร ผมก็ว่าไม่ถูกนัก สังคมไทยในอดีต (นานแค่ไหนไม่รู้ อย่างน้อยในรุ่นยายผมก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่) ไม่ได้ยอมให้ใครเหยียดเพศแม่ได้ง่ายๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมคิดว่าการเหยียดเพศหญิงอย่างในปัจจุบันน่าจะมีที่มาจากสอง-สามแหล่ง ซึ่งมาจากซีกโลก "ตะวันตก" ของไทยทั้งสิ้น

หนึ่งคือจากศาสนาโลก ไม่ว่าจะฮินดู (พราหมณ์) พุทธ คริสต์ อิสลาม ให้ค่าผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายทั้งสิ้น เทพเจ้าสูงสุดของฮินดูสามองค์ ศิวะ พรหม นารายณ์ เป็นชายทั้งสิ้น พุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบเถรวาทกีดกันผู้หญิง ในศาสนาคริสต์ผู้หญิงเกิดจากกระดูกซี่โครงของผู้ชาย เกิดมาภายหลังและเกิดจากผู้ชาย ในอิสลามผู้หญิงต้องอยู่ในการดูแลของผู้ชาย ต้องควบคุมตัวเองเพื่อไม่กระตุ้นราคะของผู้ชาย

สองคือจากสังคมอเมริกันชั้นกลาง ที่กดผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง "อเมริกันดรีม" ที่พ่อบ้านทำงานเหน็ดเหนื่อยกลับมาบ้านแล้วเจอศรีภรรยาทำกับข้าวด้วยเครื่องครัวที่อำนวยความสะดวกสารพัด แม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ ทำความสะอาดบ้าน ระหว่างที่สามีทำงานนอกบ้าน ในครอบครัวขนาดเล็กที่มีพ่อ-แม่-ลูก คือครอบครัวในอุดมคติของสังคมอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมของผู้ชนะสงครามแล้วก่อสงครามไปทั่วโลก

ถ้าจะมีอีกแหล่ง น่าจะมาจากสังคมวิกตอเรี่ยนในยุโรปศตวรรษที่ 19 นี่เอง ที่ควบคุมเพศหญิงให้รักนวลสงวนตัว ผู้หญิงถูกควบคุม ถูกเก็บไว้ในบ้าน ถูกเรียกร้องให้เสียสละต่อครอบครัว ผู้หญิงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ยุคนี้นี่เองที่เริ่มมีขบวนการสิทธิสตรีในยุโรป เพื่อต่อต้านกับการกดทับอำนาจของผู้หญิง

แต่ในสังคมก่อน อยู่นอก แต่ยังผสมผสานอยู่กับสังคมไทยหลังอิทธิพลของศาสนาโลก ผู้หญิงมีที่ทางมากกว่าในยุโรปและอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนน่าเชื่อว่าจะมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย เอาง่ายๆ คือ การที่ผู้ชายต้องแต่งงานแล้วเข้าไปอยู่บ้านผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงครอบครองพื้นที่ทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ผู้ชายต้องเข้าไปอยู่ในสังคมผู้หญิง เป็นคนนอกในสังคมของผู้หญิงที่เป็นพี่น้องกันหมด

สังคมลักษณะนี้น่าจะเป็นพื้นฐานของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่เรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิค ที่มีหลักฐานความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมายืนยันมากมาย จนเป็นที่มาของแนวคิดเฟมินิสต์ยุคใหม่ ที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ของเฟมินิสต์ที่เอาผู้หญิงตะวันตกเป็นศูนย์กลาง แล้วสรุปเหมารวมอย่างผิดๆ ว่าผู้หญิงถูกกดขี่ทั่วโลก

ในการศึกษาสังคมไทยช่วงหลังๆ จึงเริ่มมีนักมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์อย่างแคทเธอรีน บาววี่เสนอว่า การสร้างเครือข่ายทางการเมืองเชื่อมโยงสังคมในวังเข้ากับสังคมชาวบ้าน น่าจะผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน และดังนั้น การ "ถวายตัว" ของผู้หญิง แท้จริงแล้วเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับไพร่ผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน เป็นคนละเรื่องกันกับการสร้างฮาเร็มที่พวกฝรั่งมักเข้าใจเก่ียวกับโลกของนางใน

ว่าด้วยสังคม "นางใน" มีหลักฐานการสร้างฐานอำนาจของฝ่ายหญิงในสังคมชนชั้นสูง สุจิตต์ วงษ์เทศเคยบอกเล่าว่า ในสมัยอยุธามีคำว่า "กษัตริย์ฝ่ายใน" หมายถึงเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีอิทธิพลไม่น้อยกว่ากษัตริย์ผู้ชาย 

ในเวียดนามในอดีตเมื่อหลายศตวรรษก่อน นักประวัติศาสตร์พบว่าเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว ในบางรัชกาลแทนที่จะตั้งกษัตริย์ใหม่ กลับให้ราชินีองค์เดิมสมรสกับกษัตริย์องค์ใหม่ ที่อาจเป็นน้องชายหรือพี่ชายของกษัตริย์องค์เก่า ทั้งนี้เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายราชินีไว้ พูดอีกอย่างก็คือ บางครั้งราชินีก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์

คุณธรรมความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยยังต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่ แต่อย่าตั้งข้อรังเกียจด้วยคิดว่านั่นเป็นของตะวันตก เพราะความเข้าใจดังกล่าวก็เคยมีในสังคมไทยมาก่อน ต้องรื้อฟื้นความเข้าใจสังคมพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาผสมผสานกับคุณธรรมสิทธิมนุษยชนของสังคมสมัยใหม่ และที่สำคัญคือ ต้องเรียกร้องการเคารพเพศที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน กับทั้งผู้อื่นและต่อตนเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้