Skip to main content

มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งประเด็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยในหลายจังหวัดว่าจะพัฒนาไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางด้าน "สังคมศาสตร์" ผมก็เลยคิดอะไรขึ้นมาได้หลายอย่าง 

ผมไม่เห็นด้วยทั้งหมด ไม่ใช่เพราะตัวเองสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ หรอก และไม่ได้คิดกลัวเกรงว่านักวิชาการรุ่นใหม่จะแซงหน้าหรอก ผมอยากเห็นความก้าวหน้าที่กระจายไปทั่วอยู่แล้ว เพียงแต่ก็อยากจะคิดหลายๆ ตลบหน่อยว่า อะไรหรืออย่างไรที่จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยไม่ว่าจะตั้งอยู่ที่ไหนก้าวหน้า
 
โดยภาพรวม บนพื้นฐานของสังคมไทยหรือพูดให้ตรงๆ ไปเลยคือบนฐานการเมืองไทยที่ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ทุกวันนี้ ผมมองไม่เห็นอนาคตที่สดใสของมหาวิทยาลัยไทยเอาเสียเลย ผมมองไม่เห็นโอกาสก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยไทยเลย โดยเฉพาะทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
 
ผมพูดหลายโอกาสแล้วว่า เสรีภาพทางวิชาการคือเสรีภาพของสังคมทั้งสังคม เป็นเสรีภาพที่จะพูด ที่จะแสดงความเห็น ทุกวันนี้เสรีภาพนี้ตกต่ำที่สุด ที่ผ่านมาดีกว่านี้ แต่ความขัดแย้งทางการเมือง การเลือกข้างทางการเมือง ความหวาดระแวงทางการเมือง ได้บ่มเพาะภาวะเน่าเฟะของมหาวิทยาลัยไทยมาจนกระทั่งถึงวันนี้ วันที่เป็นจุดตกต่ำที่สุดครั้งหนึ่งของมหาวิทยาลัยไทย
 
ดูได้จากอะไร พูดไปก็ซ้ำความเห็นเดิมๆ ก็คือดูได้จากการที่ผู้บริหารเข้าไปร่วมมือกับคณะเผด็จการทหารครั้งนี้อย่างออกหน้าออกตา ยินดีประดา แถมยังส่งเสริมการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกในมหาวิทยาลัยเสียอีก อาการนี้เป็นทั้งในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และในต่างจังหวัด อาการนี้ไม่ใช่เพิ่งเป็นหลังรัฐประหาร แต่มีแนวโน้มอย่างนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว และที่รัฐประหารครั้งนี้สำเร็จและอยู่รอดมายาวนานขนาดนี้ ก็ด้วยความร่วมมือของผู้บริหารมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วยอย่างสำคัญทีเดียว 
 
เท่าที่มองออกตอนนี้ แนวโน้มนี้ไม่น่าจะดีขึ้นในอีก 10 ปีแน่ๆ และผมก็อยากแนะนำว่า ถ้าใครมีทางทำมาหากินอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ก็ไปทำอย่างอื่นเถอะครับ หรือใครอยากทำงานวิชาการจริงๆ จังๆ แล้วล่ะก็ ควรขวนขวนขวายหาทุนรอนจากต่างประเทศ เพื่อจะได้ไม่เป็นหนี้มหาวิทยาลัยไทย แล้วหากมีโอกาสก็หางานทำในต่างประเทศเสียเลย จะเป็นประโยชน์กับทั้งสังคมไทยและมนุษยชาติมากกว่า ส่วนผมไม่มีทางออกจากระบบนี้ได้ง่ายๆ ก็ต้องสู้กันข้างในต่อไป
 
ยังไม่นับว่ามีนักวิชาการไทยจำนวนมากคิดสันโดษทำงานคนเดียวไปลำพังโดยไม่สนใจระบบอะไร เขาก็สามารถเอาตัวรอดไปลำพังคนเดียวได้ อย่างนี้ทำงานไปเรื่อยๆ ขยันๆ หน่อยไม่ต้องเก่งมาก ไม่ต้องสร้างงานใหม่มาก ทำงานครบถึงหน้ากระดาษเท่าที่เขาต้องการได้ ยังไงก็เติบโตส่วนตัวไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ว่ากันครับ เพราะผมก็ยังเชื่อว่าปัจเจกนักวิชาการก็สำคัญเหมือนกัน เพียงแต่ถ้าจะกอบกู้วงวิชาการไทยแล้ว มันต้องทำอย่างเป็นระบบควบคู่ไปด้วย
 
ที่นี้หันมามองอะไรที่ยุ่งยากมากขึ้นหน่อย หากจะประเมินกันจริงๆ จังๆ ว่าสถาบันไหนก้าวหน้าไปอย่างไรแค่ไหน ผมว่าต้องดูอะไรหลายๆ อย่าง การจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร ผลผลิตของสถาบันทั้งที่เป็นบุคคลและผลงานวิชาการ การตีพิมพ์ การถูกอ้างอิง ผลงานวิจัย ความรู้ใหม่ๆ ความรู้ของอาจารย์ ความเชื่อถือของสังคมและของชาวโลก การบริการสังคม การบริหารงาน เรื่องจิปาถะเหล่านี้ต้องนำมานับด้วยทั้งหมด 
 
ซึ่งจะว่าไป นั่นก็แทบจะไม่ต่างจากที่ระบบประเมินต่างๆ ตอนนี้ใช้กันอยู่หรอก เพียงแต่หากสายสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์สร้างระบบขึ้นมาเอง แล้วเป็นระบบที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐได้ด้วย ผมว่าน่าจะสร้างอำนาจทัดทานกับระบบของรัฐได้ และยังช่วยสร้างความเข้มแข็งของแวดวงวิชาการจากภายในกันเอง สามารถตอบโจทย์แบบที่ต้องการของตัวเองได้ดีกว่า และจะเป็นประโยชน์กับสังคมมากกว่าเพราะต้องคิดถึงเสรีภาพในการแสดงออกเพื่อความก้าวหน้าของสังคมมากกว่าเฉพาะเพื่อสนองความต้องการของรัฐ
 
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่มากคือ เงินทุน ซึ่งก็ต้องกลับไปที่อำนาจการบริหาร และถึงที่สุดก็โยงกลับไปที่การเมืองที่ชักใยอยู่อีก เรื่องพวกนี้ถ้าไม่คิดสะสางกันจริงๆ มันไปถึงไหนไม่ได้หรอก
 
ผมกำลังคิดอยากลองอีกทางหนึ่ง คือการสร้างอำนาจวิชาการนอกรัฐขึ้นมา ไม่ใช่การนำ "มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" แบบที่เขาทำๆ อยู่ทุกวันนี้นะครับ แบบที่เขาทำกันทุกวันนี้น่ะมันต้มคนดู ออกนอกระบบแต่เงิน ส่วนการบริหารยังรวมศูนย์อยู่และมีทิศทางว่าจะยิ่งรวมศูนย์มากขึ้นอีกเรื่อยๆ จะเรียกว่าออกนอกระบบได้อย่างไร 
 
การทำงานวิชาการต้องคิดเรื่องการเมืองด้วยนะครับ นักวิชาการเก่งเรื่องคิดถึงการเมืองระดับชาติ การเมืองท้องถิ่น ออกแบบการเมืองให้ชาวบ้าน แต่การเมืองของงานวิชาการเองแทบไม่คิด หลายคนคิดแต่จะเล่นการเมืองด้วยการไต่เต้าเป็นผู้บริหารตามระบบ ต่อให้คิดดีนะครับ ต่อให้ไม่ได้อยากไต่เต้าเพื่ออำนาจแต่เพื่อนำอำนาจมาพัฒนางานวิชาการ แต่เมื่อขึ้นไปถึงที่สุดก็จะไปเจอทางตัน ชั่วชีวิตน้อยๆ ของผมเห็นทิศทางของนักวิชาการรุ่นใหญ่ๆ มาแล้วพอสมควร เห็นทั้งสองแนวสองแบบ แต่คิดว่ามีบางแบบที่ยังน่าจะทำแต่ยังไม่ได้ทำกันดี 
 
เมื่อคิดมาทางนี้แล้ว ผมคิดว่าน่าสนใจเหมือนกันหากว่าจะมีการจัดตั้งสมาคมประเมินคุณภาพการศึกษาของนักวิชาการมหาวิทยาลัยกันขึ้นมาเอง ผมไม่เคยคิดโมเดลนี้มาก่อน แต่น่าทดลองดูว่า หากตั้งสมาคมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วสร้างความเป็นสถาบันขึ้นมา เพื่อในที่สุดจะคงความเป็นอิสระของการประเมินคุณภาพทางวิชาการของนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กันเอง
 
คิดทางนี้แล้วก็พอจะมีหวังอยู่บ้าง เพียงแต่ต้องลงแรงอย่างหนัก พร้อมๆ กับต้องต่อสู้กับการตรากตรำทำงานในระบบเดิมด้วย ถ้ายังไม่ท้อแท้หรือบ้าบอไปเสียก่อน ก็คงจะทำอะไรใหม่ๆ กันได้บ้างล่ะครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม