Skip to main content

สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน

บางคนถามผมว่าทำไมไปไหนต่อไหนนักหนา คำตอบเฉพาะหน้าคือ ผมไปเสนอผลงานบ้าง ไปทำงานบ้าง ไปพบเพื่อนบ้าง ไปเยี่ยมครูบ้าง แต่ตอบอย่างกว้างๆ คือ ผมไปหาอะไรใหม่ๆ

เมื่อตอบอย่างนั้นแล้วก็นึกถึงตัวเองเมื่อร่วมยี่สิบปีก่อน ที่ไม่ค่อยชอบไปท่องเที่ยว ผมอธิบายตัวเองว่า ไม่อยากไปเพราะเมื่อไปแล้วก็ต้องกลับมาอยู่ที่เดิม ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมา แต่ส่วนหนึ่งของการอธิบายอย่างนั้นก็เพราะ การเดินทางต้องอาศัยอำนาจ เบื้องต้นคืออำนาจทางเศรษฐกิจ มากกว่านั้นคืออำนาจทางสังคมและการเมือง

นิสัยชอบเดินทางของผมคงได้มาจากการเรียนมานุษยวิทยาด้วยส่วนหนึ่ง ถ้าจะมีใครที่แยกการท่องเที่ยวกับการทำงานออกจากกันไม่ค่อยถูก ก็คงจะเป็นนักมานุษยวิทยานี่แหละ ผมถูกพี่สาวกระแนะกระแหนว่า "พวกเธอไม่เคยไปเที่ยวกันในความหมายที่คนทั่วไปเขาเที่ยวกันสักที เห็นไปไหนทีไรก็คือไปทำงานทุกที" พี่สาวก็เลยเตือนแม่ว่า อย่าคิดไปเที่ยวกับลูกชายคนนี้เลย เพราะจะไม่สนุกในแบบของนักท่องเที่ยวหรอก แถมเขาจะพาไปที่ลำบากๆ กินอะไรแปลกๆ 

ผมเคยรู้จักกวีคนหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนกันได้ เธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา สอน creative writing หรือการเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ เพื่อนคนนี้มีประวัติชีวิตสุดเหวี่ยงทีเดียว เธอเป็นคนผิวสี เกิดในเวียดนามช่วงสงคราม แล้วได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวคนขาวในสหรัฐฯ แต่เธอพูดภาษาอังกฤษเลียนแบบสำเนียงคนดำ บทกวีเธอมักเกี่ยวกับสถานที่ เธอบอกว่า "ฉันต้องเดินทางทุกปี ไม่ใช่ว่าเพื่อเขียนเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ หรอก แต่เพื่อให้ได้มุมมองใหม่ ๆ สำหรับงานเขียน" ผมฟังตอนนั้นแล้วเหมือนจะเข้าใจ แต่ก็งงๆ 

นั่นชวนให้นึกถึงอมิทาฟ กอช (Amitav Ghosh) นักเขียนอินเดียชื่อดังในปัจจุบัน คนทั่วไปรู้จักกอชในฐานะนักเขียนนิยายแนวประวัติศาสตร์ ที่จริงเขาจบปริญญาเอกมานุษยวิทยาจากออกซ์ฟอร์ด กอชเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ที่เลือกเรียนมานุษยาก็เพราะชอบเดินทาง แล้ววิธีเดียวที่จะเดินทางได้ดีที่สุดคือการเป็นนักมานุษยวิทยา" เพราะนักมานุษยวิทยามีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สุดท้าย กอชบอกว่า "งานเขียนทุกชิ้นของผมคืองานวิจัยทางมานุษยวิทยา ผมไม่ได้ถือว่ามันเป็นเรื่องแต่ง (fiction) เลย"

กลับมาที่ผมเอง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เขียนอะไรยิ่งใหญ่ได้เท่ากอช ยังไม่คิดเป็นกวีอย่างเพื่อนคนนั้น แต่ก็ยังสนุกกับการเรียนรู้ผ่านการเดินทาง ถ้าจะลองตอบตัวเองอีกทีว่า ทุกวันนี้เดินทางไปโน่นมานี่มากมายเพื่ออะไร ผมก็อยากตอบว่า ส่วนหนึ่งเพื่อหาคำตอบใหม่ๆ ให้กับคำถามเดิมๆ อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อตั้งคำถามใหม่ๆ ให้กับเรื่องราวคุ้นเคยเดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้