Skip to main content

จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง

1. ทหารชั้นผู้ใหญ่หาผลประโยชน์จากทหารชั้นผู้น้อย ข่าวความคับแค้นใจจากการถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่และญาตินายทหารชั้นผู้ใหญ่โกง ข่าวความไม่โปร่งใสของการทำธุรกิจที่ดินระหว่างทหารชั้นผู้ใหญ่กับทหารชั้นผู้น้อย แสดงถึงประโยชน์ทับซ้อน การหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมในกองทัพ การฉ้อฉลในกองทัพ ทั้งหมดนี้รอการตรวจสอบต่อไป แต่นี่เป็นเพียงเหตุเฉพาะหน้าของเหตุการณ์ เหตุซึ่งใหญ่กว่านั้นในระดับโครงสร้างคือการหละหลวมของระบบ และความล้าหลังของบุคลากรและองค์กรกองทัพไทย ที่เราก็ได้เห็นจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน

2. ทหารชั้นผู้น้อยไม่มีวินัย ควบคุมตนเองไม่ได้ ความไร้วินัยของทหารบางคน ไม่ได้แสดงถึงแค่ระดับปัจเจก แต่แสดงถึงการที่กองทัพไม่รู้จักวิธีควบคุมกำลังคนที่ถืออาวุธ การสร้างวินัยไม่ใช่แค่การควบคุมท่าทางในการนั่ง ยืน เดิน ตามที่เป็นข่าวแล้วกองทัพก็รีบออกมาปฏิเสธ นั่นไม่ใช่สาระของวินัยทหาร แต่ยังต้องมีเป็นการดูแลสภาพจิตใจ ตรวจสอบลักษณะนิสัย การฝึกฝนให้เคารพหน้าที่ เคร่งครัดกับระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่เข้าถึงอาวุธสงครามร้ายแรงได้ ยิ่งต้องมีการตรวจสอบควบคุมอย่างใกล้ชิด การปล่อยให้คนมีลักษณะนิยมความรุนแรงเป็นพื้นฐาน สามารถเข้าถึงอาวุธสงครามร้ายแรงได้ ทำให้น่าสงสัยว่าทหารไทยคิดถึงระเบียบวินัยแบบไหนกัน

3. ทหารทั้งค่ายทหารไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เรื่องน่าวิตกกังวลแก่ทั้งสังคมคือ ศักยภาพในการป้องกันตนเองของทหาร โดยเฉพาะทหารที่ดูแลคลังอาวุธสงคราม และการคุ้มครองประชาชน การที่คนเพียงคนเดียว แม้จะมีอาวุธแต่ในระหว่างที่เขาเข้าไปชิงอาวุธนั้น เขาน่าจะยังไม่ได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรง แต่เพียงเท่านั้นก็ยังสามารถเข้าถึงคลังอาวุธและนำอาวุธพร้อมขับรถทหารออกมาตามลำพังได้ นี่ย่อมทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจว่าทหารจะสามารถทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนได้หรือไม่ เพราะขนาดทหารเองยังคุ้มครองตนเองไม่ได้เลย

4. ทหารทั้งค่ายทหารไม่สามารถป้องกันการก่อการร้ายทั้งในค่ายและที่จะเกิดต่อเนื่องในสังคมวงกว้างได้ หลังจากคนร้ายได้อาวุธร้ายแรงไปแล้ว ค่ายทหารทั้งค่ายก็ปล่อยให้เขาหลุดรอดจนออกไปก่อเหตุได้ นี่แสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุร้ายที่กำลังจะขยายตัวออกไป ประชาชนยังสงสัยอีกด้วยว่าค่ายทหารมีการซ้อมการป้องกันภัยอย่างไรหรือไม่ มีขั้นตอนที่เป็นระเบียบปฏิบัติอย่างไร หากทหารทั้งค่ายไม่มีกลไกในการป้องกันการก่อการร้าย ไม่สามารถสกัดกั้นเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วทหารจะปกป้องประชาชนได้อย่างไร นี่ยังไม่นับว่าจะไปรบทัพจับศึกกับใครเขาได้ 

5. ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะในภาวะความสูญเสีย ในภาวะของความสูญเสีย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นเสียเลยจนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นถึงระดับผู้นำกองทัพจะไม่เคยมีประสบการณ์ แต่ประสบการณ์อาจจะไม่ได้สอนคนคนนั้นเลยหากเขาไม่มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงามต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากเขายังคงมองประชาชนว่าเป็นคนอยู่ใต้การปกครอง ใต้การบังคับบัญชาของเขาเท่านั้น ข้อนี้จึงน่ากังวลว่า หากกองทัพไทยยังคงอบรบสั่งสอนให้บุคลากรมีนิสัยกักขฬะต่อประชาชนเช่นนี้ หากกองทัพยังคงยอมรับและปล่อยให้คนแบบนี้มาเป็นผู้นำเรื่อยๆ จะเป็นกองทัพที่รับใช้ ดูแลทุกข์สุข เห็นใจประชาชนได้อย่างไร

6. ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้จักสำนึกผิด ความยอมรับผิดต่อหน้าที่ต่อความรับผิดชอบมีย่อมมากขึ้นตามอำนาจที่มี ยิ่งอำนาจมากยิ่งต้องมีความรับผิดอบมากและยิ่งต้องมีสำนึกต่อความรับผิดมาก แต่ทหารชั้นผู้ใหญ่ไทยกลับเป็นตรงกันข้าม ยิ่งผิดมากยิ่งแก้ตัวมาก ยิ่งปัดความรับผิดชอบมาก ยิ่งไม่แยแสมาก ในเหตุการณ์นี้ เห็นได้ชัดว่าทหารชั้นผู้ใหญ่ปัดความรับผิดชอบให้ทหารชั้นผู้น้อยที่ก่อความผิด ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้จักยอมรับความบกพร่องของการรักษาความปลอดภัยในค่ายทหารเอง ประชาชนย่อมสงสัยว่าพวกเขาห่วงการมีอยู่ของฐานะ ตำแหน่ง รายได้ หน้าตา ของตนเอง มากกว่าการมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือไม่

7. ทหารทั้งกองทัพไร้ธรรมาภิบาล ทหารทั้งกองทัพชอบแก้ตัวให้แก่กันมากกว่าทบทวนตรวจสอบปัญหา เมื่อเกิดปัญหาแล้ว แทนที่จะตั้งกรรมการตรวจสอบ ทบทวนตนเอง ทบทวนความบกพร่อม ไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อปรับปรุง กองทัพไทยกลับมีแต่กลไกการแก้ตัว หน่วยงานประชาสัมพันธ์มีหน้าที่แก้ต่างให้กับความผิดของทหารชั้นผู้ใหญ่ แก้ต่างให้กับความด้อยประสิทธิภาพของกองทัพ แก้ปัญหาด้วยปากมากกว่าการสร้างระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบจะต้องมาจากภายนอก หรือมีคนจากภายนอกมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความผิดพลาด ไม่ใช่เหตุเกิดยังไม่ทันข้ามวัน ก็แก้ตัวแล้วว่าไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีความบกพร่อง หรืออ้างกระทั่งว่าตรวจสอบแล้วไม่พบความบกพร่อง 

ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการปฏิรูปกองทัพใดๆ เลย แค่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ แค่เป็นทหารที่ควรจะเป็น แค่ทำหน้าที่ตนเองให้ดี ทหารไทยทุกระดับยังแสดงให้เห็นไม่ได้เลยว่ามีความสามารถทำได้ แล้วประชาชนจะเชื่อมั่นในคำพูดว่าจะปกป้องคุ้มครองประชาชน จะป้องกันประเทศชาติได้อย่างไร มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ที่ทุกวันนี้กองทัพไทยเข้ามายุ่มย่ามกับการบริหารประเทศ คือทำเกินหน้าที่ของตนเองนั้น จะทำให้ดีได้อย่างไร เพราะแม้แต่หน้าที่ของตนเองยังทำให้ดีไม่ได้เลย

#ทหารมีไว้ทำไม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม