Skip to main content

ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์

ภาพที่เห็นเป็นผลการสำรวจ "ความคิดเห็นต่อการแต่งกายเข้าห้องเรียนของนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2555" (ปีกลาย) ที่อาจารย์ท่านหนึ่งนำมาเผยแพร่ในกลุ่มเพื่อนคณาจารย์ แต่ผมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าอาย น่าอดสู ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้หมกมุ่นเอาจริงเอาจังกับเรื่องไร้สาระเช่นนี้ จึงขอถือวิสาสะนำมาเปิดเผยในที่แจ้งมากขึ้น ผมมีข้อสังเกตดังนี้

1) ถ้าดูเฉพาะผลการสำรวจโดยยังไม่ใส่คุณค่าใดๆ จะเห็นได้ว่าคณะทาง "สายวิชาชีพ" ใส่ใจกับการแต่งกาย "สุภาพ" มากกว่าคณะทาง "สายวิชาการ" คณะทาง "วิทยาศาสตร์" ใส่ใจกับการแต่งกายสุภาพมากกว่าคณะทาง "สังคมศาสตร์" และ "มนุษยศาสตร์"

แต่ต้องบันทึกไว้ด้วยว่า ความ "ใส่ใจ" นี้ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากสำนึกของนักศึกษาเอง แต่อาจจะมาจากการกำกับควบคุมอย่างเข้มงวดของคณาจารย์และคณะต่างๆ เอง หรือมาจากทั้งสองฝ่าย

2) เมื่อผมเผยแพร่ข้อสังเกตนี้ไปในพื้นที่อื่นเมื่อวาน (24 มิถุนายน 2556) ผมใช้คำว่า "เครื่องแบบ" แทนที่จะเป็นคำว่า "การแต่งกายสุภาพ" แต่มีผู้ทักท้วงว่า การสำรวจนี้เขาสำรวจเรื่องการแต่งกายสุภาพ ไม่ได้สนใจเครื่องแบบ และหลายคณะในธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องใส่เครื่องแบบอย่างจริงจัง แต่ผมคิดว่านั่นเป็นการเลี่ยงคำ อาจจะเพราะเกรงการครหาว่าธรรมศาสตร์บังคับให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบ

ที่จริงมีทั้งการรณรงค์และการบังคับให้สวมเครื่องแบบในพื้นที่และโอกาสที่ผู้รณรงค์ (คงไม่ต้องบอกนะครับว่าใคร) และผู้ควบคุมสถานที่ระบุว่า "เพื่อเหมาะสม" ในแง่นี้ "การแต่งกายสุภาพ" ในส่วนใหญ่ ย่อมหมายถึงการแต่งเครื่องแบบ

แต่เอาล่ะ หากถือว่าการสำรวจนี้ต้องการสำรวจเพียง "ความสุภาพ" ของการแต่งกาย ก็ยังต้องถามต่ออีกว่า อะไรคือ "ความสุภาพ" ที่ว่านั้น และผมคิดว่าข้อสังเกตต่อไปข้างล่าง ซึ่งไม่ได้ใช้คำว่า "เครื่องแบบ" ตั้งแต่เมื่อเผยแพร่ครั้งแรก ก็ยังใช้ได้กับการสำรวจความสุภาพของการแต่งกายอยู่ดี

3) หากจะลองตีความผลการสำรวจดังภาพดู ผมคิดว่าเหตุที่คณะทางสายวิชาชีพและสายวิทยาศาสตร์มีความเข้มงวดมากกว่านั้น เพราะสายวิชาชีพต้องการการควบคุม ต้องการวินัยมาก ทางคณะจึงต้องการเตรียมนักศึกษาให้ออกไปเป็นผู้ใช้แรงงานระดับกลาง ระดับสูง ที่มีวินัย เชื่อฟังเจ้านาย เชื่อฟังระบบระเบียบ รับการสั่งการได้ง่าย

ส่วนสายวิทยศาตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นั้น ผมไม่เข้าใจว่าจะเข้มงวดไปทำไม นอกจากว่าทั้งคณาจารย์และศิษย์นั้นเคยชินกับการเป็น "เด็กดี" เชื่อฟังระบบระเบียบ หรือไม่อย่างนั้น โดยธรรมเนียมของวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ ที่ต้องเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนกว่าอยู่แล้ว จึงยอมรับระเบียบได้ง่ายกว่า

ผิดกับสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่โดยสาขาวิชาการแล้ว ถูกสอนให้ตั้งคำถามกับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกทำให้มีความเชื่อมั่นในความคิดความเห็นของตนเอง ทั้งจากเนื้อหาวิชาเอง และจากการเรียนการสอนที่มักให้นักศึกษาคิดเอง ตัดสินใจเอง ใช้เหตุใช้ผลอย่างอิสระเองมากกว่า ทั้งคณาจารย์และนักศึกษาจึงมีและให้อิสระในการแต่งกายมากกว่า

4) การวิจัยนี้ไม่เป็นกลางอย่างแน่นอน ซึ่งที่จริงก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะจะหาการวิจัยที่ไหนที่ปราศจากคุณค่าอย่างเด็ดขาดนั้นไม่มีหรอก แม้ว่าจะเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม (คงไม่ต้องให้ผมไปหาเอกสารอ้างอิงมายืดยาวเพื่อยืนยันกันหรอกนะ) แต่ที่สำคัญกว่าคือ คุณค่าแบบไหนกันที่การสำรวจนี้เชิดชูยกย่อง และต้องถามต่อว่า คุณค่าแบบนั้นเหมาะสม สอดคล้องกับการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือไม่

งานวิจัยนี้ไม่เป็นกลางในแง่ของการใส่คุณค่าทางสังคมให้กับการแต่งชุดนักศึกษาตั้งแต่แรก หากวัดคุณค่าด้าน "ความรักอิสระ" "ความคิดสร้างสรรค์" "ความเป็นตัวของตัวเอง" "การให้อิสระแก่นักศึกษา" ตารางนี้จะต้องถูกกลับหัวกลับหางแน่นอน แต่ตารางนี้เลือกวัดคุณค่าจาก "ความมีวินัย" "การยอมรับกฎระเบียบ" "ความเชื่อง" "การเข้มงวดต่อนักศึกษาของคณาจารย์" ตารางนี้จึงเป็นอย่างที่เห็น

การสำรวจนี้จึงแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน่วยงานใดที่ทำตารางนี้ออกมา และหน่วยงานใดหรือคณาจารย์ท่านใดที่เต้นตามตารางนี้ กำลังทำให้เรื่องการแต่งกายกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรม เป็นศีลธรรมของการควบคุมคน ไม่ใช่หลักการของการสอนให้คนคิดเป็น สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในตนเอง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า พวกเขาอาจกำลังสับสนระหว่างการให้การศึกษาที่มันสมองกับการสั่งสอนศีลธรรมบนเรือนร่าง ยังไม่นับว่าการแต่งกายไม่ได้สอนให้คนเป็นคนดีจากข้างในจิตใจแต่อย่างใด

5) น่าสงสัยว่า อะไรคือตัวชี้วัดความ "สุภาพ" ความ "ไม่สุภาพ" ของการแต่งกาย ถ้าจะดูกันเพียงแค่นี้ โดยยังไม่ต้องดูเรื่องการสุ่มตัวอย่าง การกระจายตัวอย่าง การคิดค่าทางสถิติ และแง่มุมทางระเบียบวิธีวิจัยอีกร้อยแปด (นี่เป็นสำนวนนะครับ ไม่ต้องมาให้ลิสต์กันล่ะว่า 108 ที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง) ก็ยิ่งทำให้สงสัยว่า ทำไมผู้บริหารบางคนบางคณะ ที่ต่างก็อวดอ้างกันว่ามีความรู้ความสามารถ ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิตทางการวิจัยอะไรต่างๆ จะตื่นเต้นอะไรกับผลการสำรวจงูๆ ปลาๆ นี้ได้ 

นี่ยังไม่นับว่า เขาใช้วิธีสำรวจอย่างไร ผมได้ยินมาว่ามีการสำรวจด้วยการถ่ายรูปนักศึกษาบริเวณคณะต่างๆ หากทำอย่างนั้น ก็น่าสงสัยว่าจะผิดจริยธรรมของการวิจัยหรือไม่ ที่สำรวจด้วยการตัดสินคุณค่าโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถูกวิจัยทราบว่ากำลังถูกตัดสินคุณค่าอยู่ แต่ในเมื่อผู้สำรวจมีธงยู่ก่อนแล้วว่า ตนเองมีมาตรฐานการวัดคุณค่าอย่างไร ก็แปลว่าผู้สำรวจเข้าใจว่าตนเองมีคุณค่าทางศีลธรรมเหนือกว่าผู้ถูกสำรวจ ในแง่นี้ก็คงไม่ต้องพูดกันเรื่องจริยธรรมของการวิจัย

แต่ที่ตลกคือ หากหน่วยงานของมหาวิทยาลัยทำการสำรวจเอง แล้วทำวิจัยที่มีนัยส่อในทางละเมิดจริยธรรมของการวิจัยเสียเองแล้ว หน่วยงานของมหาวิทยาลัยจะมีความชอบธรรมในการใช้มาตราฐานทางจริยธรรมของการวิจัยไปตัดสินใครได้ ในเมื่อตนเองก็ยังละเมิดเสียเอง

นี่แหละครับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันครบรอบ 81 ปีการอภิวัฒน์สยาม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน