Skip to main content

การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้

หากดูเฉพาะในฝ่ายของผู้ชุมนุมเองแล้ว ผมเชื่อว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมมีความแตกต่างกันมากมายหลายกลุ่ม หลายวัตถุประสงค์ ภายใต้จุดร่วมเดียวกันคือ "หวังดีต่อประเทศชาติ" หากเรายึดเอาความหวังดีต่อประเทศชาติเป็นแกนพิจารณาหลัก ผมว่าคู่ขัดแย้งต่างๆ ก็น่าจะพอคุยกันได้

สำหรับ กปปส. พรรคปชป. และกลุ่มมวลชนที่ร่วมชุมนุมกลุ่มอื่นๆ พวกเขาคงอยากได้อำนาจมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และกำจัดทักษิณให้สิ้นซาก ส่วนผู้พยายามเป็น king maker ก็คงคิดว่าหากกำจัดทักษิณได้และครองอำนาจไว้สักระยะหนึ่ง ก็จะสามารถทำให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปอย่างที่พวกเขามั่นใจได้ แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น พวกเขากำลังเอาชีวิต ความปลอดภัยของประชาชนเป็นตัวประกันหรือไม่ 

ประชาชนที่เข้าร่วมทั่วไปจำนวนมากเขาอยากเห็นอะไร ผมเชื่อโดยสนิทใจว่า พวกเขาอยากเห็นประเทศชาติเจริญขึ้นในประเด็นใหญ่ที่มีไม่น่าจะเกิน 2 ประเด็น คือการธำรงสถาบันกษัตริย์ไว้ และการกำจัดนักการเมืองโกง 

หากปัญหามีเท่านี้ เราควรมาพิจารณาว่า การรักษาสถาบันฯ ไว้และการกำจัดคนโกงนั้น ทำด้วยวิธีที่ศิวิไลซ์กว่าการชุมนุมขับไล่รัฐบาลได้หรือไม่ กระบวนการยุติธรรมที่เรามีอยู่ก็ทำงานกำจัดคนโกงและปกป้องสถาบันฯ มาตลอดไม่ใช่หรือ

ถ้าอย่างนั้น คำถามที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การรักษาสถาบันฯ และการไล่คนโกงนั้น เป็นเป้าหมายในตัวของมันเอง หรือเป็นเพียงข้ออ้างในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองหนึ่ง ของคนชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง จากอีกกลุ่มการเมืองหนึ่ง อีกชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง แกนนำการชุมนุมและพวกผู้ถือหางระดับสูง พวกเขานำเอาความหวังดีต่อประเทศชาติของผู้เข้าร่วมชุมนุม มาเป็นข้ออ้างหล่อเลี้ยงการชุมนุม ที่ตัวเขาเองมีเป้าหมายเฉพาะเพื่อตนเองหรือไม่ 

และเมื่อมาถึงทุกวันนี้แล้ว ที่เราห็นความสูญเสียต่อประชาชนอันเนื่องมาจากความรุนแรงจากฝ่ายต่างๆ เราเห็นความเกลียดชัง ละเลงเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าจอทีวีและจอคอมพิวเตอร์ ความเกลียดชังที่สร้างด้วย "ถ้อยคำเหยียดคน" (hate speech) หรือคำพูดรุนแรงทำร้ายจิตใจกันนั่นแหละ ที่มันจะกลับมาหล่อเลี้ยง "ความรุนแรงทางตรง" ด้วยกระสุนปืน 

ในบรรดากลุ่มนักกิจกรรมและนักวิชาการ ผมเห็นความหวังดี ความกระตือรือล้นของคนทุกกลุ่ม แต่ที่น่าเสียใจคือ คนบางคนดูจะให้ความสำคัญกับเป้าหมาย มากกว่าวิธีการ และผมคิดว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ยอมแตกหักกับเพื่อนๆ ที่ยังหนุนการชุมนุมอยู่ 

ที่ร้ายกว่านั้นคือ พวกนักวิชาการและ NGOs ที่กระสันจะปฏิรูป พวกเขาดูเหมือนจะยอมเลี้ยงวิกฤตของประเทศเอาไว้เป็นตัวประกัน เพื่อแลกโอกาสที่จะให้ตนได้อำนาจปฏิรูปนอกวิถีทางประชาธิปไตย 

สุดท้าย ผมก็สงสัยว่า เราจะปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย หรือจะยอมสูญเสียชีวิตคนมากไปกว่านี้อีก เพียงเพื่อพยุงอำนาจต่อรองไว้ จะต้องรอให้สูญเสียอีกเท่าไหร่ พวกคุณที่ชุมนุมอยู่และที่เลี้ยงกระแสการชุมนุมไว้จึงจะยอมกลับมาสนับสนุนการเลือกตั้ง หยุดการชุมนุม เปิดการเจรจา แล้วค่อยคิดเรื่องการปฏิรูปกันหลังจากที่อะไรต่อมิอะไรมันสงบนิ่งกว่านี้ ไม่ดีกว่าหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้