Skip to main content

 

ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน

<--break->เมื่อไม่นานมานี้ มีนักการทูตจากประเทศหนึ่งถามผมว่า "ในภาวะการณ์ทางการเมืองที่มีการแบ่งฝ่ายทางการเมืองอย่างรุนแรงนี้ ส่งผลต่อเสรีภาพในการพูด (freedom of speech) ของนักวิชาการบ้างหรือเปล่า" ผมตอบว่า ที่ผมประสบมาและที่ทราบมามีหลายกรณีด้วยกัน

หนึ่ง เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมถูกปฏิเสธ ไม่ให้เข้ารับตำแหน่งบริหารขององค์กรหนึ่ง เมื่อก่อนองค์กรนี้มีบทบาททางวิชาการอย่างสำคัญ แต่ระยะหลังซบเซาไป มีเพื่อนนักวิชาการไม่กี่คนที่รู้การทาบทามนี้ ทุกคนสงสัยแต่แรกว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ ผมเองก็สงสัยแต่แรก แต่อีกใจก็อยากรู้ว่าจะเดาผิดหรือเปล่า ผลก็คือ ผู้ใหญ่ ๆ ในองค์กรนั้นบอกผู้ใหญ่ที่มาทาบทามผมว่า "คนนี้ใส่เสื้อมีสี ให้มาทำงานที่นี่ไม่ได้เด็ดขาด" เล่นเอาผู้ใหญ่ที่มาทาบทามผมงงงวยไปเลย

สอง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมได้รับการทาบทามให้ไปเป็นองค์ปาฐกให้กับการประชุมทางวิชาการใหญ่รายการหนึ่งจากเพื่อนนักวิชาการ แต่แล้วเมื่อรายการจัดออกมา ปรากฏว่าไม่มีรายชื่อผม ผมก็ไม่ได้ติดใจถามไถ่อะไร เนื่องจากคิดว่าตนเองคงยังไม่มีคุณวุฒิเพียงพอ แต่เพิ่งมารู้ภายหลังว่า แหล่งทุนที่ให้เงินสนับสนุนระบุมาว่า "อย่าให้มีพวกใส่เสื้อสี...มากนัก" ชื่อผมก็เลยหลุดไป

สาม ในตำแหน่งบริหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ผมหมดวาระแล้ว และผมไม่ได้รับตำแหน่งต่อ เพราะอยากทำงานเขียนให้มากขึ้นและเห็นว่าเพื่อนร่วมงานก็น่าจะได้ลองทำงานบริหารกันบ้าง แต่ในระหว่างอยู่ในตำแหน่ง เมื่อใดที่ขอห้องประชุมจัดงาน ฝ่ายบริหารซึ่งดูแลสถานที่จะต้องแขวะกลับมาทุกทีว่า "เป็นงานเสื้อ...อีกแล้วใช่ไหม" หากไม่มีการเมืองสีเสื้อ งานเหล่านี้จะเป็นกิจกรรมบริการวิชาการที่มหาวิทยาลัยสนับสนุนเป็นอย่างดี

สี่ ในการขอทุนทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาคนหนึ่งที่ผมเป็นกรรมการวิทยานิพนธ์ แหล่งทุนปฏิเสธการสนับสนุนวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในมิติทางสังคม-วัฒนธรรม หน่วยงานดังกล่าวซึ่งเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศนี้ ให้เหตุผลว่าแหล่งทุนไม่มีนโยบายสนับสนุนให้ทำวิทยานิพนธ์ประเด็นดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย และเรายังขาดความรู้อีกมาก

ห้า ในการทำงานวิจัยที่ผ่านมา ผมและเพื่อนร่วมวิจัยทุกคนประสบกับอุปสรรคใหญ่ในการเขียนรายงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ การวิจัยศึกษาความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยจากมุมมองของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ส่วนหนึ่งของข้อมูลคือความเห็นของประชาชนต่อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน แหล่งทุนบังคับว่าจะต้องตัดความเห็นเหล่านั้นออกจากงานวิจัย มิฉะนั้นจะไม่ยอมรับผลการวิจัย

หก นี่เป็นเรื่องไกลตัว ผมไม่ได้ประสบเอง แต่รับรู้มาว่า การสลับสับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัย สถาบันวิชาการสำคัญ ๆ หลายสถาบันเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เขี่ยนักวิชาการที่มีผลงานโดดเด่นและเป็นที่นับถือทั้งในแวดวงวิชาการและแวดวงบริการสังคมออกไปเป็นจำนวนมาก คนเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยนักวิชาการตายซาก ด้วยบรรดาคนเฒ่าคนชราที่เลิกอ่านหนังสือไปหลายสิบปีแล้ว ผมสงสัยว่าจะเกี่ยวอะไรกันกับการติดสติ๊กเกอร์ "เสื้อตัวนี้สี..." อีกหรือเปล่า

นี่คือเหตุผลที่ทำไมนักวิชาการส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางที่ค้ำจุนการคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสังคมไทย และทำไมนักวิชาการอีกจำนวนมากจึงนิ่งดูดายกับความไม่ยุติธรรมในสังคมนี้ และดังนั้น ในภาพรวมของแวดวงการศึกษา ผมไม่หวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นภายในระยะ 10 ปีนี้เป็นอย่างน้อย

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย