Skip to main content

เมื่อเห็นข่าวว่ามีการพูดถึงคนไทยมาจากเขาอัลไตกันขึ้นมาอีก ผมก็ระลึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ได้ข้อตกลงกันไปชัดเจนนานแล้วนี่นาว่า เป็นความรู้ที่ผิดพลาด 

แล้วก็เลยนึกไปถึงข้อถกเถียงถึงถิ่นกำเนิดคนไท ซึ่งมีคนค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วยังมีการพิมพ์งานวิชาการเกี่ยวกับข้อถกเถียงนี้อยู่ ก็เลยอยากลองประมวลดูคร่าวๆ เพื่อสะสมไว้เป็นความรู้ของตนเองด้วย หากจะประมวลข้อเสนอสำคัญๆ ที่กล่าวถึงคุ้นเคยกัน ก็นับได้ว่ามี 5 แนวคิดด้วยกัน 

1. คนไท(ย)มาจากอัลไต ข้อเสนอนี้นับว่าเป็นข้อเสนอเก่าแก่ สืบค้นกันไปได้ถึงผลงานเรื่อง The Tai Race: Elder Brother of the Chinese (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1923 หรือ พ.ศ. 2466) เขียนโดยหมอเผยแพร่ศาสนาชื่อ William C. Dodd หมอดอดด์สรุปว่าคนไทเป็นพวก Ugro-Altaic (อูโกร-อัลไตอิก) ที่น่าสนใจคือ เมื่อข้เสนอนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยแล้ว กลับกลายเป็นว่า "คนไทมาจากเทือกเขาอัลไต" ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ในหนังสือของหมอดอดด์ในต้นฉบับที่พิมพ์ปี 1923 ก็ไม่พบว่าหมอดอดด์เอ่ยถึง "เทือกเขาอัลไต" ตรงๆ แต่อย่างใด เพียงแต่อ้างถึงจากงานนักวิชาการอื่นว่า คนไทเป็นพวกพูดภาษาตระกูล อูโกร-อัลไตอิกเท่านั้น  

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่ว่าคนไทเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้นั้น หมอดออด์ "ลาก" เอาภาษาตระกูลนั้นมาปะปนกับภาษาตระกูลไทโดยไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ แล้วหมอดอดด์ยัง "ลาก" เอาเผ่าพันธ์ุทางกายภาพที่ว่าคนไทส่วนหนึ่งมีหน้าตาละม้ายคล้ายคนจีน ซึ่งก็มีบางส่วนที่พูดภาษาอูโกร-อัลไตอิกโดยไม่มีข้ออ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ใดๆ แล้วหมอดอดด์ก็จึงสรุปเอาง่ายๆ ว่า คนพูดภาษาอูโกร-อัลไตอิกมีคนไทอยู่ด้วย และยังสรุปอีกว่า นั่นน่าจะเป็นถิ่นเก่าแก่ที่สุดของคนไท 

ด้วยความไม่รัดกุม ไม่เป็นระบบของหมอดอดด์ ข้อเสนอของหมอดอดด์จึงถูกปัดตกไปได้ง่ายๆ หากแต่เป็นข้อเสนอที่เข้าตานักวิชาการชาตินิยมของประเทศไทย จึงถูกหยิบมาสรุปความโดยขุนวิจิตรมาตรา แล้วผลิตซ้ำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งโรงเรียนทหารของไทยก็คงยังใช้ตำราที่ล้าสมัยนี้อยู่ 

2. คนไท(ย)มาจากน่านเจ้า หนังสือของหมอดอดด์ก็นำข้อเสนอนี้ไปกล่าวถึงเช่นกัน ว่าเป็นยุคแรกๆ ที่มีการบันทึกถึงคนไทอย่างชัดเจนในเอกสารจีน คนไทยมักรู้จักเรื่องน่านเจ้าในนาม "อาณาจักรน่านเจ้า" แล้วก็นับเนื่องว่าเป็นอาณาจักรไทยในอดีตก่อนอพยพลงมายังดินแดนไทยปัจจุบัน เหตุหนึ่งที่ดินแดนนี้ถูกเชื่อมโยงมาสู่คนไทก็อาจจะเพราะชื่อ Ai-Lao หรือที่คนไทยและคนลาวออกเสียงว่า "อ้าย-ลาว" เพื่อโยงให้ได้ว่าหมายถึงต้นตระกูลลาวและไทยอย่างแน่นอน 

ดินแดนน่านเจ้าตั้งอยู่ระหว่างมองโกลเลียกับจีนจีนตอนใต้บริเวณมณฑลยูนนานปัจจุบัน* (ข้อความเดิมน่าจะผิดพลาดคลาดเคลื่อน) นักประวัติศาสตร์ค่อนข้างยอมรับกันว่าน่าจะมีดินแดนนี้อยู่จริงในอดีต หากแต่มีข้อพิสูจน์กันมากมายว่าดินแดนนี้เป็นดินแดนที่คนพูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) อาศัยอยู่ ไม่ใช่คนพูดภาษาตระกูลไท หากใครสนใจข้อถกเถียงล่าสุดเรื่องนี้ อ่านได้จากบทความของ Grant Evans ชื่อ "The Ai-Lao and Nan Chao/Tali Kingdom: A Re-orientation" ในวารสาร Journal of the Siam Society, Vol. 102 พิมพ์ปี 2014 คือปีที่แล้วนี้เอง  

แต่ก็มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า แม้ว่าในทางวิชาการจะยอมรับกันแล้วว่าข้อเสนอที่ว่าน่านเจ้าเป็นอาณาจักรคนไท(ย)มาก่อนนั้นเป็นข้อเสนอที่ผิดพลาด ข้อถกเถียงนี้ถูกนำเสนออย่างแข็งขันด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลจีนเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้เกิดความคิดแบ่งแยกเชื้อชาติ ดูงานของ Liang Yongjia ชื่อ "Inalienable Narration: The Nanzhao History between Thailand and China" เสนอต่อ ARI ปี 2010 

3. คนไท(ย)มาจากกวางสี ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอทางภาษาศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ลงความเห็นค่อนข้างชัดเจนและเห็นพ้องต้องกันในปัจจุบันว่า ภาษาตระกูลไทมีถิ่นกำเนิดบริเวณจีนตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เพราะเป็นถิ่นที่มีแขนงของภาษาถิ่นของภาษาตระกูลไทกระจุกตัวอยู่บริเวณนั้นมากมาย หากยึดตามทัศนะนี้ ภาษาไทก็กระจายตัวออกมาทางตะวันตกเฉียงใต้ไปเรื่อยๆ แนวคิดแบบภาษาศาสตร์มีน้ำหนักตรงที่วางอยู่บนข้อมูลที่แน่นหนาและหลักเหตุผลที่เป็นระบบ มีชุมชนวิชาการคอยตรวจสอบวิจารณ์กันอย่างแข็งขันต่อเนื่อง 

แต่การที่จะกล่าวว่าถิ่นกำเนิดของกลุ่มคนพิจารณาได้จากถิ่นกำเนิดของภาษาเพียงเท่านั้นก็ดูจะจำกัดกลุ่มคนเกินไป เช่น ภาษาไม่ได้จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับคนในทางกายภาพ คนพูดภาษาตระกูลหนึ่งที่เดินทางมาจากทิศทางหนึ่ง อาจอพยพมาจากอีกทิศทางหนึ่ง เช่น ภาษาอังกฤษในปัจจุบัน ที่เดินทางไปทั่วโลก ขณะที่คนพูดภาษาอังกฤษก็มาจากหลายถิ่นเช่นกัน ในอดีต อาจมีเงื่อนไขทางการเมืองบางอย่างที่ทำให้ภาษาตระกูลไทเดินทางจากจีนตะวันออกเฉียงใต้มายังประเทศเวียดนาม ลาว ไทย พม่า และอินเดีย แต่กลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในถิ่นต่างๆ อาจเดินทางในทางเชื้อชาติมาจากจีนบ้าง อินเดียบ้าง อาหรับบ้าง หรือจากทะเลจากหมู่เกาะบ้างก็ได้ 

นอกจากนั้น ภาษาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายวัฒนธรรมได้หมด หากนับความเป็นคนไททางวัฒนธรรม อาจมีมิติอื่นๆ ที่คนไทมีร่วมกับสังคมอื่นๆ ที่พูดภาษาอื่นๆ หรือบางทีคนใช้ภาษาตระกูลไทที่แม้จะมีชุดคำศัพท์และไวยากรณ์ที่ใกล้เคียงกันมาก ก็อาจมีวัฒนธรรมแตกต่างกันมาก เช่น คนพูดภาษาตระกูลไทในจีนตะวันออกเฉียงใต้และเวียดนามเหนือที่ส่วนใหญ่ไม่นับถือศาสนาพุทธแบบคนพูดภาษาตระกูลไทที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมฮินดูและพุทธในประเทศไทยและจีนตอนใต้ 

4. คนไท(ย)ไม่ได้มาจากไหนแต่อยู่ในอุษาคเนย์ ทฤษฎีนี้เสนอว่า ความเป็นคนไท(ย) แบบที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้ กำเนิดมาจากการเป็นคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เอง การเป็นคนไท(ย)จึงเป็นการผสมผสานทั้งชาติพันธ์ุ ภาษา วัฒนธรรมด้านต่างๆ ของทั้งที่มาจากที่อื่น ที่เคยมีอยู่ก่อน และที่สร้างกันขึ้นมาใหม่ แนวคิดนี้หาอ่านได้จากงานชิ้นต่างๆ ของสุจิตต์ วงษ์เทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ "คนไทยอยู่ที่นี่อุษาคเนย์" พิมพ์ครั้งแรกปีพ.ศ. 2537 ดาวน์โหลดได้ที่ (http://www.sujitwongthes.com/2010/…/คนไทยอยู่ที่นี่-ที่อุษา/

5. คนไท(ย)ถูกสร้างจากจินตกรรม แนวคิดนี้เสนอต่างออกไปอีกว่า ความเป็นคนไทนั้นไม่ได้เกิดมาจากที่ไหนหรอก หากแต่เกิดมาจากการ "สร้าง" ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของคนขึ้นมาเพื่อให้มีชื่อ มีตัวตน หรือที่เรียกว่ามีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากคนกลุ่มอื่นนั่นเอง ตามข้อเสนอแนวนี้ ความเป็นคนไทหรือความเป็นคนไท"ย"จึงถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์และการเมืองอยู่เสมอ และเมื่อสังคมสร้างจิตนาการเกี่ยวกับกลุ่มคนขึ้นมาแล้ว ก็จะนำมาซึ่งแนวทางการปฏิบัติต่อคนกล่มนั้นแบบใดแบบหนึ่งด้วย ข้อเสนอนี้มีในงานหลายๆ ชิ้น ที่สำคัญได้แก่บทความของ Charles F. Keyes ชื่อ "Who Are the Tai?" พิมพ์ปี 1996  

การสร้างความเป็นกลุ่มเป็นก้อนนั้นอาจจะมาจากกลุ่มคนกันเอง (เช่น คนไทใหญ่ในพม่าก็พยายามสร้างความเป็นไทให้แตกต่างจากคนพม่าและคนชาติพันธ์ุอื่นๆ หรือคนไทยสยามสร้างภาพความเป็นคนลาวขึ้นมาให้ต่างจากตนเอง) หรือมาจากรัฐบางของประเทศที่ "คนไท" เป็นคนกลุ่มใหญ่เองสร้างภาพตนเองขึ้นมา (เช่น ประเทศไทย สร้างภาพคนไทยให้ดูราวกับว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สืบทอดเผ่าพันธ์ุเดียวกันมายาวนาน ประเทศลาวก็ทำเช่นเดียวกัน) หรือมาจากการที่รัฐบาาลจัดกลุ่มชนชาติพันธ์ุต่างๆ ในประเทศ (เช่น ประเทศเวียดนามแยก "คนถาย" ออกจาก "คนไต่" แม้ว่าสำหรับนักภาษาศาสตร์คนทั้งสองกลุ่มก็เป็นคนพูดภาษาตระกูลไทเดียวกัน)  

ผมเขียนมาเสียยืดยาว ลงรายละเอียดบ้าง ไม่ลงบ้าง ก็พอหอมปากหอมคอ ทั้งหมดเพื่อจะรวบรวมประเด็นกว้างๆ ที่มีการถกเถียงกัน แต่จะเห็นได้ว่า การศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดคนไทก้าวไปถึงไหนแล้ว และที่สำคัญคือ ข้อถกเถียงมักสัมพันธ์กับทั้งความหนักแน่นทางวิชาการ มุมมองของสาขาวิชาความรู้ และกรอบการเมืองของความรู้ 

หากใครอยากจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไทหรือคนไทย อย่างน้อยก็ควรจะหาหนังสืออ่านเสียบ้าง ไม่ใช่เชื่อๆ ตามๆ ลมปากคนอื่นเขามาแล้วมาปล่อยไก่ให้คนจับไปเชือดในวันตรุษจีนอย่างพล่อยๆ 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม