Skip to main content

ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป

(1) รื้อฟื้นเกียรติภูมิของธรรมศาสตร์และคณะราษฎร ในฐานะมหาวิทยาลัยที่เกิดมาเพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่จะต้องยืนหยัดคือ ธรรมศาสตร์และบุคคลากรธรรมศาสตร์จะต้องไม่ฝักใฝ่เผด็จการ ไม่ฝักใฝ่อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่รับใช้คณะรัฐประหาร กระทั่งจะต้องต่อต้านรัฐประหารด้วยซ้ำไป 

ตามหลักการดังกล่าว ผู้ตอบรับการเสนอชื่อเพื่อดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนต่อไปจะต้องให้สัญญาต่อประชาคมธรรมศาสตร์ว่า หากเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อใดก็ตาม ผู้ที่ไปเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารจะต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างรุนแรงและได้รับโทษอาญาแผ่นดินตามกฎหมาย หากไม่สามารถต้านทานได้ อธิการบดีและคณะผู้บริหารก็สมควรเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งในทันทีโดยไม่เกรงกลัวกับอำนาจข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ดีเสียกว่าเข้าไปอยู่ในวังวนของอำนาจอธรรมศาสตร์

(2) รักษาความเป็นอิสระในการบริหารมหาวิทยาลัย ด้วยการไม่โอนอ่อนให้กับหน่วยงานภายนอก กล้าต่อรองกับหน่วยงานประกันคุณภาพต่างๆ อย่างสมศักดิ์ศรีของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สกอ. สมศ. กพร. ไม่ไหลตามองค์กรที่มีสติปัญญาจำกัด ไร้วิสัยทัศน์ แต่กลับมีอำนาจเหมือนสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจะออกนอกระบบราชการ มหาวิทยาลัยก็จะต้องรักษาความเป็นอิสระให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทุกวันนี้มหาวิทยาลัยพึ่งตนเองในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ก็ย่ิงจะต้องเป็นอิสระในการบริหารมากขึ้น

ในระยะเฉพาะหน้านี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงสมควรที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขระบบการประกันคุณภาพ ต่อสู้เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการประกันคุณภาพ สร้างระบบประเมินคุณภาพการศึกษาที่เหมาะสมกับความก้าวหน้าของสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และบรรดาศาสตร์วิชาชีพ

(3) เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ทุกวันนี้ระบบที่บั่นทอนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งคือระบบการสอนปริญญาตรีภาคปกติ ที่ส่วนใหญ่ยังคงสอนในระบบคาบละชั่วโมงครึ่ง แทนที่จะเป็น 3 ชั่วโมงแบบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป เหตุผลมากมายที่ควรปรับมีดังนี้ 

- ห้องเรียนชั่วโมงครึ่งไม่สามารถทำให้การเรียนการสอนต่อเนื่องได้ ยังไม่ทันที่จะเข้าประเด็นอะไรอย่างลึกซ้ำ ก็หมดเวลาเสยแล้ว หรือหากจะต่อเนื่องประเด็นยกยอดไปคาบถัดไป ก็จะต้องกลับมาย้อนเท้าความกันใหม่ การเรียนการสอนแบบครั้งละชั่วโมงจึงมีผลเสียต่อประสิทธิภาพของการเรียนการสอนในปัจจุบันอย่างยิ่ง 
- ข้ออ้างเรื่องสมาธิของนักศึกษาไม่สามารถใช้ได้ต่อไป เพราะหลักสูตรปริญญาตรีโครงการพิเศษล้วนใช้เวลาคาบละสามชั่วโมงทั้งสิ้น และยังมีบางคณะเริ่มจัดการเรียนการสอนคาบละ 3 ชั่วโมงในภาคปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร
- ทุกวันนี้เพื่อสอนวิชาหนึ่งให้ครบ 3 ชั่วโมง อาจารย์ต้องเดินทางไปรังสิตที่อาจใช้เวลาเดินทางถึง 4-5 ชั่วโมง เพื่อสอนเพียงชั่วโมงครึ่งในแต่ละวัน ไหนจะต้องเสี่ยงกับการเดินทางไกลมากวันขึ้น ไหนจะสิ้นเปลืองพลังงานมากขึ้น 

เหตุผลเหล่านี้น่าจะเพียงพอให้ลบคำกล่าวของบางหน่วยงานที่คอยบอกปัดที่จะเปลี่ยนแปลงระบบ อาจเพียงเพราะขี้คร้านที่จะปรับเปลี่ยน

(4) ยกเลิกการมีชุดนักศึกษา มหาวิทยาลัยไม่ใช่โรงเรียนทหาร ไม่ใช่โรงงาน ไม่ใช่บริษัท ไม่ใช่ที่ฝึกงาน จึงไม่จำเป็นต้องบังคับเรื่องการแต่งกาย ชุดนักศึกษาเป็นการกดขี่ปิดกั้นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน คือการแสดงออกในร่างกายตัวตนของนักศึกษา นักศึกษาต้องสามารถเลือกและตัดสินใจเองได้ว่า อะไรควรอะไรไม่ควร แม้ทุกวันนี้ผู้บริหารจะบอกว่าชุดนักศึกษาเป็นทางเลือก แต่หลายคณะก็ยังใช้อำนาจบังคับให้นักศึกษาสวมชุดนักศึกษา นักศึกษาต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตนของตนเอง ไม่ใช่ต้องให้ใครมาบอกว่าจะแต่งตัวอย่างไร 

หากจะอ้างเรื่องเศรษฐกิจ ทุกวันนี้เสื้อผ้าสุภาพถูกกาละ-เทศะที่มีราคาต่ำกว่าชุดนักศึกษามีมากมาย อันที่จริง หากใช้เกณฑ์ทางเศรษฐกิจ อาจารย์นั่นแหละที่ควรสวมชุดนักศึกษา เพราะอาจารย์มีรายได้ต่ำกว่านักศึกษาบางคนเสียอีก อีกประการหนึ่งคือ สมัยนี้ชุดนักศึกษากลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง กลายเป็นว่าใครได้ใส่ชุดนักศึกษาจะเป็นคนพิเศษ เป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง ทำให้นักศึกษาแปลกแยกจากประชาชนทั่วไป ปัจจุบันนี้ ชุดนักศึกษายังกลายเป็นวัตถุทางเพศ ไม่ได้มีอยู่เพื่อเหตุผลเรื่องความประหยัดหรือความเรียบร้อยอีกต่อไป

(5) อภิวัฒน์การเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป (general education) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ริเริ่มจัดการศึกษาแบบ liberal arts ด้วยการยืนยันให้นักศึกษาต้องเรียนรู้กว้าง รู้ข้ามสาขา เพื่อให้นักศึกษาเป็นคนที่สมบูรณ์ ไม่เป็นคนมิติเดียว จึงเป็นผู้นำในการจัดการเรียนการสอนวิชาการศึกษาทั่วไป 

แต่ทุกวันนี้การจัดการเรียนการสอนกลุ่มวิชานี้ในปีหนึ่งกำลังเดินสวนทางกับความเป็น "วิชาการศึกษาทั่วไป"  ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเข้าใจผิดคิดว่าวิชาเหล่านี้เป็น "วิชาพื้นฐาน" วิชาเหล่านี้ส่วนมากมีห้องเรียนขนาดใหญ่ อาจารย์จะต้องให้ความรู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง เรื่องที่สอนจึงไม่สอดคล้องกับความชำนาญ ทั้งคนสอนและคนเรียนจึงสูญเสีย นอกจากนั้น ผู้เรียนยังไร้ฉันทะในการเรียน หรือยังไม่มีวุฒิภาวะและความรู้เพียงพอในการเรียนรู้ข้ามสาขาวิชา นี่ยังไม่นับว่าบางวิชาถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวนทางกับหลักการของ liberal arts จนกลายเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางวิชาการของผู้สอน บังคับให้ผู้สอนต้องสอนตามโพยของผู้ประสานงานวิชานั้น แล้วปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร

หากจัดให้การเรียนกลุ่มวิชาเหล่านี้เป็นการเรียนตลอดสี่ปี ไม่จำเป็นต้องเรียนให้หมดภายในหนึ่งปี และเปลี่ยนให้อาจารย์เลือกสอนวิชาที่ตนเองถนัด กลุ่มวิชานี้จึงจะพ้นสภาพการเป็นวิชาพื้นฐาน กลายเป็นการศึกษาทั่วไปได้อย่างแท้จริง

แน่นอนที่สุดว่าการบริหารมหาวิทยาลัยย่อมมีประเด็นใหญ่ๆ สำคัญๆ ที่ครอบคลุมผลกระทบต่อผู้คนและสังคมอื่นๆ อีกมาก และแน่นอนว่าข้อเสนอข้างต้นเป็นเพียงประเด็นเร่งด่วนพื้นฐาน ที่แม้หากจะไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ข้างต้นเลย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะผู้บริหารใหม่ก็คงยังไม่เสื่อมสลายไป แต่ผมก็ยังเห็นว่า การที่จะให้ธรรมศาสตร์กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดทั้งนักศึกษา บุคคลากร และอาจารย์ที่มีคุณภาพให้มาร่วมพัฒนาธรรมศาสตร์ ที่สามารถกลายเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับนานาชาติได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้วยความรักธรรมศาสตร์

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา