Skip to main content

ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้

ต้นสัปดาห์ก่อน (3 มิถุนายน 2556) ผมชวนอดีตนักศึกษาปริญญาโทที่คณะไปฉลองการเปลี่ยนผ่านสถานภาพมาหมาดๆ ของพวกเขา เหตุการณ์คืนนั้นผ่านไปได้อย่างสนุกสนานและสมัครสมานกันดี มีคำถามหนึ่งที่อดีตนักศึกษาที่ขณะนี้กลายเป็นมหาบัณฑิตไปแล้วคนหนึ่งถามว่า "อาจารย์เป็นอาจารย์มานี่ หนักใจอะไรที่สุด" พอฟังคำถามเสร็จ ผมบอก "ขอไปเข้าห้องน้ำก่อน ปวดฉี่" แน่นอนว่านั่นเป็นมุกขอเวลาคิด คำถามน่ะไม่ยากหรอก แต่จะตอบให้ดีน่ะยาก

ผมกลับมาจากห้องน้ำ (ล้างมือแล้วนะ) พร้อมกับคำตอบว่า "สอนหนังสือน่ะยากที่สุด หนักใจที่สุด" ผมเล่าว่า ผมไม่เคยมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสอนเลย ผมเป็นอาจารย์ทันทีหลังจากจบปริญญาโท แต่ที่จริงสอนหนังสือตั้งแต่เรียนโทแล้ว ตอนนั้นก็ทุกข์ร้อนมาก ดีแต่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน และต้องสอนเรื่องเดียวกันถึงสามรอบต่อหนึ่งสัปดาห์ รอบแรกตะกุกตะกัก รอบสองเริ่มสนุก ลื่นขึ้น พอรอบสามเบื่อมาก ปากพูดปาวๆ ไปเหมือนลิิ๊ปซิงค์

พอได้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ผมเตรียมตัวไม่ทัน พูดไม่รู้เรื่อง นักศึกษาที่เคยเรียนด้วยมาบอกทีหลังเมื่อมาเจออีกทีหลายปีต่อมาว่า "ตอนนั้นอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องเลย" ผมยอมรับเลย เพราะตัวเองก็แทบไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองสอน

แล้วถามว่า "ตอนนี้รู้สิ่งที่ตัวเองสอนแค่ไหน" ก็ตอบได้เลยว่า "ส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลย" ใช่ สิ่งที่อาจารย์สอนให้นักศึกษารู้น่ะ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ไม่ได้รู้รอบรู้ตลอดไม่รู้แตกฉานไปเสียทุกอย่างหรอก เอาเป็นว่าผมไม่พูดแทนอาจารย์คนอื่นก็แล้วกัน แต่สำหรับผม เนื้อหาส่วนใหญ่ที่สอน ผมก็เรียนไปพร้อมๆ กับนักศึกษานั่นแหละ

เอาอย่างวิชาบังคับต่างๆ ที่มีเนื้อหามากมาย มีงานเขียนของนักคิดคนนั้นคนนี้ ตอนที่เรียน ก็มีเวลาอ่านน้อย อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง งานหลายชิ้นไม่เข้าใจเลย ในห้องเรียนที่ผมเรียน ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่มีคำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งหรอก อาจารย์ที่สอนจะรู้ก็เฉพาะงานบางคนที่เขาลงลึกศึกษาจริงจัง งานหลายชิ้นอาจารย์ก็เพิ่งอ่านพร้อมกับนักศึกษานั่นแหละ

มีครั้งหนึ่งที่ผมเรียนที่อเมริกา สองคืนก่อนวันมีชั้นเรียน อาจารย์โทรมาหาที่บ้านว่า "เธอมีหนังสือที่เราบอกให้อ่านมาถกกันในชั้นไหม" ผมถาม "อ้าว อาจารย์ยังไม่มีอีกเหรอ" แกตอบว่า "ไม่มี ถ่ายเอกสารมาให้หน่อยสิ" ผมถ่ายเอกสารหนังสือเล่มที่ผมอ่าน ซึ่งขีดเขียนไปมากมาย พอวันเข้าห้องเรียน อาจารย์บอก "เราก็อ่านตามที่เธอขีดเส้นใต้นั่นแหละ"

ทุกวันนี้ หลังจากผมจบปริญญาเอกกลับมาสอนได้เกือบ 6 ปีแล้ว หลายครั้งที่เข้าห้องเรียนผมกระหืดกระหอบไม่แพ้นักศึกษา หรืออาจจะมากกว่า เพราะลองคิดดูว่า ชั้นเรียนเวลา 3 ชั่วโมง ต่อหน้าคนตั้งแต่ 10 คนจนถึง 100 ถึง 1,000 คนก็มี หากเกิดจนคำพูดจะทำอย่างไร ถ้าที่เตรียมมาหมด ไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าตอบคำถามไม่ได้ ถ้าลืม ถ้าอ่านเอกสารที่ให้นักศึกษาอ่านแต่ตัวเองอ่านมาไม่ครบจะทำอย่างไร 

หลายต่อหลายครั้งที่สอนหนังสือผมจึงแทบไม่ได้นอน มีบ่อยมากที่ผมมาสอนโดยเตรียมสอนจนสว่างคาตา แต่เมื่อทำอย่างนี้มาสัก 5-6 ปี ผมเริ่มรู้สึกว่า ที่เตรียมมามักเหลือ ผมเตรียมเกินเสมอ แต่ก็ยังไม่สามารถกะได้ว่า แค่ไหนคือพอดีสอน 

ชั่วโมงบินสูงๆ ประกอบกับประสบการณ์ภาคสนามและการเพิ่มพูนประสบการณ์และความคิดอย่างต่อเนื่อง ปีหลังๆ ผมยืนพูดไปได้เรื่อยๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าการสอนเป็นเรื่องง่ายเลย การเตรียมสอนสำหรับชั้นเรียนปริญญาโท-เอกจะยากในแง่ของประเด็นถกเถียงและการอ่านหนังสือเตรียมสอน ที่หลายเล่มเป็นหนังสือใหม่ที่ผมเองก็ยังไม่เคยอ่าน 

แต่สอนปริญญาตรีจะยากยิ่งกว่าในแง่ของการอธิบายเรื่องที่เป็นพื้นเป็นฐานให้กับความคิดต่างๆ เพราะบางทีเราเข้าใจว่าเรื่องพื้นๆ น่ะเราผ่านมาแล้ว ก็เลยลืมวิธีที่จะบอกว่ามันว่าทำไมอะไรจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็ต้องยอมรับว่า อาจารย์เองก็ไม่ได้เข้าใจแนวคิดอะไรที่เป็นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจไม่ได้กระจ่างแจ้ง

เมื่อสอนซ้ำๆ กันหลายปี ตำราวิชาแกนของสาขาก็มักจะอยู่ตัว คงที่ การเตรียมสอนก็อาจจะน้อยลง แต่นอกจากตำราพื้นฐานแล้ว อาจารย์ (ในมาตรฐานของผม) ยังต้องค้นคว้าไล่ตามความรู้ใหม่ๆ อีก ความรู้ใหม่มาจากหลายแหล่ง จากข่าวสารทางวิชาการ จากวารสารทางวิชาการใหม่ๆ จากหนังสือใหม่ๆ จากการเริ่มทำวิจัยใหม่ๆ จากคำแนะนำของอาจารย์รุ่นใหม่ และที่สำคัญคือจากการค้นคว้าของนักศึกษาเองที่เขาไปพบอะไรใหม่ๆ มา แล้วก็จะมาอวด มากระตุ้น มาท้าทายอาจารย์ 

ผมชอบแหล่งความรู้อย่างหลังนี่ไม่น้อยไปกว่าที่หาเอง เพราะคิดว่าคนที่เรียนอยู่มีเวลา มีหูตากว้างขวางกว่าคนสอนหนังสือ ที่มีภาระประจำวัน ภาระรายสัปดาห์ และกรอบของความรู้แบบที่เรียนมากักขังไว้มากเกินไป แต่นักศึกษาขาดความรู้พื้นฐาน ขาดแนวทางการเข้าใจเรื่องใหม่ๆ เมื่อหาจุดลงตัวที่จะมาทำงานร่วมกันได้ อาจารย์และนักศึกษาก็จะได้ประโยชน์มาก

สามปีก่อนเจอเพื่อนอเมริกันที่สอนมหาวิทยาลัยที่โน่น ก็คุยกันเรื่องการสอน ผมบอกเหนื่อยมากกับงานสอน เขาบอก "โอ้ย จะอะไรกันมาก เรานะ แทบไม่สนใจเลยเรื่องสอน สอนดีบ้างแย่บ้าง เอาแค่พอไปได้ เพราะคะแนนประเมินจากการสอนที่นั่น (หมายถึงสำหรับมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ซึ่งธรรมศาสตร์ก็พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็น) ไม่ได้สูงเท่าการทำวิจัย" ผมบอกผมทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะงานสอนที่นี่สำคัญอาจจะมากกว่างานวิจัย หรืออย่างน้อยที่สุด ผมก็เรียนรู้จากการสอนไม่น้อยเช่นกัน

ผมตอบมหาบัณฑิตเสียยืดยาว ลงท้ายก็บ่นว่าระบบการประกันคุณภาพในปัจจุบันเรียกร้องให้อาจารย์ทำอะไรมากมายกว่าที่นักศึกษาเห็นหน้าห้องเรียนนัก แต่ผมก็ยังว่างานเหล่านั้นไม่ยากเท่าการสอนหนังสือ แม้ว่าจะได้ "รางวัล" หลายๆ ด้านมากกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด