Skip to main content

เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราวๆ 70 คน เกือบทั้งหมดเข้ามาเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มีจำนวนหนึ่งอยู่คณะสังคมสงเคราะห์ ผมได้ความรู้ใหม่ๆ มากยจากการบรรยายกึ่งเสวนากับนักศึกษาในชั้นเรียน

ตามวิธีของผม ผมไม่ได้นั่งบรรยาย ไม่ได้เล่าไปเรื่อยๆ แต่จัดทอร์คโชว์ประกอบสไลด์ ภาพ และคลิปวิดีโอ วันนี้เปิดคลิปเกี่ยวกับพิธีไหว้ครูที่มีคน "ของขึ้น" เต้นท่าลิง กับเปิด MV เพลง "รักต้องเปิด (แน่นอก)" ต้นฉบับนะครับ ไม่ใช่ "ฉบับนั้น"

ผมตั้งคำถามหลักๆ กับนักศึกษาว่า สังคมคืออะไร ศาสตร์คืออะไร สังคมศาสตร์มีสาขาวิชาอไรบ้าง จริตของนักสังคมศาสตร์เป็นอย่างไร เรียนสังคมศาสตร์ไปเพื่ออะไร

ส่วนหนึ่งของการบรรยาย ผมตั้งคำถามว่า "สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นอย่างไร" แล้วชวนนักศึกษาคุยว่า อะไรบ้างที่พวกเขาคิดว่าคือการเรียนทางสังคมศาสตร์ในโรงเรียน นักศึกษาก็ตอบว่าประวัติศาสตร์บ้าง ภูมิศาสตร์บ้าง เศรษฐศาสตร์บ้าง พุทธศาสนาบ้าง แต่ท้ายที่สุดผมตั้งคำถามว่า "นอกจากเนื้อหาของวิชาที่พวกคุณคิดว่าเป็นสังคมศาสตร์แล้ว อะไรที่เป็นวิธีการเรียนการสอน วิธีคิดทางสังคมศาสตร์ที่ได้เรียน"

พอเห็นนักศึกษาเงียบ คงเพราะพวกเขาเริ่มงงกับคำถาม ผมเฉลยด้วยสไลด์ที่เตรียมมาว่า สังคมศาสตร์ในโรงเรียนน่ะ

- สอนให้จำ มากกว่าทำความเข้าใจ
- สอนให้จด มากกว่าคิด
- สอนให้เชื่อฟัง มากกว่าตั้งคำถาม
- สอนให้สืบทอด มากกว่าเปลี่ยนแปลง

สอนให้จำ นักเรียนจึงเบื่อหน่าย ผลการสำรวจในห้องเรียน มีนักเรียนน้อยกว่า 10% ที่ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ คนที่ชอบเขาชอบเนื้อหาสาระ และชอบจดจำเป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยบาดแผล แต่ไม่มีใครเรียนประวัติศาสตร์แบบให้ค้นคว้า ให้ถกเถียง มีแต่เรียนตามตำรา 

สอนให้จดนั้นเป็นที่เข้าใจกันทันที เพราะนักเรียนบอกว่า หลายต่อหลายครั้งครูมาสอนด้วยการเปิดอ่านตำราให้นักเรียนจดตาม ยิ่งกว่าน่าเบื่อหน่ายกับการท่องจำเสียอีก

สอนให้เชื่อฟังมากกว่าตั้งคำถามนั้น เมื่อผมถามนักศึกษาว่า "ตอนคุณเรียน มีใครเคยถามคำถามครูจนกระทั่งครูโกรธ ครูตอบไม่ได้ ครูเรียกไปอบรมว่าก้าวร้าวกับผู้ใหญ่ มีความคิดกระด้างกระเดื่องกับระบบหรือไม่" ปรากฏว่าไม่มีใครสักคนตอบว่า "เคยครับ-ค่ะ" 

สอนให้สืบทอดเป็นอย่างไร ผมถามนิยามของคำว่า "วัฒนธรรม" ในห้องมีสองคำตอบ (1) วัฒนธรรมคือความดีงามที่สืบทอดกันมาจากอดีต (2) วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ผมขอให้นักศึกษายกมือว่าใครบ้างที่ตอบคำตอบแรก ใครบ้างที่ตอบคำตอบหลัง มีเพียง 2 คนในห้องที่ตอบคำตอบหลัง

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า "ศาสตร์คืออะไร" นักศึกษาหลายคนตอบได้อย่างกระตือรือล้นว่า ภาษาอังกฤษเรียกว่า science ซึ่งก็คือ "ความเป็นวิทยาศาสตร์" นักศึกษาตอบได้ว่าความเป็นวิทยาศาสตร์มีหลักการที่การพิสูจน์ การทดลอง ใช้เหตผล แต่ชุดคำตอบที่ผมประทับใจที่สุดคือนิยามความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยคำพื้นๆ แต่สำคัญคือ "การสงสัย"

ประเด็นที่ผมชวนนักศึกษาสนทนาต่อเนื่องทันทีจากคำตอบชุดนี้คือ "แล้วทำไมพวกคุณไม่รู้จักใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์กับการศึกษาสังคม" ทำไมนักศึกษาจึงไม่รู้จักรวมความเป็นศาสตร์เข้ากับการศึกษาสังคม ทำไมโรงเรียนไม่สอนให้พวกเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์สังคม ต่อคำถามนี้ พวกเขานั่งนิ่ง อึ้งกันไป

ผมชวนพวกเขาคุยประเด็นรายละเอียดอีกมากมาย ประเด็นหนึ่งที่ทำให้พวกเขาตอบโต้อย่างถึงพริกถึงขิงคือคำถามที่ผมตั้งว่า "พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริงหรือ" ทุกคนยืนยันว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์ ผมถามว่า ทำไมเป็นวิทยาศาสตร์แล้วต้องสอนเรื่องนรก-สวรรค์ด้วย บางคนตอบว่าเป็นเรื่องบัวใต้น้ำเหนือน้ำ วิธีสอนคนไม่เหมือนกัน

ผมถามต่อว่าทำไมจะต้องสอนให้เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของจีวรด้วย ในเมื่อจีวรก็แค่เครื่องนุ่งห่ม ทำไมพระจะต้องให้ผู้หญิงคอยหลบด้วย นักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า "เพราะจะเป็นการยั่วกิเลสพระ" ผมถามกลับว่า "แล้วทำไมพระซึ่งบำเพ็ญตน จึงไม่รู้จักเดินเลี่ยง สำรวม หลบผู้หญิงไปเอง ทำไมจะต้องสอนกันให้ผู้หญิงกลัวบาปถ้าเข้าใกล้พระ พระเองสิต้องระวัง หลบไป"

โดยรวมๆ แล้วผมท้าทายพวกเขาว่า "ถ้าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์จริง ก็ล้มเหลวในการสั่งสอนมาก ล้มเหลวจนไม่ควรเดินตาม เพราะสอนอย่างไรจึงทำให้สาวกหลักของศาสนา คือพวกพระ ส่วนใหญ่ยังงมงาย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์"

มีการโต้เถียงเรื่องพระกันอีกหลายประเด็น แต่สุดท้าย ผมยังยืนยันว่า พุทธศาสนาไม่เป็นวิทยาศาสตร์ พวกเขาไม่ค่อยยอมรับคำตอบผมเท่าไรนักหรอก ซึ่งก็ดี และก็ยังหวังว่าพวกเขาจะคิดกันมากขึ้นกับความ(ไม่)เป็นวิทยาศาสตร์ของพุทธศาสนา

สรุปแล้ว "ทำไมโรงเรียนจึงไม่สอนให้นักเรียนใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในการศึกษาสังคม" ก็เพราะสังคมศาสตร์ในโรงเรียนต้องการสอนให้นักเรียนเชื่อง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนเป็นวิชาของชนชั้นปกครอง สังคมศาสตร์ในโรงเรียนไม่ใช่ "ศาสตร์" แต่เป็นลัทธิความเชื่อบ้าง เป็นนิทานบ้าง เป็นเครื่องมือกล่อมเกลาครอบงำบ้าง หรือที่ถูกควรจะเรียกว่าเป็น "สังคม(ไสย)ศาสตร์" เสียเลยจะดีกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย