Skip to main content

เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง

กลับจากเกียวโตเที่ยวนี้ สิ่งที่อาลัยถึงที่สุดไม่ใช่การที่ต้องจากเส้นราเมนเหนียวนุ่มในน้ำซุปข้นจากกระดูกหมู ไม่ใช่โหยหวนถึงการกินโอโคโนมิยากิรวมมิตรกระหลำ่ปลีที่เมื่อเสิร์ฟร้อนๆ แล้วโรยหน้าด้วยปลาแห้งซอยบางเป็นกระดาษ จนลมร้อนโชยพัดปลาแห้งไหวพริ้ว ซึ่งหากได้นั่งกินหน้ากะทะเหล็กควันโขมงในร้านซอมซ่อเล็กๆ แล้ว ก็จะเปลืองเบียร์ไม่ใช่น้อย 

ไม่ใช่อาลัยหาเนื้อชั้นดีที่มันแทรกเข้าไปในเนื้อเป็นริ้วๆ เพียงผัดกับต้นกระเทียมที่ปลูกชานเมืองเกียวโตโรยเกลือนิดหน่อย เหยาะซีอิ้วญี่ปุ่นนิดหน่อย ก็กินข้าวได้ชามใหญ่แล้ว ไม่ใช่อาลัยความพิถีพิถันในการแยกชิ้นส่วนต่างๆ ของไก่ไปทำอาหารหลากชนิด จนแทบจะจินตนาการไม่ได้ว่า ทำไมต้องแยะแยะอะไรกันวุ่นวายขนาดนี้ ไม่ใช่อาลัยโมจิแป้งข้าวเหนียวหนึบแต่นุ่มละไมลิ้นรสหวานไม่ถึงกับแสบคอ ฯลฯ แต่เป็นความอาลัยต่อเสียงต่างๆ ที่ไม่ได้ยินในกรุงเทพฯ 

พลันขึ้นรถไฟฟ้าจากเกียวโตไปโอซาก้า นั่งไปได้สักพัก ก็มีเสียงประกาศว่า "โปรดอย่าส่งเสียงรบกวนบนรถไฟ และโปรดงดใช้โทรศัพท์พูดคุยบนรถไฟ" ทำให้เวลาพูดคุยกันบนรถไฟ ก็มักต้องกระซิบกระซาบกันเบาเสียยิ่งกว่าเสียงคนคุยกันในห้องสมุดในเมืองไทย 

นั่นทำให้คิดถึงเสียงคุยโทรศัพท์บนรถบีทีเอสในกทม. ซึ่งมักเป็นเรื่องราวส่วนตัว ที่แม้กับคนรู้จักสนิทสนมกันก็ยังไม่กล้าคุยด้วย แต่ผู้ร่วมเดินทางแปลกหน้าชาวกทม.กลับไม่อายที่จะแชร์ให้ใครต่อใครได้ยินกันไปทั่วทั่งขบวนรถ จากนั้นก็พลันคิดไปถึงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินในเกียวโตในระยะไม่กี่วันที่อยู่ที่นั่น 

ในเมือง มักมีเสียงเครื่องยนตร์กลไกบนรถเมล์ รถไฟ และประตูร้านสะดวกซื้อ เสียงรถไฟวิ่ง เสียงเอียดออดของรางกับล้อที่เสียดสีกัน และความเงียบบนพาหนะที่ถูกแทรกด้วยเพียงเสียงประกาศถึงสถานี ไม่เพียงบนรถโดยสาร เสียงความเงียบของสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ในเมืองเป็นเสียงที่หากได้ยากในกทม. 

มื้อกลางวัน ในร้านบะหมี่ชนิดต่างๆ จะมีเสียง "ซื้บ..ๆ..ๆ.." อยู่สม่ำเสมอ ไม่ค่อยได้ยินผู้หญิงส่งเสียงนี้ เสียงสูดบะหมี่อย่างเอร็ดอร่อยจึงน่าจะเป็นเสียงของผู้ชายมากกว่า เป็นเสียงความอร่อยแบบแมนๆ ที่ต้องแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นเสียงจากทักษะพิเศษที่คงจะช่วยฉาบเส้นด้วยน้ำซุปร้อนๆ ยามบะหมี่ค่อยๆ เดินทางเข้าปากลงคอไป 

ร้านอาหารมีเสียงเจ้าของร้านพูดทักทาย พูดส่งแขกอยู่แทบจะตลอดเวลา ยิ่งถ้าเป็นร้านที่ขายดี ยิ่งมีเสียงทักทาย ส่งแขกกันอย่างซ้ำซาก แต่เสียงสอดแทรกในร้านอาหาร แม้แต่ร้านราเมนแคบๆ ราคากันเอง ริมถนน ก็อาจมีทั้งเพลงแจ๊ซ เพลงร็อค หรือแม้แต่เพลงคลาสสิค ฟังเสียงสูดบะหมี่สอดแทรกกับเพลงแจ๊ซแล้ว ได้อารมณ์การกินบะหมี่ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ 

ประเภทร้านค้าที่มีเสียงสะดุดหูมากอีกประเภทหนึ่งคือร้านขายยาใหญ่ๆ บางร้านมีเสียงพนักงานวิ่งไปว่ิงมา หอบของพะรุงพะรังมาจัดชั้นวางสินค้า และคอยตะโกนอะไรสักอย่าง ที่ผมฟังไม่ออกเนื่องจากไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ตลอดเวลา ไม่รู้ทำไมพนักงานเหล่านี้ต้องทำทีขยันขันแข็ง แอคทีฟเกินจำเป็นตลอดเวลา 

บนถนน เสียง "ตึ้ดๆ" บ้าง "เปี้ยวๆ" บ้าง ดังอยู่ทั่วไปตรงทางข้าม เสียงเตือนลักษณะนี้ยังมีอยู่ตามขั้นบันไดที่สถานีรถไฟ เข้าใจว่าเป็นเสียงเตือนทั้งคนตาดีและคนตาเสีย น่าสังเกตว่าแทนที่จะพูดเตือน เขาใช้เสียงที่เป็นกลไกหรือเสียงเหมือนนกร้อง "จิ๊บๆๆๆๆ" ส่งเสียงเตือน  

ที่จริงเสียงเตือนเวลารถไฟมาก็น่าสนใจ หลายสถานีใช้เสียงดิจิทัลถี่ๆ แบบหวานๆ รัวๆ บอกเตือนว่ารถไฟกำลังมา แทนที่จะเป็นเสียงนกหวีดห้วนๆ แบบสถานทีบีทีเอสในกทม. ตามสถานีเล็กๆ ที่นั่นเขามักไม่มีนายสถานีคอยยืนดูแลความปลอดภัย ผู้คนต้องดูแลกันเอง แต่บางทีเมื่อต้องเร่งหรือเตือนแรงๆ ในสถานีใหญ่ๆ เขาก็เป่านกหวีดห้วนๆ บ้างเหมือนกัน 

ในวัด ในศาลเจ้า ในป่าละเมาะของวัดหรือศาลเจ้า มีเสียงสวดมนต์ เสียงคนปรบมือเวลาไหว้เจ้า เสียงสั่นกระดิ่งกลม ทำนองบอกกล่าวเรียกผี เสียงการ้อง 

ในห้องที่พักเวลากลางคืน ยิ่งในฤดูหนาว เสียงความเงียบ ที่เงียบจนได้ยินเสียงหวีดหวิวในหูตัวเอง ดังก้องห้องพัก 

คนต่างถิ่นบางคนหรือคนที่นั่นหลายคนก็คงไม่ชอบเสียงพวกนี้ จะชอบหรือไม่ก็ตาม เสียงเหล่านี้ก็พอจะบอกวิถีชีวิตของคนได้บ้าง นอกเหนือจากไปเที่ยวชม เที่ยวลิ้มชิมรสแล้ว บางทีเราก็น่าจะไปเที่ยวฟังเสียงชีวิตประจำวันตามที่ต่างๆ กันบ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำถามที่ว่า "นายสุเทพ เทือกสุบรรณและพรรคประชาธิปัตย์ได้รับสัญญาณอะไรพิเศษหรือไม่จึงกล้าบ้าบิ่นได้ขนาดนี้?" คำถามที่ว่า "เครือข่ายชนชั้นนำเก่าฉวยโอกาสตีตลบหลังเครือข่ายทักษิณ ผ่านอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระต่างๆ ด้วยหรือไม่" นั้น ผมไม่มีปัญญาตอบ ขอติดตามการวิเคราะห์ของผู้อื่นที่เข้าถึงข้อมูลแปลกๆ หรือมีทฤษฎีวิเคราะห์การเมืองไทยจากมุมชนชั้นนำทางการเมืองมาเล่าเองดีกว่า ส่วนตัวผมอยากทำความเข้าใจมวลชน หรืออย่างน้อยอยากเข้าใจเพื่อนๆ มากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ขณะนี้ 3 ข้อ ว่าด้วย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ฝ่ายหนุนรัฐบาล และความเสี่ยงของประเทศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชีวิตคนมีหลายด้าน คนหลายกลุ่มไม่ได้หมกมุ่นวุ่นวายเรื่องใดเรื่องเดียวกับเรา ผมอยากเขียนถึงคนที่แม่สอด ไม่ใช่เพื่อหลีกลี้หนีจากความวุ่นวายในกรุงเทพ แต่เพื่อบันทึกความประทับใจจากการพบปะผู้คนที่เพิ่งได้ไปเจอมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จดหมายเปิดผนึกของคณาจารย์ธรรมศาสตร์เป็นตัวอย่างของการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเหมาเข่งอย่างคับแคบ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"พี่จะไปเวียดนามครั้งแรก มีอะไรแนะนำมั่ง" เพื่อนคนหนึ่งเขียนมาถามอย่างนั้นพร้อมส่งโปรแกรมการเดินทางที่กลุ่มเขาจะเดินทางด้วยมาให้ดู ผมเลยตอบไปคร่าวๆ ข้างล่างนี้ เพื่อนยุให้นำมาเผยแพร่ต่อที่นี่ ยุมาก็จัดไปครับ เผื่อเป็นไอเดียสำหรับใครที่จะไปเวียดนามเหนือช่วงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงมีใครเคยอธิบายเรื่องนี้ไปแล้วอย่างเป็นระบบและมีการอ้างอิงอย่างเป็นวิชาการอย่างที่สุด แต่ผมก็ยังอยากเขียนเรื่องนี้อย่างย่นย่อในวันนี้อีกอยู่ดี 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แว่บแรกที่ฟังจบ ผมอุทานในใจว่า "ปาฐกถาเสกสรรค์โคตรเท่!" ผมไม่คาดคิดเลยว่าปาฐกถา อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลในวาระ 40 ปี 14 ตุลาจะเท่ขนาดนี้ ผมว่ามีประเด็นมากมายที่ไม่ต้องการการสรุปซ้ำ เพราะมันชัดเจนในตัวของมันเอง อย่างน้อยในหูและหัวของผม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวครม.ผ่านร่างพรบ.ว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชวนให้ผู้เขียนเศร้าใจจนกลายเป็นโกรธและสมเพชรัฐบาลอย่างเกินเวทนา ผู้บริหารประเทศนี้ชักจะบ้าจี้กันไปใหญ่แล้ว ความจริงไม่ใช่นักการเมืองบ้าอำนาจหรอก แต่นักการเมืองประเทศนี้เกรงกลัวสถาบันหลักต่างๆ อย่างไร้สติกันเกินไปแล้ว จนกระทั่งออกกฎหมายป้อยอ ปกป้องกันจนจะบิดเบือนธรรมชาติของสังคมกันไปใหญ่แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังยุค 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 คนหนุ่มสาวรุ่นหลังมักถูกตั้งคำถามเสมอว่า "นักศึกษาหายไปไหน" กระทั่งสรุปกันไปเลยว่า "ขบวนการนักศึกษาตายแล้ว" แต่ใครจะถามบ้างไหมว่าที่ผ่านมาร่วม 40 ปีน่ะ สังคมไทยมันไม่เปลี่ยนไปบ้างเลยหรืออย่างไร แล้วจะให้ความคิดนักศึกษาหยุดอยู่นิ่งๆ คอยจ้องหาเผด็จการแบบเมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ได้อย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"นี่หรือธรรม..ธรรมศาสตร์ นี่แหละคือธรรม..ธรรมศาสตร์" กร๊ากๆๆ ขำจะตายอยู่แล้ว พวกคุณถามว่าทำไมนักศึกษาสมัยนี้สนใจเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่สนใจเรื่องใหญ่โต แล้วนี่พวกคุณทำอะไร เขาเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์ดีไหม องค์กรซ้อนรัฐไหนกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างเขื่อน ใครกันที่สำรวจเรื่องเขื่อนแล้วสรุปให้สร้างซึ่งพอสร้างแล้วเงินก็เข้ากระเป๋าเขาเอง..
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เอ่อ.. คือ.. ผมก็เบื่อเรื่องนี้นะ อยากให้จบสักที แต่มันก็ไม่จบง่ายๆ มีอาจารย์ใส่เครื่องแบบถ่ายภาพตัวเอง มีบทสัมภาษณ์ มีข่าวต่อเนื่อง มีเผจล้อเลียน มีโพลออกมา มีคนโต้เถียง ฯลฯลฯ แต่ที่เขียนนี่ อยากให้นักศึกษาที่อึดอัดกับการต่อต้านการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาอ่านมากที่สุดนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไมปรากฏการณ์แฟรงค์ เนติวิทย์ และอั้ม เนโกะจึงทำให้สังคมไทยดิ้นพล่าน