Skip to main content
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"

 
การสนทนาต่อจากดูหนังเสร็จ ทั้งในโรงและนอกโรง ทำให้ผมเข้าใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตลอดจนได้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจคือที่คุณเปียบอกว่า "ตัวละครชนบทในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในหนังตลาดทั่วไป ถ้ามี พวกเขาก็จะเป็นเพียงภาพเบลอๆ จางๆ อยู่ข้างหลัง" 
 
ผู้ชมคนหนึ่งถามว่า "ทำไมผู้แสดงจำนวนมากเป็นญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกับผู้กำกับล่ะ" คุณสืบบอกว่า "ผมเป็นคนบ้านนอก ไม่ได้ร่ำรวยอะไร และหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องผมเอง ราว 50% เป็นเรื่องจริงของครอบครัวผมและคนในหมู่บ้านผม"
 
คุณเปียบอกว่า "ผมตั้งใจทำหนังขาว-ดำตั้งแต่ต้นเลย อยากทำมานานแล้ว แต่หนังตลาดทำแบบนี้ไม่ได้" "หนังนี้ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 12 วัน" 
 
ส่วนตัวผมทั้งชอบและไม่ชอบอะไรหลายๆ อย่าง ที่ชอบคือการนำเสนอ landscape ของชนบทที่ยิ่งเห็นชัดขึ้นด้วยภาพหนังขาว-ดำตลอดทั้งเรื่อง ผมชอบ soundscape ของหนังในหลายๆ แง่มุม ตั้งแต่เสียงพูดสำเนียงสุโขทัย เสียงของชนบทสลับกับความเงียบของตัวละครเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนัง ผมชอบผู้แสดงหลายๆ คน บางคนแม้นั่งๆ นอนๆ ก็ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ได้แล้ว
 
หากอะไรจะเป็นตัวละครเอกสำคัญที่ไม่ใช่คนในหนังเรื่องนี้ ผมว่าโทรศัพท์มือถือนี่แหละคือตัวละครเอกที่สำคัญ มีฉากหนึ่งที่ล้อเลียนการสื่อสารชนิดนี้อย่างน่าขันยิ่งนัก แต่หากพิจารณาบทบาทโทรศัพท์มือถือในหนังนี้โดยรวมๆ แล้ว ถ้าดูแบบหนึ่ง อาจได้ภาพว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสื่อแสดงภาพไม่น่าพิสมัยของชุมชน แสดงการแยกจนเกือบจะแตกสลายของชุมชน 
 
แต่สำหรับผม หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นภาพชนบทที่เชื่อมต่อกับโลกนอกชุมชนได้อย่างดี โทรศัพท์มือถือแสดง landscape ที่สำคัญของชนบทไทย แทนที่โทรศัพท์มือถือจะแยกชุมชน ผมกลับเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเชื่อมพื้นที่ในท้องถิ่นเข้ากับโลกกว้างนอกชุมชน พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้เกิดชุมชนทางไกลต่างถิ่น เปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนของสังคม
 
ผมว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะตากล้องบอกว่า มีหลายๆ ตอนที่เขาจงใจปล่อยภาพบางอย่างที่น่าขัดใจเจ้าของทุน แต่ถึงอย่างนั้น แม้เจ้าของทุนจะเข้มงวดจนกระทั่งผู้ชมหลายคนสังเกตเห็นได้ว่า "ชนบทในหนังนี้แสนดีเหลือเกิน" แต่ก็ยังมีภาพบางภาพเล็ดรอดสายตาเจ้าของทุนไปได้ ผมตั้งใจว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะภาพพวกนั้นเล็ดรอดตาผมไปเช่นกัน
 
ถ้าจะวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมา ที่ผมไม่ชอบที่สุดคือน้ำเสียงอาลัยอาวรณ์กับการเปลี่ยนแปลงในชนบทของหนังเรื่องนี้ แม้หนังจะชูให้เห็นภาพคนจน คนสามัญอย่างเด่นชัด หากแต่คนชนบทกลับเป็นคนที่น่าเห็นใจ น่าเป็นห่วง การละทิ้งชนบทกลายเป็นความผิดบาป 
 
นั่นทำให้นึกถึงบทสนทนากับผู้เข้าสอบสัมภาษณ์ในตอนเช้า ผู้เข้าสอบคนหนึ่งเล่าว่า เขาอาศัยหนังเพื่อบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สะดุดใจกรรมการสอบหลายท่านคือที่ผู้เข้าสอบบันทึกว่า "หนังสามารถทำนายอนาคตได้" เมื่อสอบถามดูปรากฏว่าใจจริงผู้เข้าสอบหมายถึงว่า "หนังสามารถให้ความหวังได้"
 
มีข้อถกเถียงบางตอนในห้องสอบที่น่าสนใจคือเรื่อง "ความเป็นภาพยนตร์"  กรรมการสอบท่านหนึ่งถามผู้เข้าสอบว่า "ทำไมคุณถึงอธิบายหนังด้วยทฤษฎีนั่นนี่มากมาย คุณไม่คิดหรือว่าหนังมันพูดอะไรของมันเองได้" ผู้เข้าสอบตอบว่า "เราอาจวิจารณ์หนังได้ด้วยเกณฑ์ทางสุนทรีย์ หรืออาจวิเคราะห์หนังด้วยทฤษฎีต่างๆ" 
 
กรรมการสอบถามเพิ่มว่า "คุณไม่คิดบ้างหรือว่า หนังมันพูดอะไรเองได้เหมือนกัน" ผู้เข้าสอบพยายามตอบอีกว่า "หนังถูกใช้อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น เมื่อพูดถึงประเด็นหนึ่ง ก็อาจนำหนังเรื่องหนึ่งมาใช้อธิบาย" 
 
กรรมการสอบอีกคนถามต่อว่า "คุณไม่คิดหรือว่า หนังมันมีวิธีการเข้าถึงความจริงแบบของมันเองแตกต่างจากตัวหนังสือหรือ text ที่คุณอ่านเพื่อใช้วิจารณ์หนัง แทนที่คุณจะพยายามแปลง movies ให้เป็น text ทำไมคุณไม่ลองพยายามคิดว่า หนังเองมันช่วยให้เราเข้าใจอะไรที่ text มันบอกเล่าไม่ได้บ้างล่ะ"
 
เชื่อได้ว่าผู้ชมจะสามารถเข้าใจสังคมชนบทส่วนหนึ่งได้จากหนังเรื่อง "วังพิกุล" และด้วยความที่ "วังพิกุล" มีความพิเศษในหลายๆ ลักษณะดังที่กล่าวไปบ้างข้างต้น หนังเรื่องนี้จึงเปิดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นชนบทไทยพร้อมๆ กับชวนให้ถกเถียงเรื่องความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างดี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก