Skip to main content
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้

 
ผมได้คำตอบว่า อาการโกรธนี้เป็นอาการเหมือนคนอกหัก อกหักจากการที่ถูกฝรั่งที่พวกเขาเฝ้าทะนุถนอม บูชา และอยากเลียนแบบให้เหมือนมาตลอดชีวิต กลับมาหักหลังพวกเขา พวกเขาโกรธเพราะพวกเขาจงรักภักดีต่อพ่ออเมริกัน พ่อยุโรป พ่อฝรั่งหัวแดงเหล่านี้มาตลอดชีวิต พวกเขาไม่เข้าใจว่า ถึงขนาดนี้แล้ว เหตุใดพวกเขาจึงยังถูกหักหลัง ถูกทิ้งขว้างจากพ่อฝรั่งเหล่านี้
 
แต่ลึกลงไปกว่านั้นคือ ผมคิดว่าพวกเขาโกรธฝรั่งก็เพราะค่านิยมที่ฝรั่งสนใจเรียกร้องในขณะนี้ ขัดแย้งกับการพยายามรักษาตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในเวทีอำนาจขณะนี้
 
ถ้าไปถามพวกเขา เขาจะไม่ยอมรับหรอกว่าโกรธเพราะเหตุนี้ แต่ลองค่อยๆ พิจารณาดูว่า เป็นจริงอย่างที่ผมเข้าใจหรือไม่ ลองนึกดูว่า แต่ละคนที่ออกมาแสดงอาการรังเกียจฝรั่ง แท้จริงแล้ว พวกเขานั่นแหละที่เป็นผู้นำของการนำเข้าวัฒนธรรมฝรั่ง พวกเขานั่นแหละที่บูชาฝรั่งจะตายไป 
 
นับตั้งแต่นักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกากลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของพวกทาสนโยบายสงครามเย็นของอเมริกัน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าร่ำเรียนมาจากสหรัฐอเมริกา แต่กลับมาประณามว่าอเมริกันแทรกแซงไทย พวกเขาไม่รู้หรอกหรือว่า อเมริกันแทรกแซงไทยมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่พวกเขา และก็แทรกแซงให้พวกเขาไปร่ำไปเรียนกลับมา แล้วทำไมจึงเพิ่งจะมาว่าอเมริกันแทรกแซงตอนนี้ ตอนนั้นที่พวกนักศึกษาเดินขบวนประท้วงการแทรกแซงของอเมริกันน่ะ พวกคุณไปอยู่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่กำลังมัวเมากับอเมริกันอยู่นั่นแหละ
 
ลองดูอีกคนที่ออกมาประณามฝรั่ง รายนี้เป็นนักแต่งเพลง จะแต่งเพลงแต่ละทีก็ต้องดูเทรนในยุโรป ในอเมริกา หากจะไม่ถึงกับลอกมาทั้งดุ้น เพลงไทยกลายเป็นเพลงแบบที่เราได้ฟังกันในยุคนี้ได้อย่างไร ก็ด้วยการฉีกตัวเองออกมาจากเพลง "ไทยเดิม" ด้วยการเดินตามแนวเพลงต่างประเทศ จากยุโรป จากอเมริกาแบบแนวของนักแต่งเพลงผู้นี้นั่นแหละ 
 
เมื่อเทียบกับเพลงยุคก่อนหน้าเพลงวัยรุ่นปัจจุบัน อย่างเพลงสุนทราภรณ์ เพลงลูกกรุง สมัยนั้นเขายังนำเพลงไทยเดิมมาดัดแปลงให้เข้ากับเพลงสากล แต่เพลงวัยรุ่นปัจจุบันเป็นอย่างไร ยังเหลือกลิ่นอายของเพลงไทยเดิมแค่ไหน ไม่มีเอาเสียเลย แม้แต่เนื้อเพลงก็ยังเลิกใช้สัมผัสแบบกลอน กันไปแล้ว แถมยังมีการใช้สัมผัสแบบฝรั่งเสียอีก
 
ส่วนอีกคน จะหาซื้อข้าวของอะไรให้ลูกหลานที ก็ต้องซื้อของยุโรป รถยนต์เอเชียดีๆ มีตั้งมากมายทำไมไม่ซื้อให้หลาน ที่จริงตัวอย่างแบบนี้มีมากมาย เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบรรดาไฮโซไทยนั้น ลุ่มหลงสินค้าฝรั่งแค่ไหน กระทั่งบินไปซื้อหากันถึงที่ พวกที่ไม่มีปัญญา ไม่มีเงินพอ ก็กระเสือกกระสนหาซื้อของมือสอง ไม่ก็หาของปลอมมาหิ้วไปหิ้วมาให้หายปมด้อย
 
แล้วการต่อต้านก็แสดงนิสัยการบริโภคของพวกเขาเองนั่นแหละ ที่เป็นทาสฝรั่งอยู่ก่อนแล้ว บ้างก็ว่าจะเลิกกินไวน์ กินเหล้าจากยุโรป อเมริกาแล้ว จะไม่เข้าร้านนั้นร้านนี้แล้ว โถ่ ก็มีแต่พวกเขาเหล่านั้นนั่นแหละที่เป็นทาสสินค้าฝรั่ง คนทั่วไปเขาไม่ได้เป็นทาสฝรั่งมากเท่าพวกคุณจนต้องลุกมาต่อต้านฝรั่งกันตอนนี้หรอก
 
หันไปดูพวกคลั่งมาตรฐานการพูดภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็ว่ากันเสียๆ หายๆ ว่าผู้นำประเทศพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พูดไม่ชัด พูดไม่ถูกไวยากรณ์ สู้ผู้นำการเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านรัฐบาลก็ไม่ได้ สู้หัวหน้ารัฐบาลก่อนหน้าก็ไม่ได้ อย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่าเป็นทาสฝรังแล้วจะเรียกอะไร 
 
ภาษาที่ใช้สื่อสารได้รู้เรื่องกับภาษาตามหลักไวยากรณ์นั่นเรื่องหนึ่ง สำเนียงเหมือนเจ้าของภาษากับสำเนียงต่างถิ่นนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ใช้ภาษาอังกฤษในโลกนี้ส่วนใหญ่เขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้มากนัก การเหยียดหยามกันด้วยความคิดเรื่อง "ความเป็นมาตรฐาน" ของภาษา เป็นอุดมการณ์ภาษาอย่างหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่คลั่งภาษามาตรฐาน เป็นประเทศที่ใช้ภาษามาตรฐานกดขี่ ย่ำยี ทำลายภาษาถิ่น ล้างผลาญภาษาที่หลากหลายมาตลอด ต่างกับหลายๆ ประเทศในโลกนี้
 
วิธีคิดเกี่ยวกับภาษามาตรฐานของคนไทยจึงระบาดไปถึงการตัดสินความเป็นมาตรฐานของภาษาต่างประเทศไปด้วย ทั้งๆ ที่คนยุโรป คนอเมริกัน และคนใช้ภาษาอังกฤษอื่นๆ ในโลกเขาไม่ได้จำเป็นต้องเข้าใจแบบเดียวกันนี้ ดูอย่างคนสิงคโปร์ คนอินเดีย คนมาเลเชีย ที่อัตราการรู้ภาษาอังกฤษสูงกว่าคนไทยลิบลิ่ว เขายังไม่มาตัดจริตพูดสำเนียงอังกฤษมาตรฐานแบบที่คนไทยบางกลุ่มเรียกร้องคนไทยด้วยกันเองเลย เขาไม่เห็นจะต้องมาบูชาการพูดภาษาอังกฤษให้เหมือนฝรั่ง แบบที่คนไทยบางกลุ่มบูชาฝรั่งเลย
 
นักประวัติศาสตร์อย่างธงชัย วินิจจะกูลเคยสรุปเอาไว้ว่า ชนชั้นนำสยามในศตวรรษที่ 19 จัดลำดับวิวัฒนาการทางสังคมให้ชาวป่าอยู่ต่ำสุด สูงขึ้นมาคือชาวบ้าน สูงกว่านั้นคือชาวเมือง แต่สูงที่สุดคือชาวตะวันตก ชนชั้นนำไทยบูชาฝรั่งมาตลอด ตามก้นฝรั่งมาตลอด มาวันนี้กลับจะมาต่อต้านฝรั่งน่ะ เป็นไปได้ไม่ตลอดหรอก
 
หากแต่เรื่องสำคัญกว่านั้นคือ ชนชั้นนำไทยไม่เพียงสนใจแต่เปลือกนอกของวัฒนธรรมฝรั่ง สนใจแต่สิ่งฉาบฉวย สนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่ให้ความสะดวกสบาย แต่ชนชั้นนำไทยยังสนใจแต่ความเป็นฝรั่งที่เสริมต่อความเป็นชนชั้นสูงของพวกตน ยามที่ฝรั่งหยิบยื่นอำนาจวาสนา หยิบยื่นกำลัง พลานุภาพให้ พร้อมๆ กับความสะดวกสบายและหน้าตาของข้าวของเครื่องใช้ ลีลาของการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ยกพวกตนให้สูงเหนือคนสามัญ ชนชั้นนำย่อมยินดี 
 
แต่เมื่อใดที่ฝรั่งเปลี่ยนไป เมื่อฝรั่งสอนอะไรที่ทำลายฐานะของตนเอง เมื่อฝรั่งส่งเสริมการทำลายสถานภาพพิเศษของตนเอง พวกเขาก็ไม่อยากรับ ไม่เอาด้วยกับสาระของคำสอนฝรั่งเหล่านั้น พอฝรั่งเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ เรื่องความเสมอภาค เรื่องเหล่านี้มันรบกวนสถานภาพของชนชั้นนำ พวกเขาจึงหงุดหงิด ต่อต้าน และแสดงอาการอกหักกับความภักดีที่ตนเคยมีให้อย่างสุดจิตสุดใจต่อฝรั่ง
 
นักศึกษาทางวัฒนธรรมที่ไม่หยุดความคิดตนเองไว้ด้วยแนวคิดวัฒนธรรมแบบเมื่อร้อยปีก่อนย่อมรู้ดีว่า วัฒนธรรมนั้นไหลเวียน ติดต่อ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และวัฒนธรรมไม่ได้ตัดขาดจากกระบวนการต่อสู้ ขัดแย้งกันของอำนาจ ยิ่งกว่านั้น วัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมสากลผสมผสาน ปรับปรุงกันไปมาเสมอ เมื่อโลกหันทิศทางไปสู่การส่งเสริมวัฒนธรรมเสรีนิยม วัฒนธรรมเสมอภาคนิยม และวัฒนธรรมประชาธิปไตย วัฒนธรรมอำนาจนิยมก็จะต้องถูกท้าทายตลอดไป
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย