Skip to main content

มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม

ว่าแล้วจะหาว่าคุย ความหนาวแบบเกียวโตขณะนี้น่ะหรือ ที่วิสคอนซินน่ะแค่ฤดูใบไม้ร่วงหรือฤดูใบไม้ผลิเท่านั้นเอง ที่วิสคอนซิน บางปีตอนฤดูหนาว หนาวเหน็บมาก กระทั่งเมื่อเริ่มฤดูใบไม้ผลิ วันไหนอุณหภูมิแตะสัก 40 ฟาเรนไฮต์ คือสัก 1-2 เซลเซียส พวกสาวๆ เธอก็นุ่งสั้น บางคนเว่อร์ขนาดนุ่งบิกินี่มาอาบแดดกันทีเดียว

เครื่องกันหนาวที่วิเศษอย่างหนึ่งของเกียวโตคือเสื้อ heattech เขาคุยว่าเป็น Japan Technology ผมก็ไปซื้อมา ไม่ได้แพงบ้าบออะไร เสื้อตัวละสามร้อยบาท กางเกงตัวละสามร้อยบาท ใส่แบบแนบเนื้อทั้งล่างและบน แล้วใส่เสื้อสเว็ตเตอร์ทับ แล้วเสื้อแจ๊คเก็ตดีๆ (พาเสื้อขนเป็ดที่เขาว่าวิธีเอาขนมานั้นทรมาณเป็ดนักหนานั่นแหละมาหนึ่งตัว ไม่ได้แพงมากมาย ซื้อตอนเขาลดราคา) นุ่งยีนส์ธรรมดา รองเท้าก็แบบใส่ที่เมืองไทย ใส่ถุงมือหน่อย ใส่หมวกหน่อย เอาผ้าพันคอหนาๆ พันคอสักรอบนึง แค่นี้ก็เดินเล่นในเกียวโตขณะนี้ได้อย่างสบายอารมณ์แล้ว

ความรู้เรื่องการแต่งตัวหน้าหนาวส่วนใหญ่ได้มาจากการใช้ชีวิตที่วิสคอนซิน ฝรั่งเขาว่า ต้องใส่ชั้นในแนบเนื้อเพื่อรักษาความร้อนเอาไว้ในตัว การใส่หมวกจะช่วยเก็บความร้อนของร่างกายได้ด้วย เพราะเขาว่าความร้อนจะระบายออกทางหัว ถุงมือต้องมี เพราะอาจโดนฟรอสไบท์ หรือนำ้แข็งกัดเอาได้ คือหมายถึงมือมันจะแข็งน่ะ หากหนาวมากๆ อาจต้องหาอะไรมาปิดหู ไม่งั้นหูจะแข็งได้ บางทีต้องใส่หมวกคลุมหัวที่ปิดหูได้ด้วย แบบที่พวกแร็บเตอร์ใส่น่ะ (เคยเห็นเด็กไทยใส่ที่แบงค์ค่อกแล้วจะบ้าตาย ไม่ร้อนตายรึไงครับขุ่นหนู)

แต่ที่ลำบากสำหรับผมคือ ชาวเกียวโตบ้าแฟชั่น ช่างแต่งตัว พวกเขาแต่งตัวกันสวยงามกันทุกฤดูกาล ส่วนผมน่ะ ประสบการณ์ความหนาวก็มาจากวิสคอนซิน เมืองบ้านนอกที่ผู้คนชอบแต่งตัวราวกับจะไปล่ากวางตลอดเวลา (ที่นั่นมีฤดูล่ากวางกับล่าไก่งวงจริงๆ เพราะมันเยอะ เขาให้นักล่าซื้อใบอนุญาตล่าสัตว์ ล่ากันตอนฤดูใบไม้ร่วง เดือนพฤศจิกายน แล้วเอามาทำอาหารกินกันตอน Thanksgiving) 

ตอนอยู่วิสคอนซิน เงินทองไม่ค่อยมีใช้ ต้องประหยัดขนาดไปหาซื้อเสื้อผ้ามือสองใส่ เจออะไรพอใส่ได้กันหนาวก็ซื้อมา ไม่ได้สนใจแฟชั่นอะไร เรียกว่าแต่งตัวตกยุคพ้นสมัยเสียยิ่งกว่าคนวิสคอซินเสียอีก เคยมีบางทีที่ไปสัมมนาวิชาการที่เมืองใหญ่ๆ อย่างชิคาโก ชาววิสคอนซิน ก็พวกเพื่อนๆ ร่วมชั้นไปกันหลายๆ คนนั่นแหละ เดินในชิคาโกแล้วอายเขาแทบแทรกหิมะหนี สีสันแจ๊คเก็ตชาววิสคอนซินนี่มันบ้านน้อกบ้านนอก

ยังอยู่หนาวอีกหลายวัน เอาไว้หากมีโอกาสฝ่าหนาวไปเยี่ยมชมที่ไหนที่น่าสนใจจะมาทยอยเล่าให้ฟังครับ (วันนี้เพิ่งไปพิพิธภัณฑ์มังกะมา เอาไว้ค่อยเล่า)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้