Skip to main content

ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้

ต้นสัปดาห์ก่อน (3 มิถุนายน 2556) ผมชวนอดีตนักศึกษาปริญญาโทที่คณะไปฉลองการเปลี่ยนผ่านสถานภาพมาหมาดๆ ของพวกเขา เหตุการณ์คืนนั้นผ่านไปได้อย่างสนุกสนานและสมัครสมานกันดี มีคำถามหนึ่งที่อดีตนักศึกษาที่ขณะนี้กลายเป็นมหาบัณฑิตไปแล้วคนหนึ่งถามว่า "อาจารย์เป็นอาจารย์มานี่ หนักใจอะไรที่สุด" พอฟังคำถามเสร็จ ผมบอก "ขอไปเข้าห้องน้ำก่อน ปวดฉี่" แน่นอนว่านั่นเป็นมุกขอเวลาคิด คำถามน่ะไม่ยากหรอก แต่จะตอบให้ดีน่ะยาก

ผมกลับมาจากห้องน้ำ (ล้างมือแล้วนะ) พร้อมกับคำตอบว่า "สอนหนังสือน่ะยากที่สุด หนักใจที่สุด" ผมเล่าว่า ผมไม่เคยมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสอนเลย ผมเป็นอาจารย์ทันทีหลังจากจบปริญญาโท แต่ที่จริงสอนหนังสือตั้งแต่เรียนโทแล้ว ตอนนั้นก็ทุกข์ร้อนมาก ดีแต่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน และต้องสอนเรื่องเดียวกันถึงสามรอบต่อหนึ่งสัปดาห์ รอบแรกตะกุกตะกัก รอบสองเริ่มสนุก ลื่นขึ้น พอรอบสามเบื่อมาก ปากพูดปาวๆ ไปเหมือนลิิ๊ปซิงค์

พอได้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ผมเตรียมตัวไม่ทัน พูดไม่รู้เรื่อง นักศึกษาที่เคยเรียนด้วยมาบอกทีหลังเมื่อมาเจออีกทีหลายปีต่อมาว่า "ตอนนั้นอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องเลย" ผมยอมรับเลย เพราะตัวเองก็แทบไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองสอน

แล้วถามว่า "ตอนนี้รู้สิ่งที่ตัวเองสอนแค่ไหน" ก็ตอบได้เลยว่า "ส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลย" ใช่ สิ่งที่อาจารย์สอนให้นักศึกษารู้น่ะ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ไม่ได้รู้รอบรู้ตลอดไม่รู้แตกฉานไปเสียทุกอย่างหรอก เอาเป็นว่าผมไม่พูดแทนอาจารย์คนอื่นก็แล้วกัน แต่สำหรับผม เนื้อหาส่วนใหญ่ที่สอน ผมก็เรียนไปพร้อมๆ กับนักศึกษานั่นแหละ

เอาอย่างวิชาบังคับต่างๆ ที่มีเนื้อหามากมาย มีงานเขียนของนักคิดคนนั้นคนนี้ ตอนที่เรียน ก็มีเวลาอ่านน้อย อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง งานหลายชิ้นไม่เข้าใจเลย ในห้องเรียนที่ผมเรียน ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่มีคำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งหรอก อาจารย์ที่สอนจะรู้ก็เฉพาะงานบางคนที่เขาลงลึกศึกษาจริงจัง งานหลายชิ้นอาจารย์ก็เพิ่งอ่านพร้อมกับนักศึกษานั่นแหละ

มีครั้งหนึ่งที่ผมเรียนที่อเมริกา สองคืนก่อนวันมีชั้นเรียน อาจารย์โทรมาหาที่บ้านว่า "เธอมีหนังสือที่เราบอกให้อ่านมาถกกันในชั้นไหม" ผมถาม "อ้าว อาจารย์ยังไม่มีอีกเหรอ" แกตอบว่า "ไม่มี ถ่ายเอกสารมาให้หน่อยสิ" ผมถ่ายเอกสารหนังสือเล่มที่ผมอ่าน ซึ่งขีดเขียนไปมากมาย พอวันเข้าห้องเรียน อาจารย์บอก "เราก็อ่านตามที่เธอขีดเส้นใต้นั่นแหละ"

ทุกวันนี้ หลังจากผมจบปริญญาเอกกลับมาสอนได้เกือบ 6 ปีแล้ว หลายครั้งที่เข้าห้องเรียนผมกระหืดกระหอบไม่แพ้นักศึกษา หรืออาจจะมากกว่า เพราะลองคิดดูว่า ชั้นเรียนเวลา 3 ชั่วโมง ต่อหน้าคนตั้งแต่ 10 คนจนถึง 100 ถึง 1,000 คนก็มี หากเกิดจนคำพูดจะทำอย่างไร ถ้าที่เตรียมมาหมด ไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าตอบคำถามไม่ได้ ถ้าลืม ถ้าอ่านเอกสารที่ให้นักศึกษาอ่านแต่ตัวเองอ่านมาไม่ครบจะทำอย่างไร 

หลายต่อหลายครั้งที่สอนหนังสือผมจึงแทบไม่ได้นอน มีบ่อยมากที่ผมมาสอนโดยเตรียมสอนจนสว่างคาตา แต่เมื่อทำอย่างนี้มาสัก 5-6 ปี ผมเริ่มรู้สึกว่า ที่เตรียมมามักเหลือ ผมเตรียมเกินเสมอ แต่ก็ยังไม่สามารถกะได้ว่า แค่ไหนคือพอดีสอน 

ชั่วโมงบินสูงๆ ประกอบกับประสบการณ์ภาคสนามและการเพิ่มพูนประสบการณ์และความคิดอย่างต่อเนื่อง ปีหลังๆ ผมยืนพูดไปได้เรื่อยๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าการสอนเป็นเรื่องง่ายเลย การเตรียมสอนสำหรับชั้นเรียนปริญญาโท-เอกจะยากในแง่ของประเด็นถกเถียงและการอ่านหนังสือเตรียมสอน ที่หลายเล่มเป็นหนังสือใหม่ที่ผมเองก็ยังไม่เคยอ่าน 

แต่สอนปริญญาตรีจะยากยิ่งกว่าในแง่ของการอธิบายเรื่องที่เป็นพื้นเป็นฐานให้กับความคิดต่างๆ เพราะบางทีเราเข้าใจว่าเรื่องพื้นๆ น่ะเราผ่านมาแล้ว ก็เลยลืมวิธีที่จะบอกว่ามันว่าทำไมอะไรจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็ต้องยอมรับว่า อาจารย์เองก็ไม่ได้เข้าใจแนวคิดอะไรที่เป็นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจไม่ได้กระจ่างแจ้ง

เมื่อสอนซ้ำๆ กันหลายปี ตำราวิชาแกนของสาขาก็มักจะอยู่ตัว คงที่ การเตรียมสอนก็อาจจะน้อยลง แต่นอกจากตำราพื้นฐานแล้ว อาจารย์ (ในมาตรฐานของผม) ยังต้องค้นคว้าไล่ตามความรู้ใหม่ๆ อีก ความรู้ใหม่มาจากหลายแหล่ง จากข่าวสารทางวิชาการ จากวารสารทางวิชาการใหม่ๆ จากหนังสือใหม่ๆ จากการเริ่มทำวิจัยใหม่ๆ จากคำแนะนำของอาจารย์รุ่นใหม่ และที่สำคัญคือจากการค้นคว้าของนักศึกษาเองที่เขาไปพบอะไรใหม่ๆ มา แล้วก็จะมาอวด มากระตุ้น มาท้าทายอาจารย์ 

ผมชอบแหล่งความรู้อย่างหลังนี่ไม่น้อยไปกว่าที่หาเอง เพราะคิดว่าคนที่เรียนอยู่มีเวลา มีหูตากว้างขวางกว่าคนสอนหนังสือ ที่มีภาระประจำวัน ภาระรายสัปดาห์ และกรอบของความรู้แบบที่เรียนมากักขังไว้มากเกินไป แต่นักศึกษาขาดความรู้พื้นฐาน ขาดแนวทางการเข้าใจเรื่องใหม่ๆ เมื่อหาจุดลงตัวที่จะมาทำงานร่วมกันได้ อาจารย์และนักศึกษาก็จะได้ประโยชน์มาก

สามปีก่อนเจอเพื่อนอเมริกันที่สอนมหาวิทยาลัยที่โน่น ก็คุยกันเรื่องการสอน ผมบอกเหนื่อยมากกับงานสอน เขาบอก "โอ้ย จะอะไรกันมาก เรานะ แทบไม่สนใจเลยเรื่องสอน สอนดีบ้างแย่บ้าง เอาแค่พอไปได้ เพราะคะแนนประเมินจากการสอนที่นั่น (หมายถึงสำหรับมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ซึ่งธรรมศาสตร์ก็พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็น) ไม่ได้สูงเท่าการทำวิจัย" ผมบอกผมทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะงานสอนที่นี่สำคัญอาจจะมากกว่างานวิจัย หรืออย่างน้อยที่สุด ผมก็เรียนรู้จากการสอนไม่น้อยเช่นกัน

ผมตอบมหาบัณฑิตเสียยืดยาว ลงท้ายก็บ่นว่าระบบการประกันคุณภาพในปัจจุบันเรียกร้องให้อาจารย์ทำอะไรมากมายกว่าที่นักศึกษาเห็นหน้าห้องเรียนนัก แต่ผมก็ยังว่างานเหล่านั้นไม่ยากเท่าการสอนหนังสือ แม้ว่าจะได้ "รางวัล" หลายๆ ด้านมากกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี