Skip to main content


"Quân đội nhân dân” (กวนโด่ยเยินเซิน) ภาษาเวียดนาม แปลตามตัวว่า “กองทัพประชาชน” ผมคิดว่าน่าจะหมายความได้ทั้งว่ากองทัพเป็นของประชาชน และการที่กองทัพก็คือประชาชนและประชาชนก็คือกองทัพ

นี่ชวนให้ผมลองนั่งนึกเปรียบเทียบกองทัพของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดู แล้วก็คิดเรื่อยเปื่อยไปว่า จะสรุปได้หรือไม่ว่า หากจะมีกองทัพของประเทศไหนที่เรียกตนเองว่าเป็น “กองทัพประชาชน" ได้อย่างเต็มปากเต็มคำล่ะก็ เห็นจะมีก็แต่กองทัพเวียดนามนั่นแหละที่พอจะคุยได้

การเกิดของรัฐสมัยใหม่ในเอเขียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนจำเป็นต้องมีทหารเป็นกำลังสำคัญ หากแต่กองทัพในแต่ละประเทศมีบทบาทเคียงข้างประชาชนหรือไม่ แตกต่างกันไป

หลังศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา การสงครามมีบทบาทน้อยกว่าการค้าทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จวบจนกระทั่งมีอำนาจอาณานิคมตะวันตกนั่นแหละ ที่จะมีการสงครามกันจริงจังอีกครั้งหนึ่ง หากจับประเด็นตามแอนโทนี รีดไม่ผิด (Anthony Ried. Southeast Asia in the Age of Commerce, 1988) การสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาคพื้นทวีปนั้น มีไปเพื่อการเสริมสร้างกำลังคน

ที่รบกันอย่างเอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่งแบบในภาพยนตร์ไทยย้อนยุคน่ะ เขาไม่ทำกันหรอก เพราะจะเสียโอกาสที่จะได้กวาดต้อนกำลังทหารของอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นแรงงาน มาเป็นไพร่ในสังกัดของตน ในแง่นี้ ตรรกของการยุทธหัตถีก็คือการที่มีเพียงผู้นำเท่านั้นที่จะมีเอาเป็นเอาตายกัน แต่ไพร่พลน่ะ ยืนดูแล้วรอว่าใครชนะก็ไปอยู่กับฝ่ายนั้น

แต่หลังจากศตวรรษที่ 18 กำลังการผลิตที่สำคัญได้รับการชดเชยไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการอพยพของแรงงานชาวจีน ปรกอบกับเกิดการขยายตัวของการค้าทั้งระหว่างยุโรป เอเชียตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกไกล เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้โลกทั้งใบมุ่งค้าขายมากกว่าทำสงคราม ระยะนั้นบทบาททหารในภูมิภาคนี้ก็ลดน้อยลงไปด้วย

ในยุคอาณานิตมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 กองทัพของเจ้าอาณานิคมและเจ้าศักดินาที่ร่วมมือกับชาติตะวันตกย่อมมีบทบาทหลักในการควบคุมประชาชนใต้อาณานิคม เช่น กองทัพฝรั่งเศสนำกำลังค่อยๆ คืบคลานยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ยึดไซ่ง่อน เว้ จรดฮานอยและหมดทั้งเวียดนามเหนือใข้เวลาถึงร่วม 30 ปี (1860-1890) ถ้าอยากรู้ว่ากองทัพดัชจัดการกับเจ้าครองนครต่างๆ อย่างไรในปลายศตวรรษที่ 19 ก็ลองอ่านฉากที่เจ้าครองนครเดินดาหน้าเข้าไปให้ทหารดัชฆ่าตายในบาหลีที่บรรยายโดยนักมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างคลิฟเฟิร์ด เกีร์ยซดู (Clifford Geertz. Theartre State, 1980)

ส่วนสยามประเทศนั้น แม้จะถือว่า "ไม่เป็นอาณานิคมของใคร" แต่หากใครยืนอยู่ในฐานะเจ้าครองนครและประชาชนของเมืองแพร่ เมืองเชียงใหม่ ที่ไหนก็ตามในอีสาน และรัฐปาตานี ซึ่งเคยมีอำนาจเป็นเอกเทศจากสยาม ก็จะเห็นว่ากองทัพสยามเป็นเครื่องมือของขนขั้นนำสยามในการสร้างอำนาจรวมศูนย์ที่แปลงคนอื่นให้กลายเป็นไทย การปราบกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผีบุญต่างๆ ในอีสาน การผนวกปาตานีมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามเพื่อสถาปนารัฐสมัยใหม่ขึ้นเหนือดินแดนที่ไม่เคยเป็นประเทศไทยอย่างทุกวันนี้มาก่อน (อ่าน ธงชัย วินิจจะกูล. กำเนิดสยามจากแผนที่, 2557)

ที่กองทัพสยามจะได้สู้กับอาณานิคมตะวันตกจริงๆ น่ะ มีไม่กี่ครั้งและทุกครั้งก็แพ้ราบคาบไป แม้แต่การไป “ปราบฮ่อ” ก็ไม่ได้ไปปราบจริง เพราะกว่าจะรวบรวมกำลังเดินทางไปถึงที่นั่น  ฝรั่งเศสก็ปราบฮ่อเสียราบคาบไปก่อนหน้าเป็นปีแล้ว มิพักต้องกล่าวว่าทหารหาญที่ถูกเกณฑ์ไปนั้นเป็นเหล่าไพร่-ทาสที่ล้มตายกลางทางเสียมากกว่าเจ็บตายจากการสู้รบ หากแต่กระบวนการสร้างรัฐรวมศูนย์และทำให้ทุกคนกลายเป็นไทยยังไม่จบสิ้น จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่จบ ทหารกับการสร้างความเป็นไทยจึงอยู่ยงคงต่อมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มสร้างชาติไทยในปลายคริสตศตวรรษที่ 19

สิ่งนี้ทำให้กองทัพไทยแตกต่างจากกองทัพประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่กองทัพประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกับประขาชนในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเป็นสำคัญ นับตั้งแต่อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม สงครามปลดปล่อยประชาชน เพื่อสร้างชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือสงครามที่ประชาชนและทหารหรือจะกล่าวให้ถูกคือ การที่ประชาชนกลายเป็นทหาร ร่วมมือกันเพื่อปลดปล่อยตนเองจากอำนาจการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก ทว่า ประสบการณ์นี้ไม่มีในประเทศไทย ประเทศไทยจึงไม่มีความรักชาติในความหมายของการปลดปล่อยตนเองออกจากตะวันตก ไม่มีตะวันตกเป็นศัตรูอย่างเป็นรูปธรรมที่ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมแบบเดียวกับที่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้เขามีกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้กองทัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้มแข็งอย่างอินโดนีเซียและพม่า แตกต่างจากกองทัพเวียดนามคือ หลังการปลดปล่อยจากอาณานิคมตะวันตก กองทัพอินโดนีเซียและพม่าหักหลังประชาขน นี่รวมทั้งกองทัพฟิลิปปินส์ ที่ไม่น้อยหน้ากองทัพอินโดนีเซียและกองทัพไทย ที่ร่วมมือใกล้ชิดกัยสหรัฐอเมริกาในการปราบปรามประชาขนของตนเองที่เป็น "คอมมิวนิสต์" กองทัพพม่าต่างออกไปตรงที่กองทัพหักหลังชนกลุ่มต่างๆ ยึดอำนาจการปกครองแล้วสร้างรัฐรวมศูนย์ด้วยอำนาจเผด็จการทหารจวบจนทุกวันนี้ กองทัพของหลายๆ ประเทศจึงกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน การจะหากองทัพที่เป็นกองทัพประชาชนนั้น ยากเต็มที

กองทัพเวียดนามนั้นแตกต่างออกไป หลังทศวรรษ 1940s-1950s เมื่อชนะฝรั่งเศสแล้ว กองทัพเวียดนามเหนือทำสงครามต่อสู้กับกองทัพเวียดนามใต้ที่อเมริกันหนุนหลัง ต่างฝ่ายต่างอาศัยพลเรือนเป็นกำลังสำคัญทั้งในแง่ของกำลังแรงงาน กำลังรบ และการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ กองทัพต้องทำให้ตนเองใกล้ชิดเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และทำให้กองกำลังของอีกฝ่ายกลายเป็นศัตรู แน่นอนว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งแพ้ คือฝ่ายเวียดนามใต้ ประชาชนของฝ่ายนั้นย่อมไม่อาจยอมรับว่ากองทัพเวียดนามเหนือเป็นกองทัพประชาชนได้ หากแต่สำหรับเวียดนามเหนือ กองทัพยังคงเป็นของประชาชน คือประชาชนฝ่ายตนที่ชนะ

กระนั้นก็ตาม ในระยะหลัง ก็เริ่มมีปัญญาชนในฝ่ายของเวียดนามเหนือเองเป็นจำนวนมากตั้งคำถามกับกองทัพและการนำประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ นักเขียนเหล่านี้จำนวนมากประสบชะตากรรมแตกต่างกันไป บางคนถูกจองจำในบ้านตนเอง งานของบางคนกลายเป็น “ความลับของทางการ” ที่หากเล็ดรอดออกไปพิมพ์ในต่างประเทศก็จะกลายเป็นการขายความลับของทางราชการ งานของบางคนต้องเขียนเป็นสัญลักษณ์ซับซ้อนซ่อนเงื่อนจนกระทั่งประชาชนทั่วไปอ่านไม่เข้าใจว่ากำลังวิจารณ์อะไร

ปัจจุบันในระยะที่ความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลและสมาชิกระดับสูงบางคนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามถดถอยลง กองทัพเวียดนามก็ยังคงความเชื่อถือจากประชาชนเอาไว้ได้ เนื่องจากกองทัพหลีกเลี่ยงการปะทะกับประชาชน ด้วยการที่ให้ตำรวจทำหน้าที่ปราบปรามภัยความมั่นคงต่างๆ ในประเทศ เช่น การชุมนุมประท้วงรัฐ หรือการท้าทายอำนาจรัฐแบบอื่นๆ กองทัพจะไม่มายุ่งกับกิจการเหล่านี้ กองทัพทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยเป็นหลักอย่างเดียว กองทัพเวียดนามจึงยังคงบทบาท “กองทัพประชาชน” ไว้ได้ค่อนข้างเหนียวแน่น และเป้นเกราะปกป้องระบอบปัจจุบันเอาไว้ได้อีกทีหนึ่ง

ส่วนกองทัพไทยปัจจุบันเป็นอย่างไรน่ะ อย่าไปกล่าวถึงท่านเลย เพราะท่านกำลังคืนความสุขให้ประชาชนอยู่

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา