Skip to main content

ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 

ประการแรก "การปรองดอง" ขอย้อนกลับไปในตอนแรกก่อตั้ง ศปช. ขึ้นมา คณะทำงานถกเถียงกันมากว่าจะค้นหาความจริงทุกด้านทุกมุมของความรุนแรงหรือไม่ แต่ในที่สุด ศปช. วางตำแหน่งของงานตนเองไว้ที่การเสนอข้อมูลที่เป็นทางเลือกจากการทำงานของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พูดง่ายๆ ก็คือ ศปช. ตั้งใจถ่วงดุลกับ คอป. เนื่องจากไม่ไว้ใจ คอป. ที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลซึ่งก่อเหตุรุนแรง และไม่เห็นด้วยกับหลักการของ คอป. ที่ประกาศแต่แรกว่าจะไม่มุ่งตอบว่าใครผิด แต่จะมุ่งความปรองดอง 

 

จากมุมที่ผมเห็น ไม่ใช่ว่า ศปช. ไม่ได้ต้องการความปรองดอง หากแต่ ศปช. วางกรอบของความปรองดองต่างออกไป ศปช. วางกรอบการปรองดองจากการพิจารณาข้อเท็จจริงของความรุนแรงและการมุ่งผลตัดสินความผิดของผู้ก่อความรุนแรง เพื่อให้ความยุติธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ศปช. เห็นว่า การปรองดองจะไม่เกิดขึ้นหากไม่ได้มุ่งตัดสินให้ได้ว่าใครผิด ผิดอย่างไร

 

ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังมุ่งหวังให้เกิดการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่จะหยุดยั้งการเพิกเฉยไม่เอาผิดต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ ทั้งนี้เพื่อตัดวงจรการใช้ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ประการที่สอง "ผู้ก่อความรุนแรงและผู้สูญเสีย" ศปช. ตั้งโจทย์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คือความรุนแรงโดยรัฐ เนื่องจากข้อเท็จจริงเบื้องต้นหลังเหตุการณ์ใหม่ๆ ชี้ชัดว่ารัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังเช่นการที่รัฐใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามเพื่อควบคุมฝูงชนตั้งแต่ก่อนที่จะมีการใช้กำลังตอบโต้จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือการที่ผู้บริสุทธิ์คืออาสาสมัครพยาบาลและสื่อสวลชน บาดเจ็บ ถูกสังหาร จากทิศทางของกระสุนที่มาจากทหาร ความสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงโดยรัฐนี้เทียบกันไม่ได้กับความความสูญเสียที่เกิดจากการชุมนุม

 

นี่คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างรายงานของ ศปช. กับของ กสม. รายงานของ กสม. นั้น มุ่งถ่วงดุลของความรุนแรงเสียจนกระทั่งกลายเป็นว่า ผลสรุปของรายงาน กสม. เป็นการปกป้องอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่มีข้อเท็จจริงมากมายชี้ว่า รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม ส่วนรายงานของ ศปช. นั้นมุ่งปกป้องสิทธิของผู้สูญเสีย ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นผู้ชุมนุมหรือไม่ก็ตาม

 

ต่อประเด็นนี้ อันที่จริง กสม. ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยปละละเลยให้เหตุการณ์ล่วงเลยมาจนถึงการที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะใช้กำลังสลายการชุมนุม เพราะหาก กสม. แสดงบทบาทอย่างทันท่วงที แสดงท่าทีอย่างแข็งขันในการทัดทานการใช้กำลังทหารและอาวุธสงครามกับผู้ชุมนุม เหตุการณ์ก็จะไม่เลวร้ายเท่านี้

 

ประการที่สาม "มุมมองจากผู้สูญเสีย" ศปช. มุ่งนำเสนอมุมมองของผู้สูญเสีย แต่ กสม. เสนอมุมมองจากเบื้องบน จากผู้มีอำนาจ เหตุผลที่ ศปช. มุ่งมุมมองจากผู้สูญเสียนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ ศปช. มีทุนและจำนวนคนจำกัด ศปช. ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ ไม่มีอำนาจเข้าถึงข้อมูลในระดับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างครบถ้วน ศปช. จึงเลือกรวบรวมข้อเท็จจริง เก็บรายละเอียดจากพยานแวดล้อมและผู้ได้รับผลกระทบ จากมุมของผู้สูญเสียเป็นหลัก ยิ่งกว่านั้น ศปช. ยังแยกแยะผู้ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ ตั้งแต่ผู้สูญเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ถูกจับกุมคุมขัง ผู้ถูกดำเนินคดี ทำให้สามารถใช้เป็นกรอบในการดำเนินการเยียวยาต่อไปได้

 

ถึงกระนั้น ศปช. ก็ใช่ว่าจะสามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกกรณี ศปช. เลือกกรณีที่พิสูจน์ได้ชัดเจนว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อผู้บริสุทธิ์ และกรณีที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ นอกจากนั้น ศปช. ยังมีข้อมูลการเผาสถานที่ราชการจากต่างจังหวัด ทำให้ ศปช. พบว่าผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุแต่อย่างใด 

 

แต่จะเห็นได้ว่า ข้อมูลรายบุคคล รายกรณีของจุดปะทะ รายละเอียดของเหตุการณ์จากมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบ รายละเอียดของผู้ได้รับผลกระทบ เป็นข้อมูลที่ขาดหายไปจากรายงานของ กสม. รายงานของก กสม. จึงไม่สามารถชี้ความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และไม่สามารถใช้วางกรอบการเยียวยาได้ ขณะที่ในรายงานของ กสม. เอง ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างพิสดารมากมายนัก มีแต่เพียงปากคำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ย่อมต้องวางอยู่บนอคติของเจ้าหน้าที่ รายงานของ กสม. จึงไม่สามารถใช้ตรวจสอบการกระทำผิดโดยรัฐได้อย่างถี่ถ้วน ข้อมูลของ กสม. จึงขาดความสมบูรณ์ไม่ว่าจะมองจากมุมผู้สูญเสียหรือมุมผู้ก่อความรุนแรงคือรัฐ

 

ประการสุดท้าย "ที่มาของอำนาจ" กสม. เป็นหน่วยงานของรัฐ ถูกก่อตั้งขึ้นมาโดยขาดการโยงใยกับประชาชน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับเงินเดือนประจำตำแหน่งสูงๆ และมีความใกล้ชิด มีผลประโยชน์พัวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ ถือตนว่าเป็นคนของรัฐ จึงน่าสงสัยว่าจะมิได้มีอุดมการณ์สอดคล้องไปกับอุดมการณ์ในการก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา และน่าสงสัยว่าจะไม่ได้มีอุดมการณ์ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากพอ ผลงานจึงไม่ได้สะท้อนจิตวิญญาณของนักสิทธิมนุษยชนอย่างที่หน่วยงานนี้กล่าวอ้าง

 

หากแต่ ศปช. ไม่ได้พิจารณาการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพียงในกรอบของกฎหมายดังที่ กสม. กระทำ ศปช. ทำงานในกรอบของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้กำกับ อยู่เหนือกรอบของกฎหมายอีกที หากว่ากฎหมายยอมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน นักสิทธิมนุษยชนย่อมไม่อาจยอมได้ ต่างจากท่าทีต่อหลักการสิทธิมนุษยชนในรายงานของ กสม. ที่แสดงให้เห็นว่า กสม. ยึดหลักของกฎหมายเหนือหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มุ่งตรวจสอบรายละเอียดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ดูดายกับการที่รัฐใช้กำลังอาวุธสงครามปราบปรามผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธด้วยการอ้างหลักกฎหมาย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย