Skip to main content
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้

 
ผมได้คำตอบว่า อาการโกรธนี้เป็นอาการเหมือนคนอกหัก อกหักจากการที่ถูกฝรั่งที่พวกเขาเฝ้าทะนุถนอม บูชา และอยากเลียนแบบให้เหมือนมาตลอดชีวิต กลับมาหักหลังพวกเขา พวกเขาโกรธเพราะพวกเขาจงรักภักดีต่อพ่ออเมริกัน พ่อยุโรป พ่อฝรั่งหัวแดงเหล่านี้มาตลอดชีวิต พวกเขาไม่เข้าใจว่า ถึงขนาดนี้แล้ว เหตุใดพวกเขาจึงยังถูกหักหลัง ถูกทิ้งขว้างจากพ่อฝรั่งเหล่านี้
 
แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือ ผมคิดว่าพวกเขาโกรธฝรั่งก็เพราะค่านิยมที่ฝรั่งสนใจเรียกร้องในขณะนี้ ขัดแย้งกับการพยายามรักษาตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในเวทีอำนาจขณะนี้
 
ถ้าไปถามพวกเขา เขาจะไม่ยอมรับหรอกว่าโกรธเพราะเหตุนี้ แต่ลองค่อยๆ พิจารณาดูว่า เป็นจริงอย่างที่ผมเข้าใจหรือไม่ ลองนึกดูว่า แต่ละคนที่ออกมาแสดงอาการรังเกียจฝรั่ง แท้จริงแล้ว พวกเขานั่นแหละที่เป็นผู้นำของการนำเข้าวัฒนธรรมฝรั่ง พวกเขานั่นแหละที่บูชาฝรั่งจะตายไป 
 
นับตั้งแต่นักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกากลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของพวกทาสนโยบายสงครามเย็นของอเมริกัน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาประณามว่าอเมริกันแทรกแซงไทย พวกเขาไม่รู้หรอกหรือว่า อเมริกันแทรกแซงไทยมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่พวกเขา และก็แทรกแซงให้พวกเขาไปร่ำไปเรียนกลับมา แล้วทำไมจึงเพิ่งจะมาว่าอเมริกันแทรกแซงตอนนี้ ตอนนั้นที่พวกนักศึกษาเดินขบวนประท้วงการแทรกแซงของอเมริกันน่ะ พวกคุณไปอยู่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่กำลังมัวเมากับอเมริกันอยู่นั่นแหละ
 
ลองดูอีกคนที่ออกมาประณามฝรั่ง รายนี้เป็นนักแต่งเพลง จะแต่งเพลงแต่ละทีก็ต้องดูเทรนในยุโรป ในอเมริกา หากจะไม่ถึงกับลอกมาทั้งดุ้น เพลงไทยกลายเป็นเพลงแบบที่เราได้ฟังกันในยุคนี้ได้อย่างไร ก็ด้วยการฉีกตัวเองออกมาจากเพลง "ไทยเดิม" ด้วยการเดินตามแนวเพลงต่างประเทศ จากยุโรป จากอเมริกาแบบแนวของนักแต่งเพลงผู้นี้นั่นแหละ 
 
เมื่อเทียบกับเพลงยุคก่อนหน้าเพลงวัยรุ่นปัจจุบัน อย่างเพลงสุนทราภรณ์ เพลงลูกกรุง สมัยนั้นเขายังนำเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงให้เข้ากับเพลงสากล แต่เพลงวัยรุ่นปัจจุบันเป็นอย่างไร ยังเหลือกลิ่นอายของเพลงไทยเดิมแค่ไหน ไม่มีเอาเสียเลย แม้แต่เนื้อเพลงก็ยังเลิกใช้สัมผัสแบบกลอน กันไปแล้ว แถมยังมีการใช้สัมผัสแบบฝรั่งเสียอีก
 
ส่วนอีกคน จะหาซื้อข้าวของอะไรให้ลูกหลานที ก็ต้องซื้อของยุโรป รถยนต์เอเชียดีๆ มีตั้งมากมายทำไมไม่ซื้อให้หลาน ที่จริงตัวอย่างแบบนี้มีมากมาย เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบรรดาไฮโซไทยนั้น ลุ่มหลงสินค้าฝรั่งแค่ไหน กระทั่งบินไปซื้อหากันถึงที่ พวกที่ไม่มีปัญญา ไม่มีเงินพอ ก็กระเสือกกระสนหาซื้อของมือสอง ไม่ก็หาของปลอมมาหิ้วไปหิ้วมาให้หายปมด้อย
 
แล้วการต่อต้านก็แสดงนิสัยการบริโภคของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่เป็นทาสฝรั่งอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ว่าจะเลิกกินไวน์ กินเหล้าจากยุโรป อเมริกาแล้ว จะไม่เข้าร้านนั้นร้านนี้แล้ว โถ่ ก็มีแต่พวกเขาเหล่านั้นนั่นแหละที่เป็นทาสสินค้าฝรั่ง คนทั่วไปเขาไม่ได้เป็นทาสฝรั่งมากเท่าพวกคุณจนต้องลุกมาต่อต้านฝรั่งกันตอนนี้หรอก
 
หันไปดูพวกคลั่งมาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็ว่ากันเสียๆ หายๆ ว่าผู้นำประเทศพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พูดไม่ชัด พูดไม่ถูกไวยากรณ์ สู้ผู้นำการเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้ สู้หัวหน้ารัฐบาลก่อนหน้าก็ไม่ได้ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่าเป็นทาสฝรังแล้วจะเรียกอะไร 
 
ภาษาที่ใช้สื่อสารได้รู้เรื่องกับภาษาตามหลักไวยากรณ์นั่นเรื่องหนึ่ง สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษากับสำเนียงต่างถิ่นนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ใช้ภาษาอังกฤษในโลกนี้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก การเหยียดหยามกันด้วยความคิดเรื่อง "ความเป็นมาตรฐาน" ของภาษา เป็นอุดมการณ์ภาษาอย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่คลั่งภาษามาตรฐาน เป็นประเทศที่ใช้ภาษามาตรฐานกดขี่ ย่ำยี ทำลายภาษาถิ่น ล้างผลาญภาษาที่หลากหลายมาตลอด ต่างกับหลายๆ ประเทศในโลกนี้
 
วิธีคิดเกี่ยวกับภาษามาตรฐานของคนไทยจึงระบาดไปถึงการตัดสินความเป็นมาตรฐานของภาษาต่างประเทศไปด้วย ทั้งๆ ที่คนยุโรป คนอเมริกัน และคนใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ ในโลกเขาไม่ได้จำเป็นต้องเข้าใจแบบเดียวกันนี้ ดูอย่างคนสิงคโปร์ คนอินเดีย คนมาเลเชีย ที่อัตราการรู้ภาษาอังกฤษสูงกว่าคนไทยลิบลิ่ว เขายังไม่มาตัดจริตพูดสำเนียงอังกฤษมาตรฐานแบบที่คนไทยบางกลุ่มเรียกร้องคนไทยด้วยกันเองเลย เขาไม่เห็นจะต้องมาบูชาการพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนฝรั่ง แบบที่คนไทยบางกลุ่มบูชาฝรั่งเลย
 
นักประวัติศาสตร์อย่างธงชัย วินิจจะกูลเคยสรุปเอาไว้ว่า ชนชั้นนำสยามในศตวรรษที่ 19 จัดลำดับวิวัฒนาการทางสังคมให้ชาวป่าอยู่ต่ำสุด สูงขึ้นมาคือชาวบ้าน สูงกว่านั้นคือชาวเมือง แต่สูงที่สุดคือชาวตะวันตก ชนชั้นนำไทยบูชาฝรั่งมาตลอด ตามก้นฝรั่งมาตลอด มาวันนี้กลับจะมาต่อต้านฝรั่งน่ะ เป็นไปได้ไม่ตลอดหรอก
 
หากแต่เรื่องสำคัญกว่านั้นคือ ชนชั้นนำไทยไม่เพียงสนใจแต่เปลือกนอกของวัฒนธรรมฝรั่ง สนใจแต่สิ่งฉาบฉวย สนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่ให้ความสะดวกสบาย แต่ชนชั้นนำไทยยังสนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่เสริมต่อความเป็นชนชั้นสูงของพวกตน ยามที่ฝรั่งหยิบยื่นอำนาจวาสนา หยิบยื่นกำลัง พลานุภาพให้ พร้อมๆ กับความสะดวกสบายและหน้าตาของข้าวของเครื่องใช้ ลีลาของการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ยกพวกตนให้สูงเหนือคนสามัญ ชนชั้นนำย่อมยินดี 
 
แต่เมื่อใดที่ฝรั่งเปลี่ยนไป เมื่อฝรั่งสอนอะไรที่ทำลายฐานะของตนเอง เมื่อฝรั่งส่งเสริมการทำลายสถานภาพพิเศษของตนเอง พวกเขาก็ไม่อยากรับ ไม่เอาด้วยกับสาระของคำสอนฝรั่งเหล่านั้น พอฝรั่งเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ เรื่องความเสมอภาค เรื่องเหล่านี้มันรบกวนสถานภาพของชนชั้นนำ พวกเขาจึงหงุดหงิด ต่อต้าน และแสดงอาการอกหักกับความภักดีที่ตนเคยมีให้อย่างสุดจิตสุดใจต่อฝรั่ง
 
นักศึกษาทางวัฒนธรรมที่ไม่หยุดความคิดตนเองไว้ด้วยแนวคิดวัฒนธรรมแบบเมื่อร้อยปีก่อนย่อมรู้ดีว่า วัฒนธรรมนั้นไหลเวียน ติดต่อ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และวัฒนธรรมไม่ได้ตัดขาดจากกระบวนการต่อสู้ ขัดแย้งกันของอำนาจ ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมสากลผสมผสาน ปรับปรุงกันไปมาเสมอ เมื่อโลกหันทิศทางไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมเสรีนิยม วัฒนธรรมเสมอภาคนิยม และวัฒนธรรมประชาธิปไตย วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะต้องถูกท้าทายตลอดไป
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด