Skip to main content

 

ข่าวการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับบ้านขนาดมหึมาอย่างตื่นตระหนก ชวนให้นึกถึงคำอธิบายโลกปัจจุบันของใครต่อใครได้มากมาย ชวนให้คิดถึงปรากฏการณ์ที่ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่กำลังประสบอยู่ และยังทำให้หวังอย่างยิ่งว่า ชาวไทยผู้กำลังดื่มด่ำอยู่กับความสุขจนล้นเหลือจะตระหนักขึ้นบ้างว่า “เราไม่ได้อยู่คนเดียว” ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ

ผมอาจจะผิดหากกล่าวว่า คนที่เรียนมานุษยวิทยารุ่นผมไม่มีใครที่ไม่ถูกบังคับให้อ่านงานของอรชุน อัพพาดูราย ชื่อ “ยุคสมัยใหม่ขนาดมหึมา" (Arjun Appadurai. Modernity at Large, 1996) แต่คำสอนสำคัญที่ทุกคนจะไม่พลาดจากนักมานุษยวิทยาอินเดียผู้นี้คือ สังคมปัจจุบันเชื่อมโยงติดต่อกันอย่างแทบจะแยกจากกันได้ยากแล้ว

คำสอนนี้ไม่ได้ใหม่เอี่ยมอ่องอะไรในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ทั่วไป แต่คำสอนนี้ “ค่อนข้าง” แปลกใหม่สำหรับนักมานุษยวิทยา ที่ว่า "ค่อนข้าง” ก็เพราะ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจโลกทั้งใบนอกเหนือหมู่บ้านของฉัน ก่อนหน้านี้ก็มีคนคิดทำนองนี้ แต่ก็เพราะว่าวิธีคิดแบบอัพพาดูรายนั้น แตกต่างออกมาจากนักมานุษยวิทยารุ่นก่อนตรงที่ มีมิติทางวัฒนธรรมมากกว่า และอธิบายโลกปัจจุบันได้ดีกว่า

อัพพาดูรายเสนอความเปลี่ยนแปลง 5 ภูมิทัศน์คือ ผู้คน เงินตรา การสื่อสาร เทคโนโลยี และระบบคุณค่า สังคมสมัยใหม่เกิดปรากฏการณ์ที่ 5 มิตินี้เชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อนี้ได้สร้างจินตนาการและปฏิบัติการอย่างใหม่ขึ้นมา คือจินตนาการและปฏิบัติการที่ว่า ไม่มีสังคมแคบๆ หยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง ตัดขาดจากโลก แบบที่คนเคยคิดกันมาในอดีตอีกต่อไป แม้ว่าเราจะไม่คิด แต่ก็ปฏิเสธการเชื่อมต่อนี้ไม่ได้ แม้ว่าใครบางคนจะไม่ยอม ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ก็ฝืนมันไม่ได้

ลองมาดูความพยายามฝืนการเคลื่อนย้ายของบางมิติดูว่า ได้เกิดผลอย่างไรต่อที่ต่างๆ ในโลกบ้าง

ในด้านของการเคลื่อนย้ายผู้คน ผู้มีอำนาจในสังคมมักไม่เห็นความสำคัญ แม้ว่าตนเอง สังคมตนเอง ครอบครัวตนเองก็อยู่ในกระแสของการเคลื่อนย้าย แต่ก็มักจะมองข้ามความสำคัญของการเคลื่อนย้ายของคนชั้นล่างๆ ลงไป กรณีนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา แรงงานอพยพจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลั่งไหลเข้ามามากมาย จนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านแรงงานต่างชาติเหล่านี้ มีการเสนอกฎหมายให้เพิ่มโทษผู้ช่วยเหลือคนงานเหล่านี้และเพิ่มโทษคนงานผิดกฎหมายเหล่านี้

ผลก็คือ เกิดการต่อต้านของแรงงานและผู้คนที่สนับสนุนแรงงานเหล่านี้ทั่วประเทศ เกิดการเดินขบวนที่เรียกว่า “A Day Without Immigrants” (ตามภาพยนตร์ชื่อ A Day Without A Mexican ปี 2004) ของคนงานอพยพ ซึ่งจำนวนมากคือคนแม็กซิกันและคนละตินอเมริกันอพยพทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา การเดินขบวนของแรงงานอพยพในสหรัฐอเมริกาครั้งที่ใหญ่ที่สุดคือในวันแรงงานปี 2006 หากรวมๆ คนที่เดินขบวนวันนั้นทั่วประเทศ ก็จะนับได้หลายล้านคนทีเดียว หลังจากการเดินขบวนครั้งนั้นกฎหมายก็ตกไป ทั้งด้วยแรงกดดันของสังคมและด้วยกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกาเอง

ในแง่ของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ในขณะนี้ทั่วโลกทราบกันดีว่ามีความตึงเครียดที่ชายแดนทางทะเลระหว่างเวียดนามกับจีน กล่าวเฉพาะในประเทศเวียดนาม คนเวียดนามขณะนี้กังวลใจกับการถูกจีนคุกคามเขตแดนทางทะเลเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเกิดการประท้วงประเทศจีนไปทั่วประเทศ ลามปามไปถึงมีการเผาโรงงานที่เชื่อกันว่าเป็นของนักลงทุนชาวจีนหรือไม่ก็ของรัฐบาลจีน แต่ที่ส่งผลกระทบยิ่งกว่านั้นคือ ความบาดหมางที่ลุกลามไปถึงประชาชนนี้ ได้ทำให้ประเทศจีนระงับโครงการลงทุนหลายโครงการ แน่นอนว่าโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการลงทุนโดยรัฐบาลจีนหรือไม่ก็บริษัทร่วมทุนที่สีรัฐบาลจีนเป็นแหล่งทุนรายใหญ่

ล่าสุดชาวเวียดนามเริ่มลือกันว่าโครงการรถไฟลอยฟ้ากลางกรุงฮานอยจะเป็นหมัน มีหวังได้เห็นสโตนเฮ้นจ์กลางเมืองฮานอย หรือที่ถูกควรเรียกว่า “เสาโฮปเวล” กลางเมืองฮานอยแบบเดียวกับที่ชาว กทม. เคยได้ชื่นชมมาก่อนไปอีกหลายปี

ในโลกปัจจุบัน รับรู้กันดีว่าการติดต่อสื่อสารทั่วโลกสำคัญอย่างไร สึนามิในญี่ปุ่นและทะเลอันดามันในปี 2011 ส่งผลต่อระบบสื่อสารจนการติดต่อผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรวนกันไปอย่างน้อยครึ่งโลก ซึ่งนั่นมีผลต่อการติดต่อทางการเงิน การลงทุน และปากท้องของประชาชนทั่วไปด้วย

ในแง่ของความเชื่อมโยงของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ไม่ว่าจะพยายามปิดช่องทางการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตอย่างไร ก็จะยังคงมีช่องทางในทางเทคโนโลยีราคาถูกหรือแจกฟรีกันในอิมเทอร์เน็ต ที่จะช่วยให้คนเล็ดลอดการควบคุมได้อยู่นั่นเอง ผู้เชี่ยวชาญในโลกอินเทอร์เน็ตบางคนถึงกับสรุปว่า ต้นทุนในการควบคุมข่าวสารในโลกปัจจุบันนั้น สูงยิ่งกว่าต้นทุนในการเล็ดลอดจากการควบคุมมากมายนัก

เมื่อผู้คน เงินตรา การสื่อสาร และเทคโนโลยีไหลเวียน ก็ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จินตนาการต่อสังคมจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กว้างกว่าเรา เราก็ไม่อาจหนีพ้นจินตนาการต่อสังคมที่ชาวโลกเขามีกัน เราก็ไม่อาจฝืนระบบคุณค่าที่อาจดูแปลกใหม่จากที่เราคุ้นเคย จินตนาการนี้ไม่ได้เป็นเพียงความคิดคำนึงต่อสังคม แต่มันยังเป็นความพยายามที่จะทำให้ความฝันเป็นความจริงขึ้นมาด้วย ก็เหมือนๆ กับที่เราเคยจินตนาการกันว่าสังคมไทยเป็นสังคมร่มเย็นเป็นสุข แม้ว่ามันจะไม่ร่มเย็นเป็นสุข เราก็พยายามจะทำให้มันเป็นอย่างนั้น

ปัจจุบัน ผู้คนก็ยังอยากเห็นสังคมที่ร่มเย็นเป็นสุข แต่เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ถ้วนหน้ากัน เคารพกันและกัน ไม่ว่าจะมีชาติกำเนิดแตกต่างกันอย่างไร เป็นความร่มเย็นเป็นสุขที่ผู้คนต้องการอยู่อย่างเสมอหน้าทัดเทียมกัน ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ การเมือง การแสดงออก และการเรียนรู้ นี่เป็นเรื่องพื้นฐานของคน เราทุกคนต่างมีความคิดความต้องการอย่างนี้

มีคนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “สิทธิมนุษยชน” บ้าง “ประชาธิปไตย” บ้าง คำเหล่านี้เป็นคำใหม่ในภาษาไทย ดูเสมือนเป็นความคิดที่ถูกนำเข้ามา แต่มันไม่ได้แปลว่าความคิดและปฏิบัติการของสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เคยมีมาก่อนหรือไม่ได้เคยเป้นความหวังความฝันของคนในดินแดนนี้มาก่อน

เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “สี” แต่เราก็แยกแยะ ขาว ดำ แดง เหลือง ได้ก่อนแล้ว ภาษาไทยไม่เคยมีคำว่า “อวัยวะ” แต่เราก็มี มือ หัว ขา ไส้ ตับ ไต เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยดั้งเดิมไม่เคยมีคำว่า “ชาติ” “ประเทศ” และภาษาไทยปัจจุบันก็เข้าใจสองคำนี้แตกต่างไปจากในอดีต แต่ไม่ใช่ว่าคนไทยจะรับรู้ถึงการมีอยู่ถึงสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ เพียงแต่เราไม่เคยแยกแยะให้ชัดเจนเป็นตัวเป็นตนอย่างที่เราเข้าใจในปัจจุบัน

โลกที่เคลื่อนไหวอยู่ทุกวันนี้แตกต่างไปจากโลกที่เราเคยจินตนาการไปมากแล้ว หากเราฝืนความเปลี่ยนแปลงของโลก เราก็จะได้รับผลกระทบแบบที่เห็นๆ และหากยังไม่หยุดฝืนโลก เราจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอุดรูอย่างไร กะลาเราก็จะรั่วเสมอ

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก