Skip to main content

เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้

นักศึกษาจีนคนหนึ่ง เรียนภาษาและวัฒนธรรมเอเชียระดับปริญญาตรี บอกว่าได้เข้าใจความสำคัญของการศึกษาภาษาขึ้นมาก รู้จักมิติต่างๆ ของภาษาที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน 
 
นักศึกษาจีนอีกคนหนึ่ง เรียนภาษาและวัฒนธรรมเอเชียระดับปริญญาโท บอกว่าวิชานี้เป็นวิชาที่ยากที่สุดตั้งแต่ที่เคยเรียนมาที่นี่เลย
 
นักศึกษาอเมริกัน เรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาระดับปริญญาโท บอกว่าวิชานี้ช่วยเพิ่มคำศัพท์เกี่ยวกับการศึกษาภาษาให้อีกมาก ช่วยทำให้เข้าใจคำศัพท์มากมายที่เคยได้ยินมาแต่ไม่เคยเข้าใจมากขึ้น ได้อ่านงานสำคัญของนักวิชาการด้านนี้
 
นักศึกษาซาอุดิอารเบีย เรียนวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรี บอกว่าได้เรียนรู้อะไรมากมายสมใจกับที่อยากจะได้แลกเปลี่ยนกับผู้คน และได้รู้ว่าตนเองก็เขียนอะไรยาวๆ เป็นเหมือนกัน
 
นักศึกษาอเมริกัน เรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดับปริญญาโท บอกว่าได้รู้ว่ามาร์กซิสม์นี่ใช้ศึกษาไปได้ทุกเรื่องเลยจริงๆ
 
นักศึกษาเกาหลี เรียนเศรษฐศาสตร์ระดับปริญญาตรี บอกว่าได้เข้าใจอัตลักษณ์ความเป็นชนกลุ่มน้อยและความเป็นคนสอง-สามภาษาของตนเองในตอนเด็กๆ ขึ้นมาก็ด้วยการเรียนวิชานี้ โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์กับภาษา เมื่อก่อนไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนชอบล้อเรา เราต่างจากคนอื่นอย่างไร
 
นักศึกษาอเมริกัน เรียนภาษาศาสตร์ บอกไม่เคยเรียนมาก่อนเลยว่าภาษาจะเกี่ยวข้องกับมิติต่างๆ มากมาย โยงกับแทยทุกเรื่องได้หลายด้าน และที่สำคัญคือได้แลกเปลี่ยนความรู้จากที่ต่างๆ ทั่วโลก ได้รู้เกี่ยวกับประเทศไทยและเรื่องราวจากอีกซีกโลกหนึ่งอย่างปาปัวนิวกินี ถ้าเรียนในภาควิชาภาษาศาสตร์ แม้แต่ภาษาศาสตร์เชิงสังคมก็ศึกษาจากภาษาอังกฤษกับสังคมอเมริกัน
 
นักศึกษาลาวสัญชาติอเมริกัน เรียนภาษาศาสตร์ บอกว่าได้เชื่อมโยงภาษากับสังคมมากขึ้น ได้รู้จักมานุษยวิทยาและการศึกษา ethnography มากขึ้น ได้เห็นว่าการทำงานศึกษาภาษาในภาคสนามเป็นอย่างไร ยุ่งยากขนาดไหน ต่างจากการนั่งวิเคราะห์ภาษาจากตัวอย่่างที่มีอยู่แล้วแบบที่นักภาษาศาสตร์มักทำกัน
 
นักศึกษาอเมริกัน ศึกษามานุษยวิทยาชีวภาพและมานุษยวิทยาวัฒนธรรม บอกว่าที่ชอบมากคือการได้เรียนรู้ว่า แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่คนทุกคนน่าจะรับรู้เหมือนๆ กัน อย่างการเห็นสี ก็เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าทุกคน ทุกวัฒนธรรม จะเห็นเหมือนๆ กัน
 
นักศึกษาไทย เรียนมานุษยวิทยาระดับปริญญาเอก บอกว่าได้มีแนวคิดต่างๆ เอาไว้ให้ถกเถียงได้มากขึ้น
 
สุดท้าย นัดกันดื่มเบียร์กันตอนค่ำ เสียดายที่นักศึกษามากันไม่กี่คน คงเพราะเป็นช่วงเตรียมตัวสอบกันด้วย และบางคนก็ติดเรียนตอนค่ำ แต่เท่าที่มาก็ได้คุยเล่นกันสนุกมากขึ้น บางคนบอกไม่น่าเชื่อเลยว่าจะไม่มีวิชานี้ให้เรียนตอนเช้าวันศุกร์อีกแล้ว พวกเขาบอกว่าเป็นชั้นเรียนที่พวกเขาชอบกันมาก บางคนบอกว่าไม่เคยเรียนชั้นเรียนไหนแบบนี้มาก่อนเลย แล้วเราก็แลกเปลี่ยนความแตกต่างของภาษากันต่ออีกนาน
 
ตอนท้ายๆ ของเมื่อคืน ที่ผมตกใจคือ นักศึกษาบอกผมว่า "You are so humble. You can be arrogant from what you know, but you aren't." พวกเขาบอกว่าอาจารย์ที่นี่ส่วนมากไม่ค่อยมีใครเป็นกันเองและฟังนักศึกษามากนัก ผมบอกว่า ผมเน้นการเรียนรู้จากนักเรียนด้วย แล้วก็ขอบคุณนักศึกษาที่ช่วยกันทำชั้นเรียนให้มีความหมาย
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม