Skip to main content
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"

 
การสนทนาต่อจากดูหนังเสร็จ ทั้งในโรงและนอกโรง ทำให้ผมเข้าใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตลอดจนได้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจคือที่คุณเปียบอกว่า "ตัวละครชนบทในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในหนังตลาดทั่วไป ถ้ามี พวกเขาก็จะเป็นเพียงภาพเบลอๆ จางๆ อยู่ข้างหลัง" 
 
ผู้ชมคนหนึ่งถามว่า "ทำไมผู้แสดงจำนวนมากเป็นญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกับผู้กำกับล่ะ" คุณสืบบอกว่า "ผมเป็นคนบ้านนอก ไม่ได้ร่ำรวยอะไร และหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องผมเอง ราว 50% เป็นเรื่องจริงของครอบครัวผมและคนในหมู่บ้านผม"
 
คุณเปียบอกว่า "ผมตั้งใจทำหนังขาว-ดำตั้งแต่ต้นเลย อยากทำมานานแล้ว แต่หนังตลาดทำแบบนี้ไม่ได้" "หนังนี้ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 12 วัน" 
 
ส่วนตัวผมทั้งชอบและไม่ชอบอะไรหลายๆ อย่าง ที่ชอบคือการนำเสนอ landscape ของชนบทที่ยิ่งเห็นชัดขึ้นด้วยภาพหนังขาว-ดำตลอดทั้งเรื่อง ผมชอบ soundscape ของหนังในหลายๆ แง่มุม ตั้งแต่เสียงพูดสำเนียงสุโขทัย เสียงของชนบทสลับกับความเงียบของตัวละครเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนัง ผมชอบผู้แสดงหลายๆ คน บางคนแม้นั่งๆ นอนๆ ก็ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ได้แล้ว
 
หากอะไรจะเป็นตัวละครเอกสำคัญที่ไม่ใช่คนในหนังเรื่องนี้ ผมว่าโทรศัพท์มือถือนี่แหละคือตัวละครเอกที่สำคัญ มีฉากหนึ่งที่ล้อเลียนการสื่อสารชนิดนี้อย่างน่าขันยิ่งนัก แต่หากพิจารณาบทบาทโทรศัพท์มือถือในหนังนี้โดยรวมๆ แล้ว ถ้าดูแบบหนึ่ง อาจได้ภาพว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสื่อแสดงภาพไม่น่าพิสมัยของชุมชน แสดงการแยกจนเกือบจะแตกสลายของชุมชน 
 
แต่สำหรับผม หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นภาพชนบทที่เชื่อมต่อกับโลกนอกชุมชนได้อย่างดี โทรศัพท์มือถือแสดง landscape ที่สำคัญของชนบทไทย แทนที่โทรศัพท์มือถือจะแยกชุมชน ผมกลับเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเชื่อมพื้นที่ในท้องถิ่นเข้ากับโลกกว้างนอกชุมชน พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้เกิดชุมชนทางไกลต่างถิ่น เปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนของสังคม
 
ผมว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะตากล้องบอกว่า มีหลายๆ ตอนที่เขาจงใจปล่อยภาพบางอย่างที่น่าขัดใจเจ้าของทุน แต่ถึงอย่างนั้น แม้เจ้าของทุนจะเข้มงวดจนกระทั่งผู้ชมหลายคนสังเกตเห็นได้ว่า "ชนบทในหนังนี้แสนดีเหลือเกิน" แต่ก็ยังมีภาพบางภาพเล็ดรอดสายตาเจ้าของทุนไปได้ ผมตั้งใจว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะภาพพวกนั้นเล็ดรอดตาผมไปเช่นกัน
 
ถ้าจะวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมา ที่ผมไม่ชอบที่สุดคือน้ำเสียงอาลัยอาวรณ์กับการเปลี่ยนแปลงในชนบทของหนังเรื่องนี้ แม้หนังจะชูให้เห็นภาพคนจน คนสามัญอย่างเด่นชัด หากแต่คนชนบทกลับเป็นคนที่น่าเห็นใจ น่าเป็นห่วง การละทิ้งชนบทกลายเป็นความผิดบาป 
 
นั่นทำให้นึกถึงบทสนทนากับผู้เข้าสอบสัมภาษณ์ในตอนเช้า ผู้เข้าสอบคนหนึ่งเล่าว่า เขาอาศัยหนังเพื่อบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สะดุดใจกรรมการสอบหลายท่านคือที่ผู้เข้าสอบบันทึกว่า "หนังสามารถทำนายอนาคตได้" เมื่อสอบถามดูปรากฏว่าใจจริงผู้เข้าสอบหมายถึงว่า "หนังสามารถให้ความหวังได้"
 
มีข้อถกเถียงบางตอนในห้องสอบที่น่าสนใจคือเรื่อง "ความเป็นภาพยนตร์"  กรรมการสอบท่านหนึ่งถามผู้เข้าสอบว่า "ทำไมคุณถึงอธิบายหนังด้วยทฤษฎีนั่นนี่มากมาย คุณไม่คิดหรือว่าหนังมันพูดอะไรของมันเองได้" ผู้เข้าสอบตอบว่า "เราอาจวิจารณ์หนังได้ด้วยเกณฑ์ทางสุนทรีย์ หรืออาจวิเคราะห์หนังด้วยทฤษฎีต่างๆ" 
 
กรรมการสอบถามเพิ่มว่า "คุณไม่คิดบ้างหรือว่า หนังมันพูดอะไรเองได้เหมือนกัน" ผู้เข้าสอบพยายามตอบอีกว่า "หนังถูกใช้อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น เมื่อพูดถึงประเด็นหนึ่ง ก็อาจนำหนังเรื่องหนึ่งมาใช้อธิบาย" 
 
กรรมการสอบอีกคนถามต่อว่า "คุณไม่คิดหรือว่า หนังมันมีวิธีการเข้าถึงความจริงแบบของมันเองแตกต่างจากตัวหนังสือหรือ text ที่คุณอ่านเพื่อใช้วิจารณ์หนัง แทนที่คุณจะพยายามแปลง movies ให้เป็น text ทำไมคุณไม่ลองพยายามคิดว่า หนังเองมันช่วยให้เราเข้าใจอะไรที่ text มันบอกเล่าไม่ได้บ้างล่ะ"
 
เชื่อได้ว่าผู้ชมจะสามารถเข้าใจสังคมชนบทส่วนหนึ่งได้จากหนังเรื่อง "วังพิกุล" และด้วยความที่ "วังพิกุล" มีความพิเศษในหลายๆ ลักษณะดังที่กล่าวไปบ้างข้างต้น หนังเรื่องนี้จึงเปิดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นชนบทไทยพร้อมๆ กับชวนให้ถกเถียงเรื่องความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างดี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน