ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ผมอ่านเรื่องราวแนวคิดทางสถาปัตยกรรมของไรท์จากงานเขียนของแสงอรุณ รัตกสิกร สถาปนิกไทยที่เขียนหนังสืออ่านสนุกและฝีปาก(กา)กล้าคนหนึ่งตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัยปีแรก หากใครสนใจควรหาเล่มที่พิมพ์ครั้งแรกๆ ที่รูปเล่มเหมือนหนังสือเขียนภาพนะครับ จะจัดรูปเล่มกับใช้ฟอนต์ที่น่าอ่านกว่าที่มาพิมพ์กันทีหลังมาก
ที่ชวนฉงนมากคือเมื่อแสงอรุณเล่าถึงการไปใช้ชีวิตที่ Taliesin (ทาลิเอซิน) ซึ่งตอนนั้นผมก็งงๆ สับสนระหว่าง ทาลิเอซินกับทาลิเอซินตะวันตก ส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้จักมลรัฐวิสคอนซิน (ที่ตั้งของทาลิเอซิน) อีกส่วนเพราะคุ้นชื่อมลรัฐแอริโซนามากกว่า (ที่ตั้งทาลิเอซินตะวันตก) แต่ที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าไรท์เกิดที่วิสคอนซิน ณ ที่ซึ่งทาลิเอซินตั้งอยู่ตั้งแต่ปีค.ศ. 1911 จนถึงปัจจุบันนี้
ชื่อทาลิเอซินมาจากภาษาเวลช์ที่แปลว่า หน้าผากแจ่มจ้า ซึ่งไม่น่าจะหมายถึงหัวเถิกในภาษาไทย แต่น่าจะเนื่องจากเพราะตัวอาคารหลักของสถาบันนี้ คือบ้านบนเนินสูง ตั้งตระหง่านดั่งหน้าผากแจ่มจรัสอยู่บนเนิน ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาเวลช์ก็เพราะครอบครัวไรท์เป็นชาวเวลช์ที่อพยพมาอยู่ที่วิสคอนซิน
ทาลิเอซินทั้งสองที่ไม่ใช่เพียงบ้านพักของไรท์ แต่ยังเป็นสถาบันสอนสถาปัตยกรรม โดยที่นักเรียนต้องมาอยู่กินที่ทาลิเอซินที่วิสคอนซิน แล้วในฤดูหนาวก็ย้ายลงไปอยู่ที่ทาลิเอซินตะวันตกที่แอริโซนา ซึ่งก็ไม่ได้อุ่นกว่ากันเท่าใดนัก
เมื่อปี 1999 คราวที่มาเรียนที่นี่ ผมมีโอกาสไปทาลิเอซินที่วิสคอนซินเป็นครั้งแรก จึงทำให้เข้าใจขึ้นมาว่าทาลิเอซินไม่ได้มีเพียงบ้านหลังเดียว วานนี้มีโอกาสได้ไปอีกครั้งก็ยิ่งทำให้เข้าใจมากขึ้นเมื่อได้ไปดูอาคารหลังอื่นๆที่ทาลิเอซิน นอกจากบ้านหลังเด่นนั่นแล้ว ยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ สำหรับกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนอีกมาก
เช่นว่า มีห้องสตูดิโอที่หลังคาออกแบบพิศดารมาก มีหอพักที่ไม่สบายนัก เพราะนักเรียนจะได้ไม่หมกตัวในห้อง มีโรงละคร มีกังหันลม มีโรงนา รวมทั้งบ้านหลังอื่นๆ นอกจากนั้นยังเป็นพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ ที่ครอบครัวไรท์มาตั้งรกรากอยู่จนให้กำเนิดไรท์ ณ ลุ่มน้ำวิสคอนซินนี่เอง
แสงอรุณจึงเล่าในหนังสือว่า เมื่อมาเรียนที่นี่ ก็ต้องทำนา ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อเก็บเกี่ยวกินไปพร้อมๆ กับการศึกษาสถาปัตยกรรม ที่เป็นอย่างนี้เพราะสำหรับไรท์แล้ว สถาปัตยกรรมไม่ได้โดดเดี่ยวหลุดลอยออกจากสิ่งแวดล้อมและชีวิต การเรียนกับการดำรงชีวิตก็ต้องควบคู่กันไป นักเรียนที่นี่จึงต้องเรียนรู้ที่จะทั้งดำรงชีพตนเองและทำงานสถาปัตยกรรม
แน่นอนว่า ค่าตอบแทนจากผลงานของไรท์มีค่ามากกว่าการทำนามากนัก คำสอนอันเป็นอุดมคติของเขาไม่น่าจะไปกันได้กับการใช้ชีวิตของเขา ที่ลำพังของสะสมที่มักมาจากเอเชียตะันออก ทั้งญี่ปุ่น และกระทั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ไม่น่าจะได้มาจากการเป็นเกษตรกร แต่หลักปรัชญา การออกแบบสถาปัตยกรรม และหลักสูตรของเขาก็กลายมาเป็นแนวทางของวิธีคิดสถาปัตยกรรมที่ทรงอิทธิพลมากในศจวรรษที่ 20
สถาปัตยกรรมที่เข้ากับธรรมชาติจึงไม่ใช่แค่การออกแบบที่นำเอาวัสดุ รูปทรง และแรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบข้างมาเป็นส่วนประกอบของอาคาร ไม่ใช่แค่การผสานอาคารเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่อาคารตั้งอยู่ แต่ยังเป็นแนวทางการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคาร ที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมไปด้วยในตัว