Skip to main content

เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

บัดนี้ผ่านไปสามปีแล้ว อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าครับว่าเมื่อวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เกิดอะไรขึ้น อาจารย์ยังจำได้หรือเปล่าว่าอาจารย์เคยกรุณาตอบจดหมายเปิดผนึกผมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ว่า อาจารย์ไม่ใช่นักวิชาการที่มีความอิสระอย่างผม ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจารย์จะต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนจึงจะสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ได้ แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาผ่านมาจวนเจียนจะสามปีแล้ว อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ ได้รวบรวมหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีที่แล้วได้หรือยัง

 

ผมจะไม่เดือดร้อนอะไรเลยหากอาจารย์เป็นเพียงเพื่อนนักวิชาการร่วมอาชีพมานุษยวิทยาคนหนึ่ง ที่ไม่ว่าจะอยู่บนหอคอยงาช้างหรืออยู่ใต้กองข้อมูลในการทำงานภาคสนาม ก็ยังไม่มีความรับผิดชอบที่จะต้องยินดียินร้าย ไม่ต้องรับผิดชอบตอบคำถามประชาชน ถึงการเสียชีวิตของผู้คนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 แต่การที่อาจารย์เป็นถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับประทานค่าจ้างจากราษฎรทั้งหลาย รวมทั้งผมด้วย อาจารย์จึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามของประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและทันท่วงที แต่นี่ผ่านมาถึงสามปีแล้ว ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนประการใดออกมาจากหน่วยงานของอาจารย์

 

ในรายงานประมวลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2554 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึงการสลายการชุมนุมในปี 2553 โดยสรุปไปทันทีตั้งแต่ต้นว่า ในการชุมนุมของ นปช. นั้น "มีรายงานว่าสงสัยว่าจะใช้ความรุนแรงและละเมิดกฎหมาย" (ดูประโยคแรกของข้อ 11 ในรายงาน) หากแต่รายงานกลับสรุปว่า ยังมีความคลุมเครือว่าการตายเกิดจากการละเมิดของฝ่ายใด (ดูประโยคสุดท้ายของข้อ 11 ในรายงาน) ผมสงสัยว่าถึงขณะนี้ "ความคลุมเครือ" ดังกล่าวได้ถูกคลี่คลายลงแล้วบ้างหรือยัง

 

อาจารย์ครับ อาจารย์คงได้เห็นรายงานสองฉบับที่ให้รายละเอียดและเสนอข้อสรุปสำคัญๆ ของเหตุการณ์เมษายน - พฤษภาคม 2553 แล้ว ได้แก่ รายงานของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ" (คอป.) ที่ตั้งโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรายงานของ “ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53” (ศปช.) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการซึ่งร่วมกันรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ได้รัผลกระทบด้านต่างๆ ในเหตุการณ์ดังกล่าว ผมหวังว่าอาจารย์คงได้อ่านหรือมีผู้สรุปสาระสำคัญๆ ของรายงานทั้งสองฉบับให้ได้รับทราบแล้ว นอกจากนั้น ในระยะสามปีที่ผ่านมายังมีข้อมูลจากการสอบสวนของดีเอสไอ และแม้แต่ข้อสรุปส่วนสำคัญๆ จากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือมากหน่วยงานหนึ่งคือศาล ก็ยังได้มีคำพิพากษาต่อการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตออกมาแล้ว

 

ที่สำคัญคือ แม้ว่ารายงานต่างๆ จะเสนอข้อมูลรายละเอียดและให้ความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่รายงานทุกฉบับก็มีข้อสรุปประการหนึ่งที่สอดคล้องกับคำตัดสินของศาลที่ว่า "เจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว" หรือหากจะสรุปให้กว้างกว่านั้นก็คือ "กระสุนที่สังหารประชาชนในเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนนั้น มาจากทหารที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่" ข้อเท็จจริงหรือเรียกให้ชัดในภาษาฝรั่งว่า fact เหล่านี้ น่าจะเพียงพอบ้างหรือยังครับที่หน่วยงานของอาจารย์จะสรุปว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย"

 

ผมได้เคยสอบถามอาจารย์ถึงหลักการทางมานุษยวิทยาและหลักสิทธิมนุษยชน ที่ชี้ชัดถึงการละเมิดความเป็นมนุษย์ในการในการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์มาก่อน การที่อาจารย์เลี่ยงไม่ตอบคำถามผมในสามปีก่อน อาจจะด้วยความสับสนของข้อมูล แต่มาถึงวันนี้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ได้ปรากฏอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นแล้ว ผมสงสัยว่าอาจารย์จะยังคงบ่ายเบี่ยงอะไรได้อีก

 

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้ชัดเจนว่า "ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่นนอกเหนือจากนี้" และดังนั้น "ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล"

 

หากอาจารย์ยังคงยึดมั่นตามหลักข้างต้นนี้ ไม่ว่าเหตุการณ์ในปี 2553 จะเกิดขึ้นมาจากสาเหตุประการใด อาจารย์อมราและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่น่าจะเห็นด้วยกับผมว่า สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเหนือความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ และเหนือสถาบันทางการเมืองใดๆ และหากเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด อาจารย์และคณะที่อาจารย์เป็นหัวหน้าอยู่ย่อมต้องแสดงจุดยืนต่อต้านหรืออย่างน้อยที่สุดต้องประณามการละเมิดดังกล่าว

 

ประชาชนย่อมสงสัยว่า การที่อาจารย์และคณะอาจารย์ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่่าวเสียทีจะแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า อาจารย์ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการสากลของหลักสิทธิมนุษยชนโดยแท้ หากแต่กลายเป็นว่า อาจารย์เลือกปกป้องใครบางคน ปกป้องคนบางกลุ่ม บางสถาบันทางการเมือง บางสถาบันทางราชการหรือไม่ หรืออย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งผมยังหวังว่าจะเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปก็คือ การที่อาจารย์แสดงท่าทีเฉยเมยต่อกรณีดังกล่าวก็เพื่อปกป้องหน้าตาชื่อเสียงของอาจารย์ในแวดวงสังคมที่ใกล้ชิดอาจารย์เพียงเท่านั้น

 

ถึงวันนี้แล้ว ผมและประชาชนจำนวนมากอดไม่ได้ที่จะกังขาว่า อาจารย์เอาอะไรข่มตาให้หลับแล้วปลุกให้ตนเองลุกขึ้นมาไปทำงานในตำแหน่งนี้ในแต่ละวันมาตลอดสามปีที่ผ่านมา โดยไม่สามารถให้คำตอบกับชาวโลกถึงเหตุการณ์เมื่อสามปีก่อนได้ และหากเมื่อวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน - พฤษภาคม 2553 ได้ผ่านไปอีกหนึ่งปีแล้ว อาจารย์จะยังคงแบกรับภาระหน้าที่นี้อย่างเงียบเชียบต่อไปด้วยจริยธรรมข้อใดของนักสิทธิมนุษยชน

 

17 พฤษภาคม 2556

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก