Skip to main content

 

เมื่อ 13 มิถุนายน 2556 สำนักกิจการชาติพันธ์ุ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เชิญผมไปบรรยายก่อนการเปิดการประชุม ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประชาพิจารณ์แผนแม่บท "การพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง" มีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ เข้าร่วมกว่า 700 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐอีกกว่า 100 คน

<--break->

ผมเริ่มการบรรยายโดยตั้งคำถามว่า ที่ว่า "การพัฒนากลุ่มชาติพันธ์ุ" นั้น แท้จริงแล้วใครกันแน่ที่ควรได้รับการพัฒนา รากเหง้าของปัญหากลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทยคืออะไรกันแน่ จะมองการพัฒนาจากมุมมองของกลุ่มชาติพันธ์ุเองได้อย่างไร อะไรบ้างคือปัญหาปัจจุบันเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทย ทำอย่างไรจึงจะบริหารจัดการประเด็นชาติพันธ์ุในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ต่อไปนี้คือบันทึกที่เป็นโครงร่างของการบรรยาย

(1) การพัฒนาพหุสังคม

ที่ตั้งโจทย์ว่า "การพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์" ยังจำกัดไป เพราะมองกลุ่มชาติพันธ์ุเป็นผู้รับการพัฒนาฝ่ายเดียว แต่อันที่จริง รัฐเองก็ต้องนับตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย รัฐเองก็ต้องปรับตัว ต้องพัฒนาให้เท่าทันภาวะการณ์ใหม่ที่เปิดกว้างแก่กลุ่มชาติพันธ์ุด้วย นอกจากนั้น ภาคประชาสังคม ประชาชนทั่วไปก็จะต้องเข้ามาอยู่ในการพัฒนานี้ด้วย

ฉะนั้น เราอาจต้องเรียกเสียใหม่ว่า "การพัฒนาพหุสังคม" เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและสันติสุขระหว่างชนกลุ่มต่างๆ และระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธ์ุ และดังนั้น เราจึงต้องพิจารณาปัญหาไปถึงรากเหง้าของมัน โดยนำเอารัฐและประวัติศาสตร์การพัฒนาสังคมที่มองจากมุมมองของกลุ่มชาติพันธ์ุเข้ามาพิจารณา

(2) รากเหง้าของปัญหาชาติพันธ์ุ 

เกิดจากโครงสร้างรัฐกับชาติพันธ์ุ ในแต่ละประเทศมีแตกต่างกัน จึงก่อปัญหาแตกต่างกัน (เรื่องนี้ผมปรับมาจากงานของแอนโทนี รีด)

หนึ่ง แบบรัฐผสมปะปนชาติพันธ์ุหลากหลาย รัฐอ่อน ไม่เป็นเอกภาพแต่แรก กลุ่มชาติพันธุ์อ่อน เช่น ลาว กัมพูชา

สอง แบบรัฐใหม่จากที่ไม่เคยมีรัฐใหญ่มาก่อน รัฐเข้มแข็ง แต่เพราะไม่มีคนกลุ่มไหนครองอำนาจรัฐมาก่อน จึงอยู่กันได้ รัฐสร้างขึ้นมาใหม่เอี่ยม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย 

สาม แบบรัฐเดี่ยวที่มีอำนาจมากท่ามกลางชาติพันธุ์ชายขอบ รัฐเหล่านี้เข้มแข็ง รัฐแบบนี้สร้างขึ้นมาจากการมีคนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจอยู่ก่อน มีความสืบเนื่องของอำนาจในคนกลุ่มหนึ่ง สร้างภาวะรัฐศูนย์กลาง รัฐรอบนอก และกลุ่มชาติพันพันธ์ุชายขอบ เช่น ไทย พม่า เวียดนาม ปัญหาของรัฐเดี่ยวท่ามกลางชาติพันธ์ุชายขอบที่สำคัญคือ การสร้างภาวะอาณานิคมภายใน รัฐศูนย์กลางสร้างอาณานิคมภายในขึ้นมาเมื่อสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ทำให้กลุ่มชาติพันธ์ุกลายเป็นอาณานิคมของรัฐส่วนกลาง จากที่เดิมต่างก็มีอำนาจในการปกคริงตนเอง

ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาก เพราะมีรัฐชาติมานานก่อนเวียดนามและพม่า เวียดนามประสบปัญหาน้อยกว่า เพราะมีประวัติศาสตร์ร่วมกันสร้างชาติ พม่าประสบปัญหามากที่สุด เพราะกลุ่มชาติพันธ์ุมีมากยิ่งกว่าไทยและเวียดนาม ประกอบกับเลือกทางออกแบบพยายามสลายอำนาจและอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธ์ุอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม โดยรวมๆ แล้ว รัฐไทยมีอำนาจมาก กลุ่มชาติพันธ์ุมีอำนาจต่อรองน้อย จึงถูกรัฐเองนั่นแหละละเมิดเอาได้ง่าย เช่น เรื่องสิทธิการเป็นพลเมือง ก่อนนี้หรือในบางพื้นที่หรือกับบางกลุ่มที่ถูกเพิกเฉยละเลย หรือได้สิทธิแต่ก็ยังไม่เท่าคนไทย เรื่องสิทธิที่ทำกิน เช่น การประกาศที่อุทยานทับชุมชนชาวบ้าน การไม่ยอมรับป่าชุมชน ตลอดจนสิทธิในการรักษาสืบทอดอัตลักษณ์ กรณีมุสลิมชัดที่สุด กรณีเขมร กรณีลาวทำจนเขาไม่อยากเป็นเขมร ไม่อยากเป็นลาว

(3) ประเด็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน

ปัญหาพื้นฐานที่สุด รุนแรงที่สุดคือ ปัญหาสิทธิพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิพลเมือง สิทธิที่ทำกิน สิทธิแรงงาน การละเมิดของรัฐ ข้อจำกัดในการเข้าสู่โลกสมัยใหม่

ปัญหาระดับต่อมาคือ สิทธิวัฒนธรรม ผู้คนในประเทศนี้ยังไม่ได้สามารถแสดงออก ดำรงชีวิตตามสิทธิทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการแสดงอัตลักษณ์ไม่ใช่แค่เรื่องการแสดงออกอย่างฉาบฉวย ไม่ใช่เรื่่องการแสดงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่คือการดำเนินชีวิตในแบบที่เขาเชื่ ทั้งนี้น้งไม่ขัดกับสิทธิพื้นฐานของผู้อื่น กระนั้นก็ตาม 

แต่ละกลุ่มชาติพันธ์ุจะไม่อ้างสิทธิวัฒนธรรมเหนือสิทธิพื้นฐานส่วนบุคคลไม่ได้ ไม่ว่าจะในระดับชุมชนหรือระดับชาติ จะอ้างว่าลูกหลานต้องเคารพวัฒนธรรมตนเอง ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตตนเองไม่ได้ เพราะนั่นจะละเมิดสิทธิพื้นฐานขิงคนรุ่นใหม่ หรือจะอ้างสิทธิวัฒนธรรมตน แล้วละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนในสังคมโดยรวมก็ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องชั่งตวง ต้องยอมรับกันทั้งสังคม ต้องหาจุดรอมชอมกัน 

สังคมพหุวัฒนธรรม ต้องสร้างสำนึกชาติพันธ์ุให้ทั้งสังคมยอมรับ ต้องมีค่านิยมแบบสัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) ไม่มีสังคมใด วัฒนธรรมใด เหนือหรือสูงกว่าสังคมอื่นวัฒนธรรมอื่น นี่คือคุณธรรมที่ต่อต้านเผ่าพันธ์ุนิยม ต่อต้านชาตินิยมแบบสุดขั้วที่เห็นแต่ชนชาติตนเองสูงส่ง นี่คือค่านิยมต่อต้านการหลงชาติพันธ์ุตนเอง (anti-ethnocentrism) และต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างกัน ทุกวันนี้เราส่งเสริมเรื่องนี้กันน้อยมาก

(4) การดำเนินกิจการชาติพันธ์ุอย่างยั่งยืน

ลำพังเนื้อหา ประเด็นที่สวยหรูอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้เกิดเป็นจริงได้ หากเราไม่ได้ออกแบบองค์กรให้สามารถดำเนินนโยบายได้จริง

ระบบตัวแทนแบบเลือกตั้งทั่วไปช่วยไม่ได้ เพราะแต่ละกลุ่มชาติพันธ์ุมีประชากรน้อย หากมีตัวแทน ก็จะไม่สามารถแสดงออกได้เต็มที่ กรณีพม่าและไทย การพัฒนาประชาธิปไตยอาจจะไม่ช่วยอะไรให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุมากนัก เพราะเขามีจำนวนตัวแทนไม่เพียงพอ เวียดนามใช้ระบบการเมืองท้องถิ่น และระบบการมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธ์ุเข้าไปในสภาและในศูนย์กลางอำนาจระดับสูง แต่เขาทำได้เพราะมีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่พรรคเดียว ของไทยทำแบบนั้นไม่ได้ 

กรณีของไทย ผมเสนอรูปแบบ "สภากลุ่มชาติพันธ์ุและชนเผ่าพื้นเมือง" 

ด้านที่มาของอำนาจ ต้องมีการลงทะเบียนกลุ่มชาติพันธ์ุ จัดการเลือกตั้งสมาชิกแบบสัดส่วน อยู่ในตำแหน่งตามวาระ 4 ปี เชื่อว่าในสภา ชนกลุ่มเล็กๆ จะรวมตัวกันต่อรองกับชนกลุ่มใหญ่ได้ ด้านอำนาจหน้าที่ สภากลุ่มชาติพันธ์ุฯ มีหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ มีอำนาจฟ้องร้องเอาผิดกับบุคคล นิติบุคคล และหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิ มีหน้าที่เสนอกฎหมายด้านกลุ่มชาติพันธ์ุให้รัฐสภา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอัตลักษณ์ สร้างเวทีนานาชาติ ในการนี้ ต้องมีหน่วยงานอย่างสำนักกิจการมีฐานะเป็นเอกเทศ เป็นฝ่ายบริหารงาน ประสานงาน และเป็นเลขานุการของสภาฯ

สุดท้ายผมกล่าวสรุปว่า "พ่อแม่พี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ุที่มาร่วมประชุมในสองวันนี้ทุกท่าน พวกท่านกำลังจะร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย ที่เรามีวันนี้ได้ พูดได้ว่ารัฐไทยตาสว่างขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว แต่พวกท่านต้องไม่เกรงใจ ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา ต้องกล้าบอกว่ารัฐนั่นแหละที่ละเมิดกลุ่มชาติพันธ์ุมาตลอดในด้านต่างๆ ต้องบอกให้สังคมเข้าใจชีวิตเรา ต้องหาวิธีการจัดการที่พวกท่านจะมีส่วนร่วมได้มากที่สุด เพื่อการพัฒนาไม่เพียงพวกท่าน แต่พัฒนาทั้งรัฐและสังคมโดยรวมไปสู่ภาวะพหุสังคมพร้อมๆ กัน"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด