Skip to main content

เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
 

วิชามานุษยวิทยาแบบอเมริกันมี 4 สาขาใหญ่ สาขาหนึ่งศึกษาวัฒนธรรม สาขาหนึ่งศึกษาภาษา ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินมีสาขาแรก ส่วนสาขาที่สองส่วนหนึ่งกลายเป็นหน้าที่ต่างหากของภาควิชาภาษาศาสตร์ มีวิชาที่ผมสอนเทอมที่แล้วคือ "ภาษาและวัฒนธรรม" ที่กำลังจะกลายเป็นวิชาบังคับให้นักเรียนภาษาได้เรียนทางด้านมานุษยวิทยาภาษาด้วย ส่วนอีก 2 สาขาที่ยังคงเป็นจุดเด่นของภาควิชานี้ที่นี่คือ สาขาโบราณคดีและสาขามานุษยวิทยาชีวภาพ หรือที่เดิมเรียกว่ามานุษยวิทยากายภาพ

เมื่อครั้งที่ผมเรียนที่นี่ร่วม 10 ปีก่อน ได้เรียนวิชาโบราณคดีเพียงวิชาเดียว ส่วนวิชามานุษยวิทยาชีวภาพไม่ได้เรียน แต่ที่จริงนักศึกษาไม่ว่าจะระดับตรี โท หรือเอก ก็สามารถเลือกเรียนวิชาข้ามทั้ง 3 สาขาได้ ได้มากจนกระทั่งบางคนอาจจบโดยได้รับสองปริญญา เช่นนักเรียนผมคนหนึ่ง เขาศึกษามานุษยวิทยาชีวภาพควบกับมานุษยวิทยาวัฒนธรรม

วันนี้ได้มาพบกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อแดเนียล เบ็นเด็น (Danielle M. Benden) อายุยังน้อยมาก เธอเป็นทั้งอาจารย์ผู้บรรยายและเป็นภัณฑารักษ์ประจำภาควิชามานุษยวิทยาเพียงคนเดียว แต่งานหลักของเธอนั้นมากมายมหาศาล ตั้งแต่จัดระบบบรรดาโบราณวัตถุและกระดูกทั้งของจริงและของจำลอง ตลอดจนจัดการเรียนการสอน และทำโครงการจัดแสดงโบราณวัตถุและกระดูกต่างๆ ทางด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาชีวภาพ

เบ็นเด็นเล่าว่า ภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่เริ่มเก็บโบราณวัตถุและกระดูกมาตั้งแต่ค.ศ. 1897 จนขณะนี้ก็ร้อยกว่าปีแล้ว โบราณวัตถุเหล่านี้จึงมีจำนวนมหาศาล เฉพาะห้องเก็บของเหล่านี้ก็วันนี้ผมก็นับได้ 4 ห้องเล็กกับอีก 1 ห้องใหญ่ๆ แล้ว และที่จริงผมรู้ว่ายังมีข้าวของพวกนี้ซุกซ่อนอยู่ในชั้นเก็บของห้องอาจารย์อีกหลายท่าน และยังมีห้องเรียนที่เป็นห้องทดลองในตัวที่เพิ่งสร้างอย่างทันสมัยอีกอย่างน้อยเท่าที่เห็นวันนี้ 4 ห้อง โดยรวมแล้วจึงได้เห็นว่าภาควิชาได้ลงทุนอย่างมหาศาลกับการศึกษาทางด้านนี้

ผมก็เลยตื่นตาตื่นใจไปกับทั้งของที่ภาควิชาเก็บไว้และวิธีการจัดการดูแลและการทุนเทของภาควิชา เนื่องจากภาควิชานี้ไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์ ของพวกนี้จึงเก็บไว้ใช้ในเพื่อการเรียนการสอนและจัดแสดงชั่วคราวเท่านั้น คนทั่วไปจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็น 

โบราณวัตถุที่เบ็นเด็นภัณฑารักษ์ผู้พาชมอยากอวดในวันนี้มีมากมาย ที่เด่นๆ ก็เช่นบรรดาใบมีดหินกระเทาะขนาดเล็ก ใหญ่ หัวขวานหิน หัวธนูที่ทำจากหินแก้วใส เหล่านี้มาจากแทบทุกทวีป เครื่องปั้นดินเผาอายุตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันปีจากทั่วโลก ชิ้นพิเศษๆ ก็เป็นเศษเครื่องปั้นดินเผาของมนุษย์ยุคแรกเริ่ม นอกจากนั้นก็พวกกระดูกและกะโหลกมนุษย์โบราณและมนุษย์วานร ของเหล่านี้เก็บสะสมมานานโดยคณาจารย์ที่สอนภาควิชานี้มาก่อน และทั้งที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีต่างๆ 

ที่ผมเพิ่งทราบเป็นความรู้ใหม่คือ บรรดากระดูกและกะโหลกมนุษย์โบราณและมนุษย์วานรนั้น แม้ส่วนมากนักเรียนจะได้เรียนจากของจำลองทำเป็นวัสดุเรซิน ก็จะต้องเป็นการจำลองทีละชิ้นมาจากกะโหลกและกระดูกของจริงต้นฉบับที่บางชิ้นเก็บไว้ในสถาบันการศึกษาในทวีปต่างๆ ทั่วโลก เช่นบางชิ้นจำลองมาจากสถาบันวิชาการในแอฟริกา วิธีนี้จึงทำให้สามารถได้รายละเอียดของร่องรอยต่างๆ อย่างครบถ้วน เสมือนศึกษาจากกระดูก กะโหลกจริงกันเลยทีเดียว

นอกจากนั้นภัณฑารักษ์ท่านยังเล่าถึงโครงการที่ท่านกำลังจะจัดแสดงนิทรรศการพิเศษ ขนาดเล็ก จะใช้วัตถุจัดแสดงราวๆ ไม่เกิน 100 ชิ้น เรื่องโบราณคดีของวิสคอนซิน ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นความเชี่ยวชาญหนึ่งของภาควิชานี้ ที่ก็มีนักโบราณคดีที่ศึกษาเรื่องนี้เพียง 2 คนเท่านั้น แต่กระบวนการจัดนิทรรศการนี้นั้นต้องใช้เวลาเตรียมการเป็นปี เมื่อร่างโครงการแล้วก็ให้นักศึกษานำไปเสนอให้ชาวบ้านในชุมชนชาวอเมริกันพื้นเมืองได้วิจารณ์เสนอแนะความเห็น และก็นำมาสู่การพัฒนาเนื้อหาการจัดแสดง นิทรรศการนี้จวนจะนำเสนอแล้ว ปลายเดือนหน้านี้หากมีโอกาสจะไปชมมาเล่าให้อ่านกันครับ

ของอีกส่วนหนึ่งที่ภัณฑารักษ์ตื่นเต้นอยากอวดนักวิชาการจากไทยสองคนวันนี้คือ ชุดเครื่องแต่งกายพร้อมเครื่องประดับศีรษะของตัวละครเรื่องสังข์ทอง ซึ่งเป็นของเก่าที่นักมานุษยวิทยาชื่อดังคือเจนและลูเซียน แฮงส์ (Jane and Lucian Hanks) ที่มาศึกษาวิจัยในประเทศไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บริจาคไว้ ความเป็นมาเป็นอย่างไรไม่แน่ชัด แต่เมื่อได้เห็นสภาพหน้ากากเจ้าเงาะ ชฎานางรจนา และเสื้อชุดละครบางส่วนแล้ว ก็น่าประทับใจกับการเก็บรักษาข้าวของเป้นอย่างดีของที่นี่

น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เคยรู้จักด้านนี้ของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่มากนัก จึงไม่ได้ชวนให้ผมอยากศึกษาความรู้ด้านนี้มากเท่าที่ควร แต่ผมก็หวังที่จะได้บอกกล่าวกับคณาจารย์และนักศึกษาที่นี่ว่า พวกเธอมีของดีอีกมากมายที่ควรนำเสนอให้อย่างน้อยนักศึกษาต่างสาขาในภาควิชาเดียวกันได้รับรู้

ส่วนนักวิชาการไทยเองก็หนีไม่พ้นที่จะสะท้อนใจว่า การเรียนการสอนด้านนี้ในประเทศไทยทำไมจึงดูไม่น่าตื่นเต้น ไม่น่าสนุกเท่ากับที่ภัณฑารักษ์วัยเยาว์ท่านนี้ชี้ชวนให้ดูให้ชมให้เรียนรู้ก็ไม่ทราบ ทำไมบรรดาข้าวของโบราณในประเทศไทยมันจึงศักดิ์สิทธิ์เกินเอื้อมจนผู้สนใจไม่สามารถหยิบจับลูบคลำได้ก็ไม่ทราบ ทำไมความรู้โบราณและพิพิธภัณฑ์จึงมักไม่ค่อยประสานเชื่อมโยงกับผู้คนและชุมชนมากนักก็ไม่ทราบ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม