Skip to main content

 

ระยะนี้พูดกันมากว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดตะวันตก คนที่พูดอย่างนี้หากเป็นคนที่ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอะไรก็ไม่ควรเอามาตรวัดความรู้อะไรไปตัดสินเขา เพราะเขาพูดจากความเชื่อล้วนๆ เหมือนความเชื่อที่ว่า สมัยก่อนคนเหาะได้ นรก-สวรรค์มีจริง อะไรพรรค์นั้น

แต่กับคนที่เรียกตัวเองหรือกินอยู่ในหน้าที่ทางสังคมว่า "นักวิชาการ" แล้วล่ะก็ ต้องต่อว่ากันว่า นี่แสดงว่าพวกคุณไม่ได้สนใจข้อถกเถียงใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้กันบ้างเลยหรืออย่างไร นี่แสดงว่าความรู้ของคุณมันจำกัดทั้งสายาวิชาและช่วงเวลาของการศึกษา นี่แสดงว่าคุณเลิกทำวิจัยมานานแล้ว หรือไม่ก็ทำวิจัยเฉพาะในกะลาวิชาการแบบไทยๆ จึงไม่เคยให้ใครในโลกนี้เขาตรวจสอบความรู้คุณเลย

ในระหว่างที่ทำวิจัยเรื่อง "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" พร้อมๆ กับทำวิจัยในพื้นที่ของตนเองเรื่อง “พลังชุมชนของชนบทใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์" ผมพบงานศึกษากลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือการศึกษาประชาธิปไตยในแนวทางมานุษยวิทยา (anthropology of democracy) ประเด็นสำคัญคือ การศึกษาประชาธิปไตยในทางมานุษยวิทยาไม่ได้จะดูว่าสังคมต่างๆ ที่ศึกษาเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เป็นประชาธิปไตยหรือยัง หรือมีกลไกอะไรที่ขัดขวางหรือส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย

บางคนอาจเข้าใจว่า นักมานุษยวิทยาสนใจวัฒนธรรมที่หลากหลายจึงอาจศึกษาดูว่าประชาธิไตยในถิ่นต่างๆ มีลักษณะเฉพาะอย่างไร นั่นอาจจะเป็นแนวทางที่นักมานุษยวิทยาบางคนใช้ เช่นที่บางคนพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก แต่นั่นเท่ากับเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมที่นำเอาแนวคิดประชาธิปไตยไปบิดเบือนเพื่อคงความเหลื่อมล้ำไว้อย่างเช่นในสังคมไทย

นักมานุษยวิทยาในโลกสากลไม่ได้สนใจประชาธิปไตยในลักษณะนั้น หากแต่เขาจะพิจารณาดูว่า “ประชาธิปไตย” ถูกใช้โดยใคร อย่างไร ในสังคมต่างๆ ทั่วโลก ประชาธิปไตยถูกเข้าใจอย่างไร ยกตัวอย่างเช่นการศึกษาวิธีที่ชนกลุ่มน้อยในบางประเทศอาศัยประชาธิปไตยเป็นเครื่องต่อรองเพื่อสร้างตัวตนในทางการเมืองของตนเองในตุรกี การศึกษาวิธีที่คนวรรณะต่ำๆ ใช้ประชาธิปไตยเพื่อแสดงสิทธิเสียงของตนเองในอินเดีย

วิธีการศึกษาแบบนี้ต่างการการศึกษาประชาธิปไตยในทางรัฐศาสตร์ ที่มักเน้นการวัดความเป็นประชาธิปไตย ราวกับว่ามีมาตรวัดประชาธิปไตยอยู่ที่ไหนสักแห่ง แล้วดูว่าประเทศนั้นๆ สังคมนั้น ๆ เป็นประชาธิปไตยแล้วหรือยัง เป็นแค่ไหน มีอะไรเป็นตัวถ่วงความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แล้วจะแก้ไขอย่างไร

แต่ปัจจุบัน มีนักมานุษยวิทยาอีกกลุ่มหนึ่ง ที่หันมาสนใจแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยจากพื้นถิ่น” (vernacular democracy) นำโดยนักมานุษยวิทยาแนวหน้าอย่างเดวิด แกรเบอร์ (David Graeber) และมิเชล-โรลห์ ทรุยโยต์ (Michel-Rolph Trouillot) นักมานุษยวิทยาชาวเฮติผู้เพิ่งล่วงลับ รวมทั้งนักคิดอินเดียแนวหลังอาณานิคมชั้นนำอย่างพาธา ชัตเตอร์จี (Partha Chatterjee)

แนวคิด “ประชาธิปไตยจากพื้นถิ่น” เสนอว่า แท้จริงแล้วความคิดประชาธิปไตยไม่ได้มาจากตะวันตก หากแต่มาจากวิถีชีวิตของชนพื้นถิ่นที่พบเห็นได้ทั่วไปนอกประเทศตะวันตก แกรเบอร์เก็บข้อมูลทั้งจากในอดีตและต่างถิ่นในปัจจุบัน ที่น่าสนใจคือ แกรเบอร์พบว่า วิถีชีวิตแบบชาวอินเดียนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาที่ชาวตะวันตกบันทึกไว้ก่อนการเกิดประเทศสหรัฐอเมริกานั้น มีลักษณะเดียวกันกับวิถีชีวิตแบบสังคมประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค แกรเบอร์ตั้งข้อสังเกตว่า นั่นอาจจะเป็นแนวทางให้ชาวตะวันตกที่ตั้งใจจะปลดแอกตนเองจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษตระหนักในวิถีชีวิตที่แตกต่างจากในอังกฤษ และเป็นที่มาของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

ส่วนทรุยโยต์ ซึ่งส่งแรงบันดาลใจแก่ชัตเตอร์จีในภายหลัง ได้ชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคของชาวเฮติเพื่อปลดแอกตนเองจากฝรั่งเศสนั้น มีมาก่อนหรืออย่างน้อยก็พร้อมๆ กันกับระยะที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยซ้ำ ที่สำคัญคือ ทรุยโยต์ชี้ว่า ขณะที่การปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยของชาวฝรั่งเศสนั้นยังไม่ได้สนใจใยดีต่อเสรีภาพและความเสมอภาคของชนชาติอื่นๆ ที่ถูกฝรั่งเศสปกครองอยู่ เสรีภาพและความเสมอภาคของชาวเฮตินั้นเกิดขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของการที่เสรีภาพและความเสมอภาคจะต้องคำนึงถึงไม่เว้นชนชาติ ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยของเฮตินั้น “เป็นสากล” และก้าวหน้าเสียยิ่งกว่าประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศสในยุคแรกเริ่มด้วยซ้ำ

หากยังเห็นว่างานศึกษาเหล่านี้ก็เป็นงานตะวันตก เป็นแนวคิดตะวันตก เพียงเพราะงานเขียนเหล่านี้ใช้ภาษาอังกฤษล่ะก็ โปรดอยู่ในโลกที่เชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นของตะวันตกเท่านั้น ดุจเดียวกับที่พวกคุณคงยังเชื่อในนรก-สวรรค์กันอยู่ต่อไปก็แล้วกัน

แต่หากลองเปิดหูเปิดตาดูบ้างว่าโลกประชาธิปไตยมีที่มาที่ไม่ใช่ในตะวันตกเพียงเท่านั้นแล้ว ก็คงจะเข้าใจได้บ้างว่า ทำไมคนพื้นถิ่นต่างๆ เขาจึงถวิลหาประชาธิปไตยกันนัก ทำไมชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา คนยากคนจน จะเข้าใจประชาธิปไตยมากกว่าชาวกรุงชาวเมืองบ้างไม่ได้ ทำไมประชาธิปไตยจึงแนบแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนธรรมดาสามัญ และทำไมชาวบ้านร้านตลาดเขาถึงหวงแหนประชาธิปไตยกันนัก นั่นก็เพราะประชาธิปไตยเป็นของเขา ประชาธิปไตยกลายเป็นของสามัญชนชาวไทยไปแล้ว ไม่ได้จำเป็นต้องมาจากตะวันตกห่างไกลที่ไหน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งประเด็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยในหลายจังหวัดว่าจะพัฒนาไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางด้าน "สังคมศาสตร์" ผมก็เลยคิดอะไรขึ้นมาได้หลายอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านเรื่องการขายข้าวของ บก.ลายจุด ไปขัดใจคนอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากสนใจนัก เพราะ บก.ลายจุด ขยับทำอะไรที ฝ่ายนั้นก็คอยจ้องโจมตีเรื่อยไปจนน่าเบื่อไปแล้ว แต่พอเสธ.ไก่อูมาสนใจการขายข้าวของ บก.ลายจุด ผมว่า อ้อ อย่างนี้นี่เอง ทำไมการขายข้าวของ บก.ลายจุด จึงน่าสนใจขึ้นมาได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นโจมตีกระแนะกระแหนส่วนหนึ่งของความเห็นผมกันยกใหญ่ แต่ผมว่าก็ดีนะ มันชี้ขีดจำกัดของความคิดคนดี ก็ไม่ใช่ว่าผมจะพูดถูกหมดหรือพูดครบถ้วนหมดจดหรอก เพียงแต่มีข้อแย้งกับข้อโต้แย้งเหล่านั้นได้มากเช่นกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีรากฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยมาเนิ่นนาน น่าจะนานไม่น้อยไปกว่าแนวคิดประชาธิปไตย หากแต่น่าสงสัยว่า ทำไมแนวคิดนี้จึงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเสียที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้ มีนักคิดหลายๆ คนเสนอวิธีทำความเข้าใจสังคมไทยใหม่ๆ มากมาย หลายคนพยายามไม่ตัดสินว่านี่คือการถอยหลังหรือย้อนรอยกลับไปในอดีต เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์สังคมย่อมทราบดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ และในเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างไร ผมคนหนึ่งล่ะที่พยายามไม่คิดว่านี่เป็นการ "ถอยหลัง" หรือซ้ำรอยอดีตอย่าง deja vu 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่องไม่เป็นเรื่องบางครั้งก็ชวนให้น่ารำคาญ ทำให้ต้องมาคอยอารัมภบทออกตัวมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจของประชาชนลง แนวโน้มนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฝ้าติดตามการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกระบวนการต่อเนื่องของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ที่เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองและใช้กำลังรุนแรงของมวลชนเข้าไปปิดล้อมทำลายการเลือกตั้ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่จำเป็นต้องสาธยายคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสังคมไทย หากคุณไม่เห็นคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ คุณก็คือคนที่ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังกรอกยาฝิ่นใส่ปากตัวเอง แล้วเมายาอยู่จนหลงคิดไปว่ากำลังดื่มโอสถบำรุงกำลัง หากคุณไม่คิดอย่างนั้น ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้วไม่ต้องมาพยายามเถียงกับผมให้เสียเวลาเปลืองอารมณ์ที่จะต้องคุยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กพ. 58) ผมไปร่วมกิจกรรม 4 กิจกรรมด้วยกัน ทั้งหมดเกี่ยวกันบ้าง ไม่เกี่ยวกันบ้าง แต่อยากเล่าให้ฟังว่ามันชวนคิดและชวนตกใจมากทีเดียว 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเห็นข่าวว่ามีการพูดถึงคนไทยมาจากเขาอัลไตกันขึ้นมาอีก ผมก็ระลึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ได้ข้อตกลงกันไปชัดเจนนานแล้วนี่นาว่า เป็นความรู้ที่ผิดพลาด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐบาลทหารไม่อยากให้ถูกเรียกว่าตนเองเป็นเผด็จการ เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ที่ตนเป็นอยู่นั้นเป็นเผด็จการ เหมือนโจรที่ไม่อยากถูกเรียกว่าโ