Skip to main content
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้

 
ผมได้คำตอบว่า อาการโกรธนี้เป็นอาการเหมือนคนอกหัก อกหักจากการที่ถูกฝรั่งที่พวกเขาเฝ้าทะนุถนอม บูชา และอยากเลียนแบบให้เหมือนมาตลอดชีวิต กลับมาหักหลังพวกเขา พวกเขาโกรธเพราะพวกเขาจงรักภักดีต่อพ่ออเมริกัน พ่อยุโรป พ่อฝรั่งหัวแดงเหล่านี้มาตลอดชีวิต พวกเขาไม่เข้าใจว่า ถึงขนาดนี้แล้ว เหตุใดพวกเขาจึงยังถูกหักหลัง ถูกทิ้งขว้างจากพ่อฝรั่งเหล่านี้
 
แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือ ผมคิดว่าพวกเขาโกรธฝรั่งก็เพราะค่านิยมที่ฝรั่งสนใจเรียกร้องในขณะนี้ ขัดแย้งกับการพยายามรักษาตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในเวทีอำนาจขณะนี้
 
ถ้าไปถามพวกเขา เขาจะไม่ยอมรับหรอกว่าโกรธเพราะเหตุนี้ แต่ลองค่อยๆ พิจารณาดูว่า เป็นจริงอย่างที่ผมเข้าใจหรือไม่ ลองนึกดูว่า แต่ละคนที่ออกมาแสดงอาการรังเกียจฝรั่ง แท้จริงแล้ว พวกเขานั่นแหละที่เป็นผู้นำของการนำเข้าวัฒนธรรมฝรั่ง พวกเขานั่นแหละที่บูชาฝรั่งจะตายไป 
 
นับตั้งแต่นักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกากลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของพวกทาสนโยบายสงครามเย็นของอเมริกัน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาประณามว่าอเมริกันแทรกแซงไทย พวกเขาไม่รู้หรอกหรือว่า อเมริกันแทรกแซงไทยมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่พวกเขา และก็แทรกแซงให้พวกเขาไปร่ำไปเรียนกลับมา แล้วทำไมจึงเพิ่งจะมาว่าอเมริกันแทรกแซงตอนนี้ ตอนนั้นที่พวกนักศึกษาเดินขบวนประท้วงการแทรกแซงของอเมริกันน่ะ พวกคุณไปอยู่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่กำลังมัวเมากับอเมริกันอยู่นั่นแหละ
 
ลองดูอีกคนที่ออกมาประณามฝรั่ง รายนี้เป็นนักแต่งเพลง จะแต่งเพลงแต่ละทีก็ต้องดูเทรนในยุโรป ในอเมริกา หากจะไม่ถึงกับลอกมาทั้งดุ้น เพลงไทยกลายเป็นเพลงแบบที่เราได้ฟังกันในยุคนี้ได้อย่างไร ก็ด้วยการฉีกตัวเองออกมาจากเพลง "ไทยเดิม" ด้วยการเดินตามแนวเพลงต่างประเทศ จากยุโรป จากอเมริกาแบบแนวของนักแต่งเพลงผู้นี้นั่นแหละ 
 
เมื่อเทียบกับเพลงยุคก่อนหน้าเพลงวัยรุ่นปัจจุบัน อย่างเพลงสุนทราภรณ์ เพลงลูกกรุง สมัยนั้นเขายังนำเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงให้เข้ากับเพลงสากล แต่เพลงวัยรุ่นปัจจุบันเป็นอย่างไร ยังเหลือกลิ่นอายของเพลงไทยเดิมแค่ไหน ไม่มีเอาเสียเลย แม้แต่เนื้อเพลงก็ยังเลิกใช้สัมผัสแบบกลอน กันไปแล้ว แถมยังมีการใช้สัมผัสแบบฝรั่งเสียอีก
 
ส่วนอีกคน จะหาซื้อข้าวของอะไรให้ลูกหลานที ก็ต้องซื้อของยุโรป รถยนต์เอเชียดีๆ มีตั้งมากมายทำไมไม่ซื้อให้หลาน ที่จริงตัวอย่างแบบนี้มีมากมาย เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบรรดาไฮโซไทยนั้น ลุ่มหลงสินค้าฝรั่งแค่ไหน กระทั่งบินไปซื้อหากันถึงที่ พวกที่ไม่มีปัญญา ไม่มีเงินพอ ก็กระเสือกกระสนหาซื้อของมือสอง ไม่ก็หาของปลอมมาหิ้วไปหิ้วมาให้หายปมด้อย
 
แล้วการต่อต้านก็แสดงนิสัยการบริโภคของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่เป็นทาสฝรั่งอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ว่าจะเลิกกินไวน์ กินเหล้าจากยุโรป อเมริกาแล้ว จะไม่เข้าร้านนั้นร้านนี้แล้ว โถ่ ก็มีแต่พวกเขาเหล่านั้นนั่นแหละที่เป็นทาสสินค้าฝรั่ง คนทั่วไปเขาไม่ได้เป็นทาสฝรั่งมากเท่าพวกคุณจนต้องลุกมาต่อต้านฝรั่งกันตอนนี้หรอก
 
หันไปดูพวกคลั่งมาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็ว่ากันเสียๆ หายๆ ว่าผู้นำประเทศพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พูดไม่ชัด พูดไม่ถูกไวยากรณ์ สู้ผู้นำการเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้ สู้หัวหน้ารัฐบาลก่อนหน้าก็ไม่ได้ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่าเป็นทาสฝรังแล้วจะเรียกอะไร 
 
ภาษาที่ใช้สื่อสารได้รู้เรื่องกับภาษาตามหลักไวยากรณ์นั่นเรื่องหนึ่ง สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษากับสำเนียงต่างถิ่นนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ใช้ภาษาอังกฤษในโลกนี้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก การเหยียดหยามกันด้วยความคิดเรื่อง "ความเป็นมาตรฐาน" ของภาษา เป็นอุดมการณ์ภาษาอย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่คลั่งภาษามาตรฐาน เป็นประเทศที่ใช้ภาษามาตรฐานกดขี่ ย่ำยี ทำลายภาษาถิ่น ล้างผลาญภาษาที่หลากหลายมาตลอด ต่างกับหลายๆ ประเทศในโลกนี้
 
วิธีคิดเกี่ยวกับภาษามาตรฐานของคนไทยจึงระบาดไปถึงการตัดสินความเป็นมาตรฐานของภาษาต่างประเทศไปด้วย ทั้งๆ ที่คนยุโรป คนอเมริกัน และคนใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ ในโลกเขาไม่ได้จำเป็นต้องเข้าใจแบบเดียวกันนี้ ดูอย่างคนสิงคโปร์ คนอินเดีย คนมาเลเชีย ที่อัตราการรู้ภาษาอังกฤษสูงกว่าคนไทยลิบลิ่ว เขายังไม่มาตัดจริตพูดสำเนียงอังกฤษมาตรฐานแบบที่คนไทยบางกลุ่มเรียกร้องคนไทยด้วยกันเองเลย เขาไม่เห็นจะต้องมาบูชาการพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนฝรั่ง แบบที่คนไทยบางกลุ่มบูชาฝรั่งเลย
 
นักประวัติศาสตร์อย่างธงชัย วินิจจะกูลเคยสรุปเอาไว้ว่า ชนชั้นนำสยามในศตวรรษที่ 19 จัดลำดับวิวัฒนาการทางสังคมให้ชาวป่าอยู่ต่ำสุด สูงขึ้นมาคือชาวบ้าน สูงกว่านั้นคือชาวเมือง แต่สูงที่สุดคือชาวตะวันตก ชนชั้นนำไทยบูชาฝรั่งมาตลอด ตามก้นฝรั่งมาตลอด มาวันนี้กลับจะมาต่อต้านฝรั่งน่ะ เป็นไปได้ไม่ตลอดหรอก
 
หากแต่เรื่องสำคัญกว่านั้นคือ ชนชั้นนำไทยไม่เพียงสนใจแต่เปลือกนอกของวัฒนธรรมฝรั่ง สนใจแต่สิ่งฉาบฉวย สนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่ให้ความสะดวกสบาย แต่ชนชั้นนำไทยยังสนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่เสริมต่อความเป็นชนชั้นสูงของพวกตน ยามที่ฝรั่งหยิบยื่นอำนาจวาสนา หยิบยื่นกำลัง พลานุภาพให้ พร้อมๆ กับความสะดวกสบายและหน้าตาของข้าวของเครื่องใช้ ลีลาของการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ยกพวกตนให้สูงเหนือคนสามัญ ชนชั้นนำย่อมยินดี 
 
แต่เมื่อใดที่ฝรั่งเปลี่ยนไป เมื่อฝรั่งสอนอะไรที่ทำลายฐานะของตนเอง เมื่อฝรั่งส่งเสริมการทำลายสถานภาพพิเศษของตนเอง พวกเขาก็ไม่อยากรับ ไม่เอาด้วยกับสาระของคำสอนฝรั่งเหล่านั้น พอฝรั่งเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ เรื่องความเสมอภาค เรื่องเหล่านี้มันรบกวนสถานภาพของชนชั้นนำ พวกเขาจึงหงุดหงิด ต่อต้าน และแสดงอาการอกหักกับความภักดีที่ตนเคยมีให้อย่างสุดจิตสุดใจต่อฝรั่ง
 
นักศึกษาทางวัฒนธรรมที่ไม่หยุดความคิดตนเองไว้ด้วยแนวคิดวัฒนธรรมแบบเมื่อร้อยปีก่อนย่อมรู้ดีว่า วัฒนธรรมนั้นไหลเวียน ติดต่อ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และวัฒนธรรมไม่ได้ตัดขาดจากกระบวนการต่อสู้ ขัดแย้งกันของอำนาจ ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมสากลผสมผสาน ปรับปรุงกันไปมาเสมอ เมื่อโลกหันทิศทางไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมเสรีนิยม วัฒนธรรมเสมอภาคนิยม และวัฒนธรรมประชาธิปไตย วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะต้องถูกท้าทายตลอดไป
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงผมก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจข่าวนี้กันมากนัก เรื่องอาจจะเป็นเพราะมีการใช้คำในการรายงานข่าวเบื้องต้นอย่างคลาดเคลื่อนไป ก็เลยทำให้เป็นที่น่าตกใจ แต่อีกนัยหนึ่งก็ชี้ให้เห็นปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจนกระทั่งเมื่อมีการแสดงการต่อต้านด้วยการปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจกดทับนั้น คนก็จึงตอบรับกันอย่างกระหน่ำ อย่างไรก็ดี ผมก็อยากชี้แจงให้กระจ่างเพิ่มเติมว่า ทำไมผมจึงเลือกที่จะแสดงสถานภาพในการเดินทางมาต่างประเทศของผมในครั้งนี้เพิ่มเติมผ่านข้อเขียนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพิ่งผ่านมาเพียง 5 เดือนอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะถามว่า หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วขบวนการประชาชนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่หากมองย้อนกลับไป แล้วมองไปข้างหน้าอีกสักหน่อย ก็น่าจะลองคิดถกเถียงกันบ้างว่า ขบวนการประชาชนน่าจะไปทางไหนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
TED รายการบรรยายสาธารณะที่มีชื่อเสียงและผมก็ติดตามเรียนรู้มาสม่ำเสมอ ได้เผยแพร่คลิปบรรยายของคีท เชน นักเศรษฐศาสตร์ที่เสนอข้อถกเถียงว่า ภาษามีความเชื่อมโยงกับการออมตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ผมเพิ่งได้ยินเกี่ยวกับการศึกษานี้มาตั้งแต่ต้นภาคการศึกษานี้ในชั้นเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษา ที่นักศึกษาคนหนึ่งเอ่ยถึงการศึกษานี้ และเพิ่งได้ดูด้วยตัวเองเมื่อ 3-4 วันก่อนนี้เอง เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยนำไปให้นักศึกษาดูและถกเถียงกันในชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การอัตวินิบาตกรรมของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นัยหนึ่งถือว่าเป็นการประท้วงต่อการรัฐประหาร อีกนัยหนึ่งถือเป็นการยืนยันความจริงจังและบริสุทธิ์ใจต่ออุดมการณ์ อีกนัยหนึ่งอาจปลุกเร้าสำนึกของผู้ร่วมอุดมการณ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เกรงว่าจะเป็นความสูญเสียที่สูญเปล่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการสอนหนังสือในระดับโรงเรียนก็คงจะตรงที่ว่า ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ได้เรียนการสอนมาก่อน อาจจะมีการอบรมเรื่องการเรียนการสอนบ้าง มีการประเมินผลให้ผู้สอนพิจารณาปรับปรุงตนเองบ้าง มีการประเมินตนเองบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว ผู้สอนมีส่วนสร้างระบบการเรียนการสอนด้วยตนเอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"อาร์บอรีทั่ม" (Arboretum) เป็นสวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ร่วม 3 พันไร่ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สวนนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ก็อยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก หากขยันเดิน สักชั่วโมงหนึ่งก็ถึง ถีบจักรยานไปก็สัก 20 นาที อาจเร็วกว่าขับรถที่ต้องเจอกับป้ายหยุด ทางแยก ไฟสัญญาณ กว่าจะถึงก็สัก 30 นาที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการมิได้มีสถานภาพพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่นๆ ในสังคม เพียงแต่อาชีพนักวิชาการเป็นอาชีพที่ต้องพัฒนาความคิดความอ่านตลอดเวลา นักวิชาการจึงไม่ควรมีขอบเขตของความคิดความอ่าน พร้อมๆ กับที่ไม่ควรปิดกั้นขอบเขตของความคิดคนอื่น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กว่า 3 เดือนที่ผ่านมาผมไปชมการแสดงดนตรีไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ นึกเสียดายที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มาเรียนไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้เลย เมื่อวานนี้ (ตามเวลาที่อเมริกา) ผมก็เพิ่งออกจากห้องแสดงดนตรีมา จนทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่า นี่ผมอยู่ในโลกไหนกัน แล้วทำไมที่ที่ผมอยู่เป็นปกติเขาถึงไม่ทำสถาบันการศึกษาให้เป็นสถานที่บ่มเพาะความเจริญของจิตใจได้อย่างนี้บ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดอร์ แรธสเคลเลอร์เป็นบาร์เบียร์ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ตั้งอยู่ในตึกกิจกรรมนักศึกษา (ที่นี่เรียกว่า Memorial Union) ตึกกิจฯ นี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1928 โน่นเลย บาร์เบียร์แห่งนี้ก็น่าจะอายุไม่น้อยไปกว่าตึกที่มันอาศัยอยู่เท่าใดนัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเข้าร่วมกิจกรรมสังคมวิชาการซ้ำซ้อนกันหลายงาน ตั้งแต่บรรยายเรื่องการทำวิจัยในเวียดนามให้นักศึกษาบัณฑิตศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟัง ต่อด้วยปาร์ตี้ประจำปีของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหา'ลัยวิสคอนซิน ซึ่งเป็นงานแบบ potluck party และก็ฟองดูปาร์ตี้เล็กๆ ที่บ้านอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าขนมปังจุ่มชีสต้มเดือด ทั้งหมดนั้นได้อะไรสนุกๆ มามากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาได้ 3 สัปดาห์ วิชาที่ผมสอนที่วิสคอนซินเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ในห้องมีนักเรียน 10 คน ขนาดพอๆ กับที่เคยสอนที่ธรรมศาสตร์ แต่ที่ต่างคือในห้องเดียวกันนี้มีทั้งนักเรียนปริญญาตรี โท และเอกเรียนร่วมกัน เพียงแต่ข้อกำหนดของงานและความคาดหวังจากนักเรียนระดับ ป.ตรีกับ ป.โท-เอก ย่อมแตกต่างกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ท่านถามอย่างนี้กับสื่อมวลชน ต่อหน้าสาธารณชน ใครเขาจะกล้าตอบ ก็ในเมื่อท่านมีปืนอยู่ในมือ ใครเอาปืนจี้หัวท่านไว้แล้วท่านจะตอบความในใจที่ขัดความรู้สึกเขาได้ไหมล่ะ เรื่องแค่นี้น่าจะเข้าใจนะ