Skip to main content

จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ

พวกคุณผู้ใหญ่หรือใครก็ตามที่คิดว่าสนใจการเมือง พวกคุณโดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่ๆ น่ะ สนใจการเมืองแบบไหน แล้วการเมืองแบบที่พวกคุณสนใจน่ะ ทำไมพวกนักศึกษา พวกวัยรุ่นในปัจจุบันเขาถึงไม่สนใจกัน แล้วหากพวกนักศึกษาเขาสนใจการเมืองแบบอื่นล่ะ พวกคุณจะอยากเข้าใจเขาไหม หรือเพราะเขาสนใจการเมืองในแบบที่พวกคุณไม่เข้าใจ ไม่สนใจ พวกคุณจึงมองเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ แล้วก็คอยดูแคลนพวกนักศึกษาสมัยนี้ว่าพวกเขาไม่สนใจการเมือง

การเมืองของนักศึกษาในปัจจุบันไม่เหมือนการเมืองรุ่นพวกคุณผู้ใหญ่ทั้งหลาย เพราะการเมืองของพวกเขาไม่ได้มีเผด็จการใส่ชุดเขียว-สวมรองเท้าบู๊ท-ยืนถือปืนให้เห็นตรงไปตรงมาเป็นคู่ต่อกรด้วย การเมืองของพวกเขาไม่ใช่ต้องต่อสู้กับทุนนิยมหยาบช้าที่คอยขูดรีด-สะสมทุน-กักตุนความมั่งคั่ง

แต่การเมืองของพวกเขาคือการต่อสู้กับเผด็จการใกล้ตัวที่ปากถือศีล คือการต่อต้านอำนาจบงการควบคุมร่างกาย คำพูด ภาษา การแสดงออกในนามของศีลธรรมอันดีงามและความเป็นไทย การเมืองของพวกเขาต่อสู้กับการกดทับผ่านระเบียบ พิธีกรรมไร้สาระที่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน การเมืองของพวกเขาต่อสู้กับการควบคุมการใช้ร่างกาย การดื่มกิน ในนามของสุขภาวะ 

มันไร้สาระสิ้นดีหากคุณจะไปเที่ยวคอยอบรมสั่งสอนให้พวกนักศึกษามีจิตสาธารณะ แต่เมื่อพวกเขาชวนคุยเรื่องเครื่องแบบ เรื่องสิทธิในการได้รับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกด้วยการแต่งกาย เรื่องการเรียนการสอนที่ต้องเปิดกว้างทางความคิด พวกคุณบอกนักศึกษาพวกนี้ยังต้องได้รับการฝึกฝนวินัย

มันไร้สาระสิ้นดีที่พวกคุณจะไปคอยเปิดวีดีโอ 14 ตุลา 6 ตุลา ให้พวกเขาดู แต่เมื่อเขาหันมาวิพากษ์พวกคุณอย่างรุนแรง ตรงไปตรงมา ในประเด็นการเมืองเรื่องร่างกาย ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิทธิการแสดงออกขั้นพื้นฐาน พวกคุณกลับจะเรียกเขามา "ตักเตือน" 

มันไร้สาระสิ้นดีที่พวกคุณติดป้ายโพนทะนาไปทั่วว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว แต่เมื่อเขาใช้เสรีภาพนั้น พวกคุณบอก ต้องมีขอบเขตบ้าง ต้องคำนึงถึงศีลธรรมอันดีงามบ้าง ทำไมไม่คุยกับเขาตรงไปตรงมาล่ะ ว่าเหตุผลของเขาเป็นอย่างไร แล้วเหตุผลของพวกคุณน่ะ เพียงพอที่จะโต้เถียงเขาไหม

การเมืองของนักศึกษาและวัยรุ่นปัจจุบันคือการเมืองวัฒนธรรม การเมืองของการแสดงตัวตน การเมืองอัตลักษณ์ การเมืองในชีวิตประจำวัน การเมืองเหล่านี้ส่งผลต่อการเมืองภาพใหญ่ในระยะยาว และไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่สนใจการเมืองภาพใหญ่ แต่ต่อให้พวกเขาชวนคุณสนทนาถึงการเมืองที่ใหญ่กว่านี้ คุณจะมีใจเปิดกว้างพอให้พวกเขาหรือเปล่า พวกคุณน่ะ ไม่ก้าวหน้าในการเมืองภาพใหญ่เท่าพวกเขาหรอก เชื่อเหอะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย