Skip to main content

ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม

ผมอ่านข้อเขียนอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ในชื่อ “เด็กก้าวร้าว : สัญญาณปฏิวัติวัฒนธรรม?” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ “สยามเทศะ” ในวันที่ 19 กันยายน 2563 อย่างหดหู่ หากชื่อศรีศักร วัลลิโภดมจะเป็นใครที่ไร้ค่าทางสังคมและแวดวงวิชาการ ผมก็คงไม่อยากเสียเวลาใส่ใจ ยิ่งกับข้อเขียนที่เต็มไปด้วยการสร้างความเกลียดชังและความอ่อนด้อยของการวิเคราะห์ด้วยแล้ว ผมก็ไม่ค่อยจะอยากเสียเวลาอ่านจนจบ  
 
แต่ความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์ศรีศักรหรือใครก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้ผู้คนต้องกราบไหว้บูชาอย่างแตะต้องวิจารณ์เขาไม่ได้เสมอไป หรือกระทั่งต้องตักเตือนกันบ้างหากจำเป็น เพราะไม่อย่างนั้นมนุษยชาติก็คงไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มาจนมีโลกยุคปัจจุบัน ข้อเขียนที่ผมกล่าวถึงนี้ แสดงความอ่อนด้อยและส่อว่าจะเป็นอันตรายแก่สังคมในหลายประการด้วยกัน
 
ประการแรก ข้อเสนอสำคัญของอาจารย์ศรีศักรวางอยู่บนการกล่าวหาที่เลื่อนลอย นั่นคือข้อสรุปที่ว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษามีนักการเมือง “ปลุกระดม” อยู่เบื้องหลัง ข้อสรุปนี้สำคัญเพราะนำไปสู่การค้นหาข้อมูลมาสนับสนุนมากมายว่าการปลุกระดมคนรุ่นใหม่ในหลายสังคมในอดีตก่อผลเสียต่อสังคมนั้นๆ หากแต่อาจารย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า นักเรียนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปด้านต่างๆ ของสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ เขาถูกปลุกระดมจากนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านอย่างไร เพราะข้อเท็จจริงนี้คือต้นเรื่องของบทความนี้ทั้งหมด
 
การเชื่อมโยงสิ่งที่เชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงข้างต้นกับข้อสรุปที่ว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็น “การปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคสงครามเย็น” ก็ยังผิดฝาผิดตัว อาจารย์คงรู้ไม่น้อยไปกว่าคนทั่วไปว่า การปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีนนั้น ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐ ไม่ใช่เกิดจากการตื่นตัวเพื่อลุกขึ้นสู้กับรัฐอย่างกรณีนักศึกษาในประเทศไทยขณะนี้ แต่ที่ตรงกันข้ามกันนั้น รัฐไทยด้านที่อาจารย์ศรีศักรดูจะเอาใจช่วยอยู่นั่นแหละ ที่ได้ปลุกปั่นเยาวชนให้หวาดกลัวคอมมิวนิสต์มาในยุคสงครามเย็น จนมีส่วนก่อกรรมกระทำรุนแรงต่อนักศึกษาประชาชนมาแล้วนักต่อนัก แถมในปัจจุบัน รัฐยังปลุกระดมให้นักเรียนนักศึกษาหลงเชื่อในสิ่งที่ไร้ข้อเท็จจริงสนับสนุนมากมายอีกด้วย  
 
ประการที่สอง แนวคิดเบื้องหลังการวิเคราะห์สังคมของอาจารย์วางอยู่บนแนวคิดโครงสร้าง-การหน้าที่ (structural-functionalism) ดังที่มีตอนหนึ่งอาจารย์ศรีศักรสรุปว่า “สังคมพัฒนาจากครอบครัวและเครือญาติ รวมกันเป็นชุมชน เป็นเมือง นคร และรัฐ ที่ต้องมีผู้นำ ผู้ปกครอง จากกษัตริย์จนถึงประธานาธิบดี”  และอีกตอนหนึ่งที่ว่า “สถาบันกษัตริย์ยังมีหน้าที่ในทางคุณูปการแก่สังคมที่มีอยู่ในสยามประเทศ” ทัศนะอย่างนี้ มองสังคมราวกับสิ่งมีชีวิตทางชีวภาพ มีพัฒนาการที่เติบโตอย่างซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เป็นเส้นตรง วิธีมองเช่นนี้มองว่าคนกลุ่มต่างๆ แม้ในสังคมที่ซับซ้อน ต่างมีหน้าที่ของตน ต่างเกื้อหนุนกันให้สังคมดำรงอยู่และดำเนินไป  
 
ในขณะที่นักเรียนนักศึกษาปัจจุบันมองว่าสังคมไทยอยู่บนโครงสร้างที่มีการขูดรีดตักตวงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มจากคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอมา คำถามของพวกเขาคือ หากว่าผู้ปกครองมีหน้าที่เฉพาะ ส่วนผู้อยู่ใต้การปกครองก็มีหน้าที่ของตนเอง ทำไมผู้ปครองจะต้องมีชีวิตสุขสบาย กินอยู่ดีกว่า เป็นที่เคารพบูชากราบไหว้ราวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ราวภูติผีปีศาจ ทำไมพวกผู้ปกครองไม่แค่ทำหน้าที่ปกครองด้วยฐานะที่เป็นคนเท่ากับคนอื่นๆ มีความสุขสบายตามสมควรเยี่ยงประชาชนทั่วไปล่ะ ผู้ปกครองแบบนั้นก็คือนักการเมืองในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย ไม่ใช่เจ้านาย ขุนนาง กษัตริย์ ในระบอบศักดินาหรือระบอบที่นิยมกษัตริย์อย่างล้นเกินเยี่ยงในการเมืองไทยปัจจุบัน  
 
เมื่อวางอยู่บนฐานคิดคนละแบบ อาจารย์ก็ต้องถกเถียงกับเขาไป อย่าไปปลักปรำว่าเขาคิดล้มล้างสังคมดีงามในอดีตอย่างไม่มีเหตุผล หรือที่ยิ่งต้องเลี่ยงคือการทำให้เขาเป็นเหยื่อของความเกลียดชังในสังคม
 
ประการที่สาม ทัศนะต่อการปฏิรูปและการปฏิวัติ คำว่าปฏิวัติ หรือ revolution ในการวิเคราะห์ทางสังคมนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้แบบเดียวกันกับในทางการเมือง ในทางการเมืองอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่ในการวิเคราะห์สังคม หมายถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ที่ไม่ได้จำเป็นต้องเกิดขึ้นทันทีทันใด แต่บางครั้งกินระยะเวลายาวนาน เช่น การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษศตวรรษที่ 18 ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วไม่กี่ปีอย่างแน่นอน ส่วนการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ก็ต้องรออีกยาวนานจึงจะสรุปได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างพลิกผันลึกซึ้งจริงๆ  
 
อันที่จริง นักเรียนนักศึกษาเองใช้คำว่าปฏิรูปอยู่บ่อยครั้งมากกว่าคำว่าปฏิวัติด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอของกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” แต่อาจารย์เองนั่นแหละที่อาจเห็นว่า นี่เป็นการปฏิวัติ ซึ่งก็ชี้ว่า บางครั้งการปฏิรูปก็อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างขนานใหญ่จนอาจเรียกได้ว่าการปฏิวัติ ส่วนการปฏิวัติบางลักษณะก็ไม่ได้มีใครตั้งใจทำให้เกิด อย่างการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่อาศัยการค่อยๆ ปฏิรูปจนเห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เป็นการปฏิวัติ
 
ในกรณีของสังคมไทยขณะนี้ หากผมจะยืมคำพูดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของสังคมไทย ผมเห็นว่านักเรียนนักศึกษากำลังเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยของสังคมไทยปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ผู้คนต้องการมีสิทธิ มีเสียง มีเสรีภาพ มีความเท่าเทียม สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือ เขาแค่ต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรสอคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบบวัฒนธรรม ก็เท่านั้นเอง
 
ประการที่สี่ ข้อเขียนชิ้นนี้ของอาจารย์ศรีศักรลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักเรียนนักศึกษาในสองชั้นด้วยกัน กล่าวคือ หนึ่ง ไม่เห็นว่าคนรุ่นใหม่จะมีความคิดเป็นของตนเองได้ และสอง เป็นการสร้างภาพให้นักเรียนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้เป็นที่น่าจงเกลียดจงชังหรือเป็นผู้ร้ายในสังคมไทย
 
ในด้านของการลดทอนความเป็นมนุษย์ อาจารย์ศรีศักรเชื่อตั้งแต่ต้นโดยไม่มีหลักฐานข้อมูลใดๆ ว่า นักเรียนนักศึกษาถูกปลุกปั่น ถูกชักจูง โดยนักการเมืองฝ่ายค้าน นี่คือทัศนะที่อยู่สังคมไทยมานาน แล้วเป็นทัศนะที่ชะลอความก้าวหน้าของสังคมไทยมาตลอด การลดทอนคุณค่าของคนรุ่นใหม่วางอยู่บนระบบอำนาจนิยมของความอาวุโส การเกิดทีหลังไม่ได้จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ด้อยกว่าหรือมีความคิดแย่กว่า และประสบการณ์ของคนแต่ละรุ่นในโลกที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะทำให้คนคิดเห็นต่อโลกต่างกันไป วิธีที่ดีที่สุดคือการร่วมเรียนรู้จากกันและกัน ไม่ใช่การปิดปากคนรุ่นใหม่พร้อมกับปิดหูคนรุ่นเก่า
 
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น คือการที่อาจารย์ศรีศักรสร้างภาพให้คนรุ่นใหม่ดูน่าสะพรึงกลัว นอกจากจะนำคนรุ่นใหม่ในไทยปัจจุบันไปโยงกับคนรุ่นใหม่ในอดีตที่ถูกพรรคคอมมิวนิสต์ปลุกปั่น ที่นับเป็นการเอาผีคอมมิวนิสต์มายัดเยียดให้นักเรียนนักศึกษานั่นเองแล้ว อาจารย์ศรีศักรยังพยายามหว่านล้อมให้เชื่อว่า คนรุ่นใหม่ต้องการ “ทำลายสิ่งที่เป็นสถาบันในความเป็นมนุษย์ เช่น สถาบันครอบครัว ชุมชน และการแต่งงาน... กับสถาบันทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งคือศาสนา” นี่คือทำให้นักเรียนนักศึกษากลายเป็นอาชญากรทางสังคมผู้ทำลายสิ่งดีงามของสังคมไทย
 
ข้อเท็จจริงที่อันตรายอีกประการคือการสรุปว่า “การเกิดความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ก็มีการใช้เด็กและผู้หญิงเป็นกำลังในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน” หากจะไม่สนใจข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในภาคใต้ที่ก็มีการวิเคราะห์กันมามากมายแล้วและไม่ได้ตรงกับข้อสรุปนี้แม้แต่น้อย สิ่งที่น่ากังวลคือการสร้างภาพให้เยาวชนกลายเป็นผู้นิยมความรุนแรงและเป็นผู้ทำลายชาติ
 
หากคนที่สติไม่สมประกอบพูดอะไรแบบนี้ สังคมก็สมควรจะยอมให้อภัยได้เนื่องจาเขาเสียสติ เขาต้องการการเยียวยา อาจต้องให้พักจากความรับผิดชอบไปสักครู่เพื่อให้เขาฟื้นฟูสภาพจิตใจ หากแต่นี่เป็นถ้อยคำที่ออกมาจากคนที่มีสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยม แล้วแสดงทัศนะบั่นทอนความเข้าใจกันในสังคม สร้างภาพให้คนหวาดกลัวเกลียดชังนักเรียนนักศึกษา ดูแคลนนักเรียนนักศึกษาอย่างนี้แล้ว สังคมจะยังสมควรให้อภัยเขาอยู่หรือ
 
หากข้อเขียนนี้จะไม่ได้ถูกเรียกว่า “งานวิชาการชั้นเลว” แล้ว ก็คงต้องเรียกว่า “ถ้อยคำยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังกันในสังคม” (hate speech) คนแบบนี้ ทัศนคติแบบนี้ ยังสมควรเป็นครูบาอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยอยู่อีกหรือ ยังสมควรนับถือกันว่าเป็นผู้นำทางปัญญาที่จะคอยเชิญไปเทศนาเผยแพร่ความคิดแก่สังคมอยู่อีกหรือ
 
ที่ผมจะนึกเสียใจและน้อยใจอยู่สักหน่อยก็ตรงที่ว่า วิชามานุษยวิทยาที่ผมก็ร่ำเรียนมานั้น คงจะไม่ได้ช่วยให้คนคนหนึ่งที่ผ่านการศึกษาระดับสูง ในมหาวิทยาลัยทรงเกียรติทั้งในและต่างประเทศ มีสำนึกเคารพคน มองเห็นคนเท่ากันขึ้นมาเลยหรืออย่างไร ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องปรับปรุงความรู้สาขาวิชานี้ให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อว่าในอนาคต สาขามานุษยวิทยาจะได้มีคนแบบนี้น้อยลง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว