Skip to main content

คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า

น่าจะมีการสำรวจนะครับว่าความต้องการของคนในม็อบนกหวีดเป็นอย่างไรกันแน่ ในทางวิชาการ อาจจะยากสักหน่อยที่จะสรุปเอาจากการสำรวจรายวัน ว่าผลโพลในม็อบจะสะท้อนโครงสร้างความต้องการของม็อบนกหวีดโดยรวมได้หรือไม่ แต่ผมว่าหากทำได้ก็จะดีไม่น้อย แต่ที่จะลองคิดดูข้างล่างนี่ คิดดูจากเพื่อนๆ ที่รู้จักนิสัยใจคอกันมาอยู่บ้างมากกว่า 

ผมมีเพื่อนที่รู้จักคบหากันนานๆ หลายคนที่เป็นกองเชียร์และเข้าร่วมม็อบนกหวีดอย่างแข็งขัน ผมไม่เข้าใจพวกเขาเลยว่าทำไมพวกเขาจึงมีทัศนะทางการเมืองแตกต่างกับผมอย่างลิบลิ่ว แต่มาลองนึกๆ ดู ผมว่าพวกเขาไม่ได้ต่างจากผมนักหรอกในแง่หลักการทางการเมืองบางอย่าง เท่าที่คบกันมา พวกเขาไม่น่าจะหลงใหลถูกชักจูงง่ายๆ หรอก พวกเขาไม่มีทางจะเชื่อใจนายสุเทพหรอก พวกเขาอาจชื่นชอบพรรคปชป.อย่างยิ่งยวด แต่พวกเขาก็รู้ๆ กันอยู่นั่นแหละว่าพรรคปชป.ทำดีทำชั่วอะไรไว้บ้าง หากมวลชนม็อบนกหวีดบางคนไม่รู้ ผมก็ว่าอย่างน้อยเพื่อนๆ ผมก็รู้ดีอยู่ดีนั่นแหละ 

แน่นอนว่าผู้นำม็อบย่อมมีความสำคัญในแง่ของการดึงดูดใจมวลชน และจะเห็นได้ว่า หลังจากที่แกนนำพันธมิตรฯ ล้วนกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินคดี และอยู่ในระหว่างประกันตัวนั้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถมาออกหน้านำม็อบได้อย่างเคย การเข้ามารับหน้าที่นำม็อบของพรรคประชาธิปัตย์จึงกลายเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจให้ฝูงชนผู้ชิงชังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้แสดงตนอย่างเป็นตัวเป็นตนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง การนำม็อบของปชป.จึงเป็นการรื้อฟื้นรูปธรรมของการต่อต้านทักษิณ ชินวัตรขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก็เท่านั้นเอง 

ส่วนเป้าหมายที่ว่าจะล้มระบอบทักษิณให้สิ้นซาก แล้วเปลี่ยนระบอบการปกครองไปให้อำนาจสถาบันกษัตริย์อย่างสมบูรณ์อะไรนั่นน่ะ คนที่เอาด้วยกับม็อบนกหวีดไม่ได้คิดในเชิงปฏิบัติการหรอก คือไม่ว่าคนบนเวทีจะว่าอย่างไร ผมคิดว่าเพื่อนผมจำนวนมากในม็อบนกหวีดก็คงจะไม่ได้เชื่ออะไรงมงายขนาดนั้นหรอก ก็คงมีนั่นแหละที่บางคนจะเชื่อว่าให้อำนาจสถาบันกษัตริย์ปกครองดีกว่าให้อำนาจนักการเมือง แต่ผมว่าถ้าเอาเข้าจริงๆ เกิดระบอบนั้นขึ้นจริงๆ พวกเขาก็ไม่เอาหรอก 

การยกสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาเป็นธงนำในม็อบนกหวีดนั้น หากวิเคราะห์ทางวิชาการแบบตรงไปตรงมา สถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นขั้วตรงข้ามเชิงสัญลักษณ์กับระบอบทักษิณมากกว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น หน้าสิ่วหน้าขวาน องค์สัญลักษณ์นำทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมย่อมต้องถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านกับอีกองค์สัญลักษณ์ที่ตนเป็นปฏิปักษ์ด้วย เพราะ "ทักษิณ = ความชั่ว" และจึงมีคู่ตรงข้ามคือ "สถาบันกษัตริย์ = ความดี" แต่เมื่อทำดังนั้นแล้ว ก็อดคิดไม่ได้ว่า นั่นจะยิ่งกลับทำให้องค์สัญลักษณ์หนึ่งที่ควรอยู่พ้นการเมือง กลับกลายมาเกลือกกลั้วในการเมืองไปเสีย 

ถึงที่สุดแล้ว หากกลับไป ณ จุดเริ่มต้นเมื่อมีการต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรม พวกเขาแค่ไม่พอใจรัฐบาล และที่ออกมากันมากขนาดนี้ ก็เพราะพวกเขาอัดอั้นตันใจมานานหลายปีแล้วที่ไม่สามารถให้ตัวแทนของพวกเขากลับเข้ามาบริหารประเทศได้ พวกเขาอาจจะคิดเพ้อเจ้อเลยเถิดไปบ้าง พวกเขาอาจจะสนุกกับอำนาจมือเปล่าของตนที่รัฐบาลไม่กล้าต่อกรจนเลยเถิดไปเดินเล่นในสถานที่ราชการแบบเด็กๆ ไปเที่ยววันเด็กบ้าง ก็แค่เป็นเพียงเพื่อคลายอารมณ์กลัดกลุ้ม

ผมว่าหากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผู้นำรัฐบาลยอมขอโทษประชาชน ทั้งประชาชนฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ที่พรรคเพื่อไทยสอดไส้นิรโทษกรรมทักษิณและผู้สั่งการสังหารประชาชนในปี 2553 พร้อมๆ กันนั้นก็วางกรอบของการปรับโครงสร้างการเมืองให้สอดคล้องกับการก้าวไปของประเทศในทิศทางให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้นอย่างมั่นคง สถาณการณ์เฉพาะหน้าก็น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง 

แต่เมื่อถึงวันนี้แล้ว ก็ไม่ทราบจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไรได้ ได้แต่หวังว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะยังคงแตกต่างจากผู้นำคนก่อนๆ หวังว่าเธอจะใช้ความอ่อนไหว ความเป็นแม่ ความเป็นหญิงในการปกครอง หวังว่าเธอจะยอมค้อมหัวให้ประชาชนมากเท่ากับที่ประชาชนจำนวนมากไว้วางใจเธอ และหวังว่าเธอและเครือข่ายจะคิดเร็ว และหาทางแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างนุ่มนวล ที่สำคัญคือ อย่าเอาหน้าแกนนำการชุมนุม ไปเป็นหน้ากากสวมแทนหน้าผู้ร่วมชุมนุม เพราะม็อบนกหวีดก็คือเพื่อนร่วมโลก คือมนุษย์ผู้คับข้องใจ พวกเขาไม่ได้ต้องการทำอะไรเลยเถิดเท่ากับที่แกนนำพวกเขาคุยฟุ้งว่าอยากทำหรอก 

ส่วนเพื่อนม็อบนกหวีด เมื่อรู้แล้วว่าประชาชนอย่างพวกคุณก็มีอำนาจ เสียงส่วนน้อยแบบอภิสิทธิ์ชนอย่างพวกคุณน่ะ รัฐบาลนี้เขากลัวจะตายอยู่แล้ว ออกมาจากสถานการณ์วันเด็ก แล้วคิดหาทางเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นรูปธรรมไม่ดีกว่าหรือ อำนาจมือเปล่าของพวกคุณน่ะไม่สามารถล้มระบอบทักษิณได้หรอก เพราะระบอบทักษิณที่คุณว่าน่ะไม่ได้อยู่ด้วยทักษิณและพรรคพวกอีกต่อไปแล้ว ระบอบที่ทักษิณมีส่วนสร้างขึ้นมา ได้กลายผลเป็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศโดยรวมไปแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งประเด็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยในหลายจังหวัดว่าจะพัฒนาไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางด้าน "สังคมศาสตร์" ผมก็เลยคิดอะไรขึ้นมาได้หลายอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านเรื่องการขายข้าวของ บก.ลายจุด ไปขัดใจคนอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากสนใจนัก เพราะ บก.ลายจุด ขยับทำอะไรที ฝ่ายนั้นก็คอยจ้องโจมตีเรื่อยไปจนน่าเบื่อไปแล้ว แต่พอเสธ.ไก่อูมาสนใจการขายข้าวของ บก.ลายจุด ผมว่า อ้อ อย่างนี้นี่เอง ทำไมการขายข้าวของ บก.ลายจุด จึงน่าสนใจขึ้นมาได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นโจมตีกระแนะกระแหนส่วนหนึ่งของความเห็นผมกันยกใหญ่ แต่ผมว่าก็ดีนะ มันชี้ขีดจำกัดของความคิดคนดี ก็ไม่ใช่ว่าผมจะพูดถูกหมดหรือพูดครบถ้วนหมดจดหรอก เพียงแต่มีข้อแย้งกับข้อโต้แย้งเหล่านั้นได้มากเช่นกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีรากฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยมาเนิ่นนาน น่าจะนานไม่น้อยไปกว่าแนวคิดประชาธิปไตย หากแต่น่าสงสัยว่า ทำไมแนวคิดนี้จึงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเสียที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้ มีนักคิดหลายๆ คนเสนอวิธีทำความเข้าใจสังคมไทยใหม่ๆ มากมาย หลายคนพยายามไม่ตัดสินว่านี่คือการถอยหลังหรือย้อนรอยกลับไปในอดีต เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์สังคมย่อมทราบดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ และในเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างไร ผมคนหนึ่งล่ะที่พยายามไม่คิดว่านี่เป็นการ "ถอยหลัง" หรือซ้ำรอยอดีตอย่าง deja vu 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่องไม่เป็นเรื่องบางครั้งก็ชวนให้น่ารำคาญ ทำให้ต้องมาคอยอารัมภบทออกตัวมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจของประชาชนลง แนวโน้มนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฝ้าติดตามการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกระบวนการต่อเนื่องของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ที่เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองและใช้กำลังรุนแรงของมวลชนเข้าไปปิดล้อมทำลายการเลือกตั้ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่จำเป็นต้องสาธยายคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสังคมไทย หากคุณไม่เห็นคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ คุณก็คือคนที่ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังกรอกยาฝิ่นใส่ปากตัวเอง แล้วเมายาอยู่จนหลงคิดไปว่ากำลังดื่มโอสถบำรุงกำลัง หากคุณไม่คิดอย่างนั้น ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้วไม่ต้องมาพยายามเถียงกับผมให้เสียเวลาเปลืองอารมณ์ที่จะต้องคุยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กพ. 58) ผมไปร่วมกิจกรรม 4 กิจกรรมด้วยกัน ทั้งหมดเกี่ยวกันบ้าง ไม่เกี่ยวกันบ้าง แต่อยากเล่าให้ฟังว่ามันชวนคิดและชวนตกใจมากทีเดียว 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเห็นข่าวว่ามีการพูดถึงคนไทยมาจากเขาอัลไตกันขึ้นมาอีก ผมก็ระลึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ได้ข้อตกลงกันไปชัดเจนนานแล้วนี่นาว่า เป็นความรู้ที่ผิดพลาด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐบาลทหารไม่อยากให้ถูกเรียกว่าตนเองเป็นเผด็จการ เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ที่ตนเป็นอยู่นั้นเป็นเผด็จการ เหมือนโจรที่ไม่อยากถูกเรียกว่าโ