Skip to main content
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

 
ในสาขาวิชาที่เป็นพี่น้องกันทั้งสองนี้ คำว่าทัศนคติมีที่ทางน้อยมาก เพราะสาขาทั้งสองสนใจสังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล อย่างไรก็ดี สิ่งที่สาขาวิชาทั้งสองสอนก็คือ การบอกว่าทัศนคติของคนถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากกระบวนการทางสังคม ไม่ใช่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากความนึกคิดของปัจเจกบุคคลเพียงเท่านั้น ดังนั้น แทนที่จะเข้าใจทัศนคติของแต่ละคน วิชาทั้งสองจึงสอนให้เข้าใจทัศนคติของสังคมมากกว่า
 
แต่ทว่า สังคมไม่ได้หยุดนิ่ง และสังคมไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป ในปัจจุบันนี้ แทบจะไม่มีบุคคลในสังคมใดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนกันหมดเลยด้วยซ้ำ ทัศนคติของแต่ละบุคคลในสังคมจึงมีความแตกต่างกันมาก ตามแต่สภาพแวดล้อมทางสังคม ตามแต่การหล่อหลอมทางประวัติศาสตร์ ตามแต่การคัดเลือกตกแต่งความคิดของแต่ละคน
 
ทัศนคติจึงมีส่วนก่อให้เกิดความขัดแย้งกันได้ ทัศนคติจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมให้เหมือนกันไปหมดได้ ไม่มีสังคมไหนสามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน รักคนคนเดียวกัน แสดงออกอย่างเดียวกัน มีความฝันต่ออนาคตเดียวกัน ร้องเพลงเดียวกัน ประสงค์ดีต่อสังคมในแบบเดียวกันได้
 
ที่ยิ่งไปกว่านั้น นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยารุ่นหลัง ๆ ยังสนใจอีกว่า มีทัศนคติบางอย่างที่ฝังติดแน่นอยู่กับตัวตนของแต่ละคน ทัศนคติไม่เพียงฝังอยู่ในใจ แต่ฝังอยู่ในเนื้อตัวร่างกาย ได้แก่ ทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับรสนิยม เช่น การติดรสชาติความอร่อย อันเป็นทัศนคติปลายลิ้นสัมผัสที่แยกไม่ออกจากเนื้อตัวและประสาทรับรู้ นอกจากนั้นยังมีการปฏิบัติการในชีวิตประจำวันต่างๆ ที่แทบจะทำไปโดยอัตโนมัติอย่างการยืน เดิน นั่ง ก็ฝังทัศนคติเกี่ยวกับชนชั้น เพศสภาพ
 
ทุกวันนี้หากมีใครทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ว่าด้วย "ทัศนคติต่อ..." ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ผมก็จะไม่รับพิจารณา ไม่ใช่เพราะไม่ถนัด แต่เพราะเห็นว่า การเข้าใจคนผ่านมโนทัศน์ว่า "ทัศนคติ" เป็นการเข้าใจคนที่ผิดพลาด เพราะคนไม่ได้มีแค่ทัศนคติ หรือเพราะทัศนคติไม่ใช่ก้อนความคิดก้อนหนึ่ง มันประกอบขึ้นมาจากการหล่อหลอม การตัดต่อตกแต่ง การต่อรองกันของทัศนคติต่าง ๆ ตลอดจนตัวความคิดที่แฝงอยู่ในการกระทำปกติประจำวัน อันไม่สามารถกระเทาะออกมาเป็นก้อนทัศนคติได้
 
ดังนั้น เราจึงต้องแยกย่อยและวิเคราะห์ทัศนคติให้ละเอียดลงไปอีก ต้องเข้าใจมิติทางสังคมที่ซับซ้อนของทัศนคติ และเลิกคิดเสียทีว่าทัศนคติเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนกันได้ง่าย ๆ เพราะมีปัจจัยมากมายที่ใครก็ตามไม่สามารถจะควบคุมได้และใครก็ตามก็จึงไม่สามารถควบคุมทัศนคติได้ นอกจากกักขังหน่วงเหนี่ยวมันไว้ในกรงเงียบ ๆ ไม่ให้ทัศนคติแสดงตัวออกมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้