Skip to main content

คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า

น่าจะมีการสำรวจนะครับว่าความต้องการของคนในม็อบนกหวีดเป็นอย่างไรกันแน่ ในทางวิชาการ อาจจะยากสักหน่อยที่จะสรุปเอาจากการสำรวจรายวัน ว่าผลโพลในม็อบจะสะท้อนโครงสร้างความต้องการของม็อบนกหวีดโดยรวมได้หรือไม่ แต่ผมว่าหากทำได้ก็จะดีไม่น้อย แต่ที่จะลองคิดดูข้างล่างนี่ คิดดูจากเพื่อนๆ ที่รู้จักนิสัยใจคอกันมาอยู่บ้างมากกว่า 

ผมมีเพื่อนที่รู้จักคบหากันนานๆ หลายคนที่เป็นกองเชียร์และเข้าร่วมม็อบนกหวีดอย่างแข็งขัน ผมไม่เข้าใจพวกเขาเลยว่าทำไมพวกเขาจึงมีทัศนะทางการเมืองแตกต่างกับผมอย่างลิบลิ่ว แต่มาลองนึกๆ ดู ผมว่าพวกเขาไม่ได้ต่างจากผมนักหรอกในแง่หลักการทางการเมืองบางอย่าง เท่าที่คบกันมา พวกเขาไม่น่าจะหลงใหลถูกชักจูงง่ายๆ หรอก พวกเขาไม่มีทางจะเชื่อใจนายสุเทพหรอก พวกเขาอาจชื่นชอบพรรคปชป.อย่างยิ่งยวด แต่พวกเขาก็รู้ๆ กันอยู่นั่นแหละว่าพรรคปชป.ทำดีทำชั่วอะไรไว้บ้าง หากมวลชนม็อบนกหวีดบางคนไม่รู้ ผมก็ว่าอย่างน้อยเพื่อนๆ ผมก็รู้ดีอยู่ดีนั่นแหละ 

แน่นอนว่าผู้นำม็อบย่อมมีความสำคัญในแง่ของการดึงดูดใจมวลชน และจะเห็นได้ว่า หลังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ ล้วนกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี และอยู่ในระหว่างประกันตัวนั้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถมาออกหน้านำม็อบได้อย่างเคย การเข้ามารับหน้าที่นำม็อบของพรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจให้ฝูงชนผู้ชิงชังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แสดงตนอย่างเป็นตัวเป็นตนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การนำม็อบของปชป.จึงเป็นการรื้อฟื้นรูปธรรมของการต่อต้านทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง 

ส่วนเป้าหมายที่ว่าจะล้มระบอบทักษิณให้สิ้นซาก แล้วเปลี่ยนระบอบการปกครองไปให้อำนาจสถาบันกษัตริย์อย่างสมบูรณ์อะไรนั่นน่ะ คนที่เอาด้วยกับม็อบนกหวีดไม่ได้คิดในเชิงปฏิบัติการหรอก คือไม่ว่าคนบนเวทีจะว่าอย่างไร ผมคิดว่าเพื่อนผมจำนวนมากในม็อบนกหวีดก็คงจะไม่ได้เชื่ออะไรงมงายขนาดนั้นหรอก ก็คงมีนั่นแหละที่บางคนจะเชื่อว่าให้อำนาจสถาบันกษัตริย์ปกครองดีกว่าให้อำนาจนักการเมือง แต่ผมว่าถ้าเอาเข้าจริงๆ เกิดระบอบนั้นขึ้นจริงๆ พวกเขาก็ไม่เอาหรอก 

การยกสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาเป็นธงนำในม็อบนกหวีดนั้น หากวิเคราะห์ทางวิชาการแบบตรงไปตรงมา สถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นขั้วตรงข้ามเชิงสัญลักษณ์กับระบอบทักษิณมากกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น หน้าสิ่วหน้าขวาน องค์สัญลักษณ์นำทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมย่อมต้องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านกับอีกองค์สัญลักษณ์ที่ตนเป็นปฏิปักษ์ด้วย เพราะ "ทักษิณ = ความชั่ว" และจึงมีคู่ตรงข้ามคือ "สถาบันกษัตริย์ = ความดี" แต่เมื่อทำดังนั้นแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า นั่นจะยิ่งกลับทำให้องค์สัญลักษณ์หนึ่งที่ควรอยู่พ้นการเมือง กลับกลายมาเกลือกกลั้วในการเมืองไปเสีย 

ถึงที่สุดแล้ว หากกลับไป ณ จุดเริ่มต้นเมื่อมีการต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรม พวกเขาแค่ไม่พอใจรัฐบาล และที่ออกมากันมากขนาดนี้ ก็เพราะพวกเขาอัดอั้นตันใจมานานหลายปีแล้วที่ไม่สามารถให้ตัวแทนของพวกเขากลับเข้ามาบริหารประเทศได้ พวกเขาอาจจะคิดเพ้อเจ้อเลยเถิดไปบ้าง พวกเขาอาจจะสนุกกับอำนาจมือเปล่าของตนที่รัฐบาลไม่กล้าต่อกรจนเลยเถิดไปเดินเล่นในสถานที่ราชการแบบเด็กๆ ไปเที่ยววันเด็กบ้าง ก็แค่เป็นเพียงเพื่อคลายอารมณ์กลัดกลุ้ม

ผมว่าหากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้นำรัฐบาลยอมขอโทษประชาชน ทั้งประชาชนฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยสอดไส้นิรโทษกรรมทักษิณและผู้สั่งการสังหารประชาชนในปี 2553 พร้อมๆ กันนั้นก็วางกรอบของการปรับโครงสร้างการเมืองให้สอดคล้องกับการก้าวไปของประเทศในทิศทางให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้นอย่างมั่นคง สถาณการณ์เฉพาะหน้าก็น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง 

แต่เมื่อถึงวันนี้แล้ว ก็ไม่ทราบจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไรได้ ได้แต่หวังว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะยังคงแตกต่างจากผู้นำคนก่อนๆ หวังว่าเธอจะใช้ความอ่อนไหว ความเป็นแม่ ความเป็นหญิงในการปกครอง หวังว่าเธอจะยอมค้อมหัวให้ประชาชนมากเท่ากับที่ประชาชนจำนวนมากไว้วางใจเธอ และหวังว่าเธอและเครือข่ายจะคิดเร็ว และหาทางแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างนุ่มนวล ที่สำคัญคือ อย่าเอาหน้าแกนนำการชุมนุม ไปเป็นหน้ากากสวมแทนหน้าผู้ร่วมชุมนุม เพราะม็อบนกหวีดก็คือเพื่อนร่วมโลก คือมนุษย์ผู้คับข้องใจ พวกเขาไม่ได้ต้องการทำอะไรเลยเถิดเท่ากับที่แกนนำพวกเขาคุยฟุ้งว่าอยากทำหรอก 

ส่วนเพื่อนม็อบนกหวีด เมื่อรู้แล้วว่าประชาชนอย่างพวกคุณก็มีอำนาจ เสียงส่วนน้อยแบบอภิสิทธิ์ชนอย่างพวกคุณน่ะ รัฐบาลนี้เขากลัวจะตายอยู่แล้ว ออกมาจากสถานการณ์วันเด็ก แล้วคิดหาทางเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นรูปธรรมไม่ดีกว่าหรือ อำนาจมือเปล่าของพวกคุณน่ะไม่สามารถล้มระบอบทักษิณได้หรอก เพราะระบอบทักษิณที่คุณว่าน่ะไม่ได้อยู่ด้วยทักษิณและพรรคพวกอีกต่อไปแล้ว ระบอบที่ทักษิณมีส่วนสร้างขึ้นมา ได้กลายผลเป็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศโดยรวมไปแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย