Skip to main content

เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง

กลับจากเกียวโตเที่ยวนี้ สิ่งที่อาลัยถึงที่สุดไม่ใช่การที่ต้องจากเส้นราเมนเหนียวนุ่มในน้ำซุปข้นจากกระดูกหมู ไม่ใช่โหยหวนถึงการกินโอโคโนมิยากิรวมมิตรกระหลำ่ปลีที่เมื่อเสิร์ฟร้อนๆ แล้วโรยหน้าด้วยปลาแห้งซอยบางเป็นกระดาษ จนลมร้อนโชยพัดปลาแห้งไหวพริ้ว ซึ่งหากได้นั่งกินหน้ากะทะเหล็กควันโขมงในร้านซอมซ่อเล็กๆ แล้ว ก็จะเปลืองเบียร์ไม่ใช่น้อย 

ไม่ใช่อาลัยหาเนื้อชั้นดีที่มันแทรกเข้าไปในเนื้อเป็นริ้วๆ เพียงผัดกับต้นกระเทียมที่ปลูกชานเมืองเกียวโตโรยเกลือนิดหน่อย เหยาะซีอิ้วญี่ปุ่นนิดหน่อย ก็กินข้าวได้ชามใหญ่แล้ว ไม่ใช่อาลัยความพิถีพิถันในการแยกชิ้นส่วนต่างๆ ของไก่ไปทำอาหารหลากชนิด จนแทบจะจินตนาการไม่ได้ว่า ทำไมต้องแยะแยะอะไรกันวุ่นวายขนาดนี้ ไม่ใช่อาลัยโมจิแป้งข้าวเหนียวหนึบแต่นุ่มละไมลิ้นรสหวานไม่ถึงกับแสบคอ ฯลฯ แต่เป็นความอาลัยต่อเสียงต่างๆ ที่ไม่ได้ยินในกรุงเทพฯ 

พลันขึ้นรถไฟฟ้าจากเกียวโตไปโอซาก้า นั่งไปได้สักพัก ก็มีเสียงประกาศว่า "โปรดอย่าส่งเสียงรบกวนบนรถไฟ และโปรดงดใช้โทรศัพท์พูดคุยบนรถไฟ" ทำให้เวลาพูดคุยกันบนรถไฟ ก็มักต้องกระซิบกระซาบกันเบาเสียยิ่งกว่าเสียงคนคุยกันในห้องสมุดในเมืองไทย 

นั่นทำให้คิดถึงเสียงคุยโทรศัพท์บนรถบีทีเอสในกทม. ซึ่งมักเป็นเรื่องราวส่วนตัว ที่แม้กับคนรู้จักสนิทสนมกันก็ยังไม่กล้าคุยด้วย แต่ผู้ร่วมเดินทางแปลกหน้าชาวกทม.กลับไม่อายที่จะแชร์ให้ใครต่อใครได้ยินกันไปทั่วทั่งขบวนรถ จากนั้นก็พลันคิดไปถึงเสียงต่างๆ ที่ได้ยินในเกียวโตในระยะไม่กี่วันที่อยู่ที่นั่น 

ในเมือง มักมีเสียงเครื่องยนตร์กลไกบนรถเมล์ รถไฟ และประตูร้านสะดวกซื้อ เสียงรถไฟวิ่ง เสียงเอียดออดของรางกับล้อที่เสียดสีกัน และความเงียบบนพาหนะที่ถูกแทรกด้วยเพียงเสียงประกาศถึงสถานี ไม่เพียงบนรถโดยสาร เสียงความเงียบของสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ในเมืองเป็นเสียงที่หากได้ยากในกทม. 

มื้อกลางวัน ในร้านบะหมี่ชนิดต่างๆ จะมีเสียง "ซื้บ..ๆ..ๆ.." อยู่สม่ำเสมอ ไม่ค่อยได้ยินผู้หญิงส่งเสียงนี้ เสียงสูดบะหมี่อย่างเอร็ดอร่อยจึงน่าจะเป็นเสียงของผู้ชายมากกว่า เป็นเสียงความอร่อยแบบแมนๆ ที่ต้องแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นเสียงจากทักษะพิเศษที่คงจะช่วยฉาบเส้นด้วยน้ำซุปร้อนๆ ยามบะหมี่ค่อยๆ เดินทางเข้าปากลงคอไป 

ร้านอาหารมีเสียงเจ้าของร้านพูดทักทาย พูดส่งแขกอยู่แทบจะตลอดเวลา ยิ่งถ้าเป็นร้านที่ขายดี ยิ่งมีเสียงทักทาย ส่งแขกกันอย่างซ้ำซาก แต่เสียงสอดแทรกในร้านอาหาร แม้แต่ร้านราเมนแคบๆ ราคากันเอง ริมถนน ก็อาจมีทั้งเพลงแจ๊ซ เพลงร็อค หรือแม้แต่เพลงคลาสสิค ฟังเสียงสูดบะหมี่สอดแทรกกับเพลงแจ๊ซแล้ว ได้อารมณ์การกินบะหมี่ที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ 

ประเภทร้านค้าที่มีเสียงสะดุดหูมากอีกประเภทหนึ่งคือร้านขายยาใหญ่ๆ บางร้านมีเสียงพนักงานวิ่งไปว่ิงมา หอบของพะรุงพะรังมาจัดชั้นวางสินค้า และคอยตะโกนอะไรสักอย่าง ที่ผมฟังไม่ออกเนื่องจากไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น ตลอดเวลา ไม่รู้ทำไมพนักงานเหล่านี้ต้องทำทีขยันขันแข็ง แอคทีฟเกินจำเป็นตลอดเวลา 

บนถนน เสียง "ตึ้ดๆ" บ้าง "เปี้ยวๆ" บ้าง ดังอยู่ทั่วไปตรงทางข้าม เสียงเตือนลักษณะนี้ยังมีอยู่ตามขั้นบันไดที่สถานีรถไฟ เข้าใจว่าเป็นเสียงเตือนทั้งคนตาดีและคนตาเสีย น่าสังเกตว่าแทนที่จะพูดเตือน เขาใช้เสียงที่เป็นกลไกหรือเสียงเหมือนนกร้อง "จิ๊บๆๆๆๆ" ส่งเสียงเตือน  

ที่จริงเสียงเตือนเวลารถไฟมาก็น่าสนใจ หลายสถานีใช้เสียงดิจิทัลถี่ๆ แบบหวานๆ รัวๆ บอกเตือนว่ารถไฟกำลังมา แทนที่จะเป็นเสียงนกหวีดห้วนๆ แบบสถานทีบีทีเอสในกทม. ตามสถานีเล็กๆ ที่นั่นเขามักไม่มีนายสถานีคอยยืนดูแลความปลอดภัย ผู้คนต้องดูแลกันเอง แต่บางทีเมื่อต้องเร่งหรือเตือนแรงๆ ในสถานีใหญ่ๆ เขาก็เป่านกหวีดห้วนๆ บ้างเหมือนกัน 

ในวัด ในศาลเจ้า ในป่าละเมาะของวัดหรือศาลเจ้า มีเสียงสวดมนต์ เสียงคนปรบมือเวลาไหว้เจ้า เสียงสั่นกระดิ่งกลม ทำนองบอกกล่าวเรียกผี เสียงการ้อง 

ในห้องที่พักเวลากลางคืน ยิ่งในฤดูหนาว เสียงความเงียบ ที่เงียบจนได้ยินเสียงหวีดหวิวในหูตัวเอง ดังก้องห้องพัก 

คนต่างถิ่นบางคนหรือคนที่นั่นหลายคนก็คงไม่ชอบเสียงพวกนี้ จะชอบหรือไม่ก็ตาม เสียงเหล่านี้ก็พอจะบอกวิถีชีวิตของคนได้บ้าง นอกเหนือจากไปเที่ยวชม เที่ยวลิ้มชิมรสแล้ว บางทีเราก็น่าจะไปเที่ยวฟังเสียงชีวิตประจำวันตามที่ต่างๆ กันบ้าง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก