Skip to main content

ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม

ผมอ่านข้อเขียนอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในชื่อ “เด็กก้าวร้าว : สัญญาณปฏิวัติวัฒนธรรม?” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ “สยามเทศะ” ในวันที่ 19 กันยายน 2563 อย่างหดหู่ หากชื่อศรีศักร วัลลิโภดมจะเป็นใครที่ไร้ค่าทางสังคมและแวดวงวิชาการ ผมก็คงไม่อยากเสียเวลาใส่ใจ ยิ่งกับข้อเขียนที่เต็มไปด้วยการสร้างความเกลียดชังและความอ่อนด้อยของการวิเคราะห์ด้วยแล้ว ผมก็ไม่ค่อยจะอยากเสียเวลาอ่านจนจบ  
 
แต่ความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์ศรีศักรหรือใครก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้ผู้คนต้องกราบไหว้บูชาอย่างแตะต้องวิจารณ์เขาไม่ได้เสมอไป หรือกระทั่งต้องตักเตือนกันบ้างหากจำเป็น เพราะไม่อย่างนั้นมนุษยชาติก็คงไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มาจนมีโลกยุคปัจจุบัน ข้อเขียนที่ผมกล่าวถึงนี้ แสดงความอ่อนด้อยและส่อว่าจะเป็นอันตรายแก่สังคมในหลายประการด้วยกัน
 
ประการแรก ข้อเสนอสำคัญของอาจารย์ศรีศักรวางอยู่บนการกล่าวหาที่เลื่อนลอย นั่นคือข้อสรุปที่ว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษามีนักการเมือง “ปลุกระดม” อยู่เบื้องหลัง ข้อสรุปนี้สำคัญเพราะนำไปสู่การค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนมากมายว่าการปลุกระดมคนรุ่นใหม่ในหลายสังคมในอดีตก่อผลเสียต่อสังคมนั้นๆ หากแต่อาจารย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า นักเรียนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปด้านต่างๆ ของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ เขาถูกปลุกระดมจากนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านอย่างไร เพราะข้อเท็จจริงนี้คือต้นเรื่องของบทความนี้ทั้งหมด
 
การเชื่อมโยงสิ่งที่เชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงข้างต้นกับข้อสรุปที่ว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็น “การปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคสงครามเย็น” ก็ยังผิดฝาผิดตัว อาจารย์คงรู้ไม่น้อยไปกว่าคนทั่วไปว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนนั้น ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐ ไม่ใช่เกิดจากการตื่นตัวเพื่อลุกขึ้นสู้กับรัฐอย่างกรณีนักศึกษาในประเทศไทยขณะนี้ แต่ที่ตรงกันข้ามกันนั้น รัฐไทยด้านที่อาจารย์ศรีศักรดูจะเอาใจช่วยอยู่นั่นแหละ ที่ได้ปลุกปั่นเยาวชนให้หวาดกลัวคอมมิวนิสต์มาในยุคสงครามเย็น จนมีส่วนก่อกรรมกระทำรุนแรงต่อนักศึกษาประชาชนมาแล้วนักต่อนัก แถมในปัจจุบัน รัฐยังปลุกระดมให้นักเรียนนักศึกษาหลงเชื่อในสิ่งที่ไร้ข้อเท็จจริงสนับสนุนมากมายอีกด้วย  
 
ประการที่สอง แนวคิดเบื้องหลังการวิเคราะห์สังคมของอาจารย์วางอยู่บนแนวคิดโครงสร้าง-การหน้าที่ (structural-functionalism) ดังที่มีตอนหนึ่งอาจารย์ศรีศักรสรุปว่า “สังคมพัฒนาจากครอบครัวและเครือญาติ รวมกันเป็นชุมชน เป็นเมือง นคร และรัฐ ที่ต้องมีผู้นำ ผู้ปกครอง จากกษัตริย์จนถึงประธานาธิบดี”  และอีกตอนหนึ่งที่ว่า “สถาบันกษัตริย์ยังมีหน้าที่ในทางคุณูปการแก่สังคมที่มีอยู่ในสยามประเทศ” ทัศนะอย่างนี้ มองสังคมราวกับสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพ มีพัฒนาการที่เติบโตอย่างซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เป็นเส้นตรง วิธีมองเช่นนี้มองว่าคนกลุ่มต่างๆ แม้ในสังคมที่ซับซ้อน ต่างมีหน้าที่ของตน ต่างเกื้อหนุนกันให้สังคมดำรงอยู่และดำเนินไป  
 
ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาปัจจุบันมองว่าสังคมไทยอยู่บนโครงสร้างที่มีการขูดรีดตักตวงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มจากคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอมา คำถามของพวกเขาคือ หากว่าผู้ปกครองมีหน้าที่เฉพาะ ส่วนผู้อยู่ใต้การปกครองก็มีหน้าที่ของตนเอง ทำไมผู้ปครองจะต้องมีชีวิตสุขสบาย กินอยู่ดีกว่า เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ราวภูติผีปีศาจ ทำไมพวกผู้ปกครองไม่แค่ทำหน้าที่ปกครองด้วยฐานะที่เป็นคนเท่ากับคนอื่นๆ มีความสุขสบายตามสมควรเยี่ยงประชาชนทั่วไปล่ะ ผู้ปกครองแบบนั้นก็คือนักการเมืองในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่เจ้านาย ขุนนาง กษัตริย์ ในระบอบศักดินาหรือระบอบที่นิยมกษัตริย์อย่างล้นเกินเยี่ยงในการเมืองไทยปัจจุบัน  
 
เมื่อวางอยู่บนฐานคิดคนละแบบ อาจารย์ก็ต้องถกเถียงกับเขาไป อย่าไปปลักปรำว่าเขาคิดล้มล้างสังคมดีงามในอดีตอย่างไม่มีเหตุผล หรือที่ยิ่งต้องเลี่ยงคือการทำให้เขาเป็นเหยื่อของความเกลียดชังในสังคม
 
ประการที่สาม ทัศนะต่อการปฏิรูปและการปฏิวัติ คำว่าปฏิวัติ หรือ revolution ในการวิเคราะห์ทางสังคมนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้แบบเดียวกันกับในทางการเมือง ในทางการเมืองอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่ในการวิเคราะห์สังคม หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ที่ไม่ได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นทันทีทันใด แต่บางครั้งกินระยะเวลายาวนาน เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษศตวรรษที่ 18 ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วไม่กี่ปีอย่างแน่นอน ส่วนการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ก็ต้องรออีกยาวนานจึงจะสรุปได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างพลิกผันลึกซึ้งจริงๆ  
 
อันที่จริง นักเรียนนักศึกษาเองใช้คำว่าปฏิรูปอยู่บ่อยครั้งมากกว่าคำว่าปฏิวัติด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอของกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” แต่อาจารย์เองนั่นแหละที่อาจเห็นว่า นี่เป็นการปฏิวัติ ซึ่งก็ชี้ว่า บางครั้งการปฏิรูปก็อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขนานใหญ่จนอาจเรียกได้ว่าการปฏิวัติ ส่วนการปฏิวัติบางลักษณะก็ไม่ได้มีใครตั้งใจทำให้เกิด อย่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่อาศัยการค่อยๆ ปฏิรูปจนเห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เป็นการปฏิวัติ
 
ในกรณีของสังคมไทยขณะนี้ หากผมจะยืมคำพูดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของสังคมไทย ผมเห็นว่านักเรียนนักศึกษากำลังเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยของสังคมไทยปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนต้องการมีสิทธิ มีเสียง มีเสรีภาพ มีความเท่าเทียม สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือ เขาแค่ต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรสอคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบบวัฒนธรรม ก็เท่านั้นเอง
 
ประการที่สี่ ข้อเขียนชิ้นนี้ของอาจารย์ศรีศักรลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักเรียนนักศึกษาในสองชั้นด้วยกัน กล่าวคือ หนึ่ง ไม่เห็นว่าคนรุ่นใหม่จะมีความคิดเป็นของตนเองได้ และสอง เป็นการสร้างภาพให้นักเรียนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้เป็นที่น่าจงเกลียดจงชังหรือเป็นผู้ร้ายในสังคมไทย
 
ในด้านของการลดทอนความเป็นมนุษย์ อาจารย์ศรีศักรเชื่อตั้งแต่ต้นโดยไม่มีหลักฐานข้อมูลใดๆ ว่า นักเรียนนักศึกษาถูกปลุกปั่น ถูกชักจูง โดยนักการเมืองฝ่ายค้าน นี่คือทัศนะที่อยู่สังคมไทยมานาน แล้วเป็นทัศนะที่ชะลอความก้าวหน้าของสังคมไทยมาตลอด การลดทอนคุณค่าของคนรุ่นใหม่วางอยู่บนระบบอำนาจนิยมของความอาวุโส การเกิดทีหลังไม่ได้จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ด้อยกว่าหรือมีความคิดแย่กว่า และประสบการณ์ของคนแต่ละรุ่นในโลกที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะทำให้คนคิดเห็นต่อโลกต่างกันไป วิธีที่ดีที่สุดคือการร่วมเรียนรู้จากกันและกัน ไม่ใช่การปิดปากคนรุ่นใหม่พร้อมกับปิดหูคนรุ่นเก่า
 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คือการที่อาจารย์ศรีศักรสร้างภาพให้คนรุ่นใหม่ดูน่าสะพรึงกลัว นอกจากจะนำคนรุ่นใหม่ในไทยปัจจุบันไปโยงกับคนรุ่นใหม่ในอดีตที่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ปลุกปั่น ที่นับเป็นการเอาผีคอมมิวนิสต์มายัดเยียดให้นักเรียนนักศึกษานั่นเองแล้ว อาจารย์ศรีศักรยังพยายามหว่านล้อมให้เชื่อว่า คนรุ่นใหม่ต้องการ “ทำลายสิ่งที่เป็นสถาบันในความเป็นมนุษย์ เช่น สถาบันครอบครัว ชุมชน และการแต่งงาน... กับสถาบันทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งคือศาสนา” นี่คือทำให้นักเรียนนักศึกษากลายเป็นอาชญากรทางสังคมผู้ทำลายสิ่งดีงามของสังคมไทย
 
ข้อเท็จจริงที่อันตรายอีกประการคือการสรุปว่า “การเกิดความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ก็มีการใช้เด็กและผู้หญิงเป็นกำลังในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน” หากจะไม่สนใจข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในภาคใต้ที่ก็มีการวิเคราะห์กันมามากมายแล้วและไม่ได้ตรงกับข้อสรุปนี้แม้แต่น้อย สิ่งที่น่ากังวลคือการสร้างภาพให้เยาวชนกลายเป็นผู้นิยมความรุนแรงและเป็นผู้ทำลายชาติ
 
หากคนที่สติไม่สมประกอบพูดอะไรแบบนี้ สังคมก็สมควรจะยอมให้อภัยได้เนื่องจาเขาเสียสติ เขาต้องการการเยียวยา อาจต้องให้พักจากความรับผิดชอบไปสักครู่เพื่อให้เขาฟื้นฟูสภาพจิตใจ หากแต่นี่เป็นถ้อยคำที่ออกมาจากคนที่มีสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยม แล้วแสดงทัศนะบั่นทอนความเข้าใจกันในสังคม สร้างภาพให้คนหวาดกลัวเกลียดชังนักเรียนนักศึกษา ดูแคลนนักเรียนนักศึกษาอย่างนี้แล้ว สังคมจะยังสมควรให้อภัยเขาอยู่หรือ
 
หากข้อเขียนนี้จะไม่ได้ถูกเรียกว่า “งานวิชาการชั้นเลว” แล้ว ก็คงต้องเรียกว่า “ถ้อยคำยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคม” (hate speech) คนแบบนี้ ทัศนคติแบบนี้ ยังสมควรเป็นครูบาอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยอยู่อีกหรือ ยังสมควรนับถือกันว่าเป็นผู้นำทางปัญญาที่จะคอยเชิญไปเทศนาเผยแพร่ความคิดแก่สังคมอยู่อีกหรือ
 
ที่ผมจะนึกเสียใจและน้อยใจอยู่สักหน่อยก็ตรงที่ว่า วิชามานุษยวิทยาที่ผมก็ร่ำเรียนมานั้น คงจะไม่ได้ช่วยให้คนคนหนึ่งที่ผ่านการศึกษาระดับสูง ในมหาวิทยาลัยทรงเกียรติทั้งในและต่างประเทศ มีสำนึกเคารพคน มองเห็นคนเท่ากันขึ้นมาเลยหรืออย่างไร ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องปรับปรุงความรู้สาขาวิชานี้ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อว่าในอนาคต สาขามานุษยวิทยาจะได้มีคนแบบนี้น้อยลง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม