Skip to main content

สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน

บางคนถามผมว่าทำไมไปไหนต่อไหนนักหนา คำตอบเฉพาะหน้าคือ ผมไปเสนอผลงานบ้าง ไปทำงานบ้าง ไปพบเพื่อนบ้าง ไปเยี่ยมครูบ้าง แต่ตอบอย่างกว้างๆ คือ ผมไปหาอะไรใหม่ๆ

เมื่อตอบอย่างนั้นแล้วก็นึกถึงตัวเองเมื่อร่วมยี่สิบปีก่อน ที่ไม่ค่อยชอบไปท่องเที่ยว ผมอธิบายตัวเองว่า ไม่อยากไปเพราะเมื่อไปแล้วก็ต้องกลับมาอยู่ที่เดิม ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมา แต่ส่วนหนึ่งของการอธิบายอย่างนั้นก็เพราะ การเดินทางต้องอาศัยอำนาจ เบื้องต้นคืออำนาจทางเศรษฐกิจ มากกว่านั้นคืออำนาจทางสังคมและการเมือง

นิสัยชอบเดินทางของผมคงได้มาจากการเรียนมานุษยวิทยาด้วยส่วนหนึ่ง ถ้าจะมีใครที่แยกการท่องเที่ยวกับการทำงานออกจากกันไม่ค่อยถูก ก็คงจะเป็นนักมานุษยวิทยานี่แหละ ผมถูกพี่สาวกระแนะกระแหนว่า "พวกเธอไม่เคยไปเที่ยวกันในความหมายที่คนทั่วไปเขาเที่ยวกันสักที เห็นไปไหนทีไรก็คือไปทำงานทุกที" พี่สาวก็เลยเตือนแม่ว่า อย่าคิดไปเที่ยวกับลูกชายคนนี้เลย เพราะจะไม่สนุกในแบบของนักท่องเที่ยวหรอก แถมเขาจะพาไปที่ลำบากๆ กินอะไรแปลกๆ 

ผมเคยรู้จักกวีคนหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนกันได้ เธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา สอน creative writing หรือการเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ เพื่อนคนนี้มีประวัติชีวิตสุดเหวี่ยงทีเดียว เธอเป็นคนผิวสี เกิดในเวียดนามช่วงสงคราม แล้วได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวคนขาวในสหรัฐฯ แต่เธอพูดภาษาอังกฤษเลียนแบบสำเนียงคนดำ บทกวีเธอมักเกี่ยวกับสถานที่ เธอบอกว่า "ฉันต้องเดินทางทุกปี ไม่ใช่ว่าเพื่อเขียนเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ หรอก แต่เพื่อให้ได้มุมมองใหม่ ๆ สำหรับงานเขียน" ผมฟังตอนนั้นแล้วเหมือนจะเข้าใจ แต่ก็งงๆ 

นั่นชวนให้นึกถึงอมิทาฟ กอช (Amitav Ghosh) นักเขียนอินเดียชื่อดังในปัจจุบัน คนทั่วไปรู้จักกอชในฐานะนักเขียนนิยายแนวประวัติศาสตร์ ที่จริงเขาจบปริญญาเอกมานุษยวิทยาจากออกซ์ฟอร์ด กอชเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ที่เลือกเรียนมานุษยาก็เพราะชอบเดินทาง แล้ววิธีเดียวที่จะเดินทางได้ดีที่สุดคือการเป็นนักมานุษยวิทยา" เพราะนักมานุษยวิทยามีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สุดท้าย กอชบอกว่า "งานเขียนทุกชิ้นของผมคืองานวิจัยทางมานุษยวิทยา ผมไม่ได้ถือว่ามันเป็นเรื่องแต่ง (fiction) เลย"

กลับมาที่ผมเอง จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เขียนอะไรยิ่งใหญ่ได้เท่ากอช ยังไม่คิดเป็นกวีอย่างเพื่อนคนนั้น แต่ก็ยังสนุกกับการเรียนรู้ผ่านการเดินทาง ถ้าจะลองตอบตัวเองอีกทีว่า ทุกวันนี้เดินทางไปโน่นมานี่มากมายเพื่ออะไร ผมก็อยากตอบว่า ส่วนหนึ่งเพื่อหาคำตอบใหม่ๆ ให้กับคำถามเดิมๆ อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อตั้งคำถามใหม่ๆ ให้กับเรื่องราวคุ้นเคยเดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์