Skip to main content
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"

 
การสนทนาต่อจากดูหนังเสร็จ ทั้งในโรงและนอกโรง ทำให้ผมเข้าใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตลอดจนได้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจคือที่คุณเปียบอกว่า "ตัวละครชนบทในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในหนังตลาดทั่วไป ถ้ามี พวกเขาก็จะเป็นเพียงภาพเบลอๆ จางๆ อยู่ข้างหลัง" 
 
ผู้ชมคนหนึ่งถามว่า "ทำไมผู้แสดงจำนวนมากเป็นญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกับผู้กำกับล่ะ" คุณสืบบอกว่า "ผมเป็นคนบ้านนอก ไม่ได้ร่ำรวยอะไร และหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องผมเอง ราว 50% เป็นเรื่องจริงของครอบครัวผมและคนในหมู่บ้านผม"
 
คุณเปียบอกว่า "ผมตั้งใจทำหนังขาว-ดำตั้งแต่ต้นเลย อยากทำมานานแล้ว แต่หนังตลาดทำแบบนี้ไม่ได้" "หนังนี้ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 12 วัน" 
 
ส่วนตัวผมทั้งชอบและไม่ชอบอะไรหลายๆ อย่าง ที่ชอบคือการนำเสนอ landscape ของชนบทที่ยิ่งเห็นชัดขึ้นด้วยภาพหนังขาว-ดำตลอดทั้งเรื่อง ผมชอบ soundscape ของหนังในหลายๆ แง่มุม ตั้งแต่เสียงพูดสำเนียงสุโขทัย เสียงของชนบทสลับกับความเงียบของตัวละครเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนัง ผมชอบผู้แสดงหลายๆ คน บางคนแม้นั่งๆ นอนๆ ก็ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ได้แล้ว
 
หากอะไรจะเป็นตัวละครเอกสำคัญที่ไม่ใช่คนในหนังเรื่องนี้ ผมว่าโทรศัพท์มือถือนี่แหละคือตัวละครเอกที่สำคัญ มีฉากหนึ่งที่ล้อเลียนการสื่อสารชนิดนี้อย่างน่าขันยิ่งนัก แต่หากพิจารณาบทบาทโทรศัพท์มือถือในหนังนี้โดยรวมๆ แล้ว ถ้าดูแบบหนึ่ง อาจได้ภาพว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสื่อแสดงภาพไม่น่าพิสมัยของชุมชน แสดงการแยกจนเกือบจะแตกสลายของชุมชน 
 
แต่สำหรับผม หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นภาพชนบทที่เชื่อมต่อกับโลกนอกชุมชนได้อย่างดี โทรศัพท์มือถือแสดง landscape ที่สำคัญของชนบทไทย แทนที่โทรศัพท์มือถือจะแยกชุมชน ผมกลับเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเชื่อมพื้นที่ในท้องถิ่นเข้ากับโลกกว้างนอกชุมชน พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้เกิดชุมชนทางไกลต่างถิ่น เปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนของสังคม
 
ผมว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะตากล้องบอกว่า มีหลายๆ ตอนที่เขาจงใจปล่อยภาพบางอย่างที่น่าขัดใจเจ้าของทุน แต่ถึงอย่างนั้น แม้เจ้าของทุนจะเข้มงวดจนกระทั่งผู้ชมหลายคนสังเกตเห็นได้ว่า "ชนบทในหนังนี้แสนดีเหลือเกิน" แต่ก็ยังมีภาพบางภาพเล็ดรอดสายตาเจ้าของทุนไปได้ ผมตั้งใจว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะภาพพวกนั้นเล็ดรอดตาผมไปเช่นกัน
 
ถ้าจะวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมา ที่ผมไม่ชอบที่สุดคือน้ำเสียงอาลัยอาวรณ์กับการเปลี่ยนแปลงในชนบทของหนังเรื่องนี้ แม้หนังจะชูให้เห็นภาพคนจน คนสามัญอย่างเด่นชัด หากแต่คนชนบทกลับเป็นคนที่น่าเห็นใจ น่าเป็นห่วง การละทิ้งชนบทกลายเป็นความผิดบาป 
 
นั่นทำให้นึกถึงบทสนทนากับผู้เข้าสอบสัมภาษณ์ในตอนเช้า ผู้เข้าสอบคนหนึ่งเล่าว่า เขาอาศัยหนังเพื่อบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สะดุดใจกรรมการสอบหลายท่านคือที่ผู้เข้าสอบบันทึกว่า "หนังสามารถทำนายอนาคตได้" เมื่อสอบถามดูปรากฏว่าใจจริงผู้เข้าสอบหมายถึงว่า "หนังสามารถให้ความหวังได้"
 
มีข้อถกเถียงบางตอนในห้องสอบที่น่าสนใจคือเรื่อง "ความเป็นภาพยนตร์"  กรรมการสอบท่านหนึ่งถามผู้เข้าสอบว่า "ทำไมคุณถึงอธิบายหนังด้วยทฤษฎีนั่นนี่มากมาย คุณไม่คิดหรือว่าหนังมันพูดอะไรของมันเองได้" ผู้เข้าสอบตอบว่า "เราอาจวิจารณ์หนังได้ด้วยเกณฑ์ทางสุนทรีย์ หรืออาจวิเคราะห์หนังด้วยทฤษฎีต่างๆ" 
 
กรรมการสอบถามเพิ่มว่า "คุณไม่คิดบ้างหรือว่า หนังมันพูดอะไรเองได้เหมือนกัน" ผู้เข้าสอบพยายามตอบอีกว่า "หนังถูกใช้อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น เมื่อพูดถึงประเด็นหนึ่ง ก็อาจนำหนังเรื่องหนึ่งมาใช้อธิบาย" 
 
กรรมการสอบอีกคนถามต่อว่า "คุณไม่คิดหรือว่า หนังมันมีวิธีการเข้าถึงความจริงแบบของมันเองแตกต่างจากตัวหนังสือหรือ text ที่คุณอ่านเพื่อใช้วิจารณ์หนัง แทนที่คุณจะพยายามแปลง movies ให้เป็น text ทำไมคุณไม่ลองพยายามคิดว่า หนังเองมันช่วยให้เราเข้าใจอะไรที่ text มันบอกเล่าไม่ได้บ้างล่ะ"
 
เชื่อได้ว่าผู้ชมจะสามารถเข้าใจสังคมชนบทส่วนหนึ่งได้จากหนังเรื่อง "วังพิกุล" และด้วยความที่ "วังพิกุล" มีความพิเศษในหลายๆ ลักษณะดังที่กล่าวไปบ้างข้างต้น หนังเรื่องนี้จึงเปิดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นชนบทไทยพร้อมๆ กับชวนให้ถกเถียงเรื่องความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างดี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย