Skip to main content
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน

 
การได้พูดคุยกับนักเรียนที่เพิ่งจบชั้นมัธยมทำให้ได้รู้จักโลกของคนอีกยุคหนึ่ง  และทำให้เห็นข้อจำกัดของการศึกษาในทัศนะของพวกเขาเอง นอกจากนั้น เวลาเพียง 15 นาทีก็สามารถช่วยให้เห็นศักยภาพพิเศษของแต่ละคนได้ หากเอาใจใส่กับคำตอบของพวกเขาให้ดี
 
ผมมักไม่ถามนักเรียนทุกคนด้วยคำถามเดียวกัน เพราะแต่ละคนมีความสนใจแตกต่างกัน บางคนอาจถนัดที่จะตอบเรื่องบางเรื่องได้ดีกว่าบางเรื่อง บางคนอาจไม่เคยคิดไม่เคยสนใจบางเรื่องมาก่อน ก็จึงไม่สามารถแสดงตัวตน แสดงความคิดเห็นออกมาได้อย่างเต็มที่
 
ใน 10 คนที่ผมสัมภาษณ์ มีที่น่าสนใจอยากเล่าบางคน เช่นว่า มีคนหนึ่งผมถามว่า นอกจากหนังสือเรียนแล้วคุณอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนตอบว่า อ่านนิยายแฟนตาซีและหนังสือประวัติศาสตร์ ผมถามว่าชอบประวัติศาสตร์อะไร ยุคไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์ไทย ผมถามต่อว่าชอบประวัติของพระองค์ไหน นักเรียนคนนี้ตอบว่า ชอบประวัติพระนเรศวร 
 
เมื่อถามต่อว่าในประวัติพระนเรศวรที่อ่าน มีเรื่องจริงกี่% มีแฟนตาซีกี่% นักเรียนตอบว่า มีเรื่องจริง 50% แต่เมื่อถามต่อว่า ใน 50% ที่คุณคิดว่าเป็นเรื่องจริง แน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นเรื่องจริงจริงๆ นักเรียนเริ่มงง ตอบไม่ได้ว่าแน่ใจได้อย่างไร นี่แสดงว่า หากนักเรียนคนนี้ไม่ใช่คนที่ไม่ตั้งใจเรียน ก็เพราะโรงเรียนไม่ได้สอน “ประวัติศาสตร์” แต่สอน “นิยายอิงประวัติศาสตร์” มากกว่า
 
นักเรียนหลายคนประสบปัญหาไม่สามารถแยกแยะความจริงออกจากนิทานได้ นักเรียนหลายๆ รุ่นที่ผมสัมภาษณ์รวมแล้วนับร้อยคน มักแสดงความรักต่อพระมหากษัตริย์ไทยสมัยอยุธยาในฐานะเป็นบรรพบุรุษของพวกเขา แต่เมื่อถามว่า เทือกเถาเหล่ากอพวกเขาเป็นคนที่ไหน ร้อยทั้งร้อยก็ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรกับแผ่นดินสยามในสมัยอยุธยา หรือเชื่อมโยงอะไรไม่ได้กับแผ่นดินสมัยอยุธยา ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวอยุธยา
 
น่าสนใจว่านักเรียนจำนวนหนึ่งไม่ได้ศึกษาร่ำเรียนจากตำราเรียนเท่านั้น เมื่อถามว่าอ่านหนังสืออะไรบ้าง นักเรียนคนหนึ่งตอบว่าชอบอ่านนิยายและประวัติชีวิตคน เมื่อถามว่าเรื่องราวนอกตำราเรียนช่วยอะไรกับการเรียนไหม นักเรียนคนนี้ตอบว่า ช่วยให้ได้เรียนรู้อะไรนอกเหนือจากหน้ากระดาษของหนังสือได้ 
 
ผมจึงลองถามนักเรียนคนนี้ยากขึ้นอีกนิดว่า ที่ว่านอกหน้ากระดาษหนังสือนั้น คุณหมายถึงอะไร ระหว่างการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษในตำราเรียน กับการอ่านนิยายแล้วได้อะไรมากกว่าหน้ากระดาษหนังสือนิยาย นักเรียนตอบอย่างแรก ว่าอ่านนิยายแล้วได้เห็นโลกนอกตำราเรียน
 
ปีนี้ก็เหมือนหลายๆ ปีที่ผมจะได้สัมภาษณ์นักเรียนที่มีพื้นฐานภาษาต่างประเทศดี จึงได้รู้ว่านักเรียนไทยเดี๋ยวนี้ไปอาศัยในต่างประเทศกันมาบ้างเหมือนกัน ปีนี้มีคนหนึ่งบอกว่าชอบภาษาอังกฤษ คะแนนภาษาอังกฤษเขาก็ดีจริงๆ ผมจึงลองสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษดู ภาษาอังกฤษเขาดีกว่าผมในวัยเดียวกับเขามากนัก เขาบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเคยไปเรียนในโรงเรียนมัธยมต้นที่แคนาดา 
 
ผมถามนักเรียนคนนี้ว่า ให้บอกมา 3 อย่างว่าการศึกษาที่นั่นมีอะไรดีๆ ที่แตกต่างจากเมืองไทย เขาตอบทันทีว่า 1. เวลาเรียนน้อยกว่าไทย 2. ไม่ต้องสวมชุดนักเรียน 3. นักเรียนได้แสดงออกมากกว่าในโรงเรียนไทย ผมถามว่า เป็นเพราะอะไรโรงเรียนเขาถึงเป็นอย่างนั้น เขาบอกว่า เพราะสังคมแคนาดาให้เสรีภาพมากกว่าสังคมไทย
 
พูดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ นักเรียนที่ผมสัมภาษณ์จำนวนหนึ่งสนใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง มีคนหนึ่งวิจารณ์การรัฐประหาร ผมจึงถามว่า ที่คนกรุงเทพฯ ว่าชาวบ้านถูกนักการเมืองหลอก คุณคิดว่าอย่างไร เขาตอบว่า ชาวบ้านเขาได้รับข่าวสารจากหลายๆ แหล่ง แล้วเขาตรวจสอบ เขาคิดเองได้ ผมถามต่อว่า ทหารเขาบอกจะเข้ามารักษาความสงบไม่ดีหรือ นักเรียนคนนี้ตอบว่า ก็ดี แต่จะใช้เวลานานเท่าไหร่ล่ะ แล้วประชาชนจะตรวจสอบได้ไหม 
 
ส่วนนักเรียนอีกคนหนึ่ง ผมถามว่าทำไมเราจะต้องเลือกตั้ง เขาตอบว่า เพราะการเลือกตั้งแสดงว่าหนึ่งคนมีสิทธิเท่ากัน ผมถามต่อว่าทำไมสิทธิจึงสำคัญ เขาตอบว่า ก็เพราะเราบอกว่าเราปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็ต้องเชื่อในสิทธิเท่าเทียมกันสิ ถ้าไม่บอกว่าปกครองในระบอบนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง
 
ถึงผมจะไม่เชื่อมั่นในการศึกษาในระบบมากนัก เพราะอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ว่าการจัดระบบการศึกษาในบ้านเราบิดเบี้ยวขนาดไหน และเนื้อหาในตำราเรียนมีความจริงอยู่แค่ไหน แต่ผมก็ยังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ ด้วยเพราะเห็นว่าการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา นอกชั้นเรียน กำลังแข่งขันกันให้ความรู้และความคิดที่แตกต่างออกไปจากการควบคุมของรัฐอย่างทรงพลัง 
 
การศึกษาในระบบในปัจจุบันจึงทำได้แค่เพียงให้พื้นฐานการเรียนรู้บางอย่าง แต่ส่วนของเนื้อหาและแนวทางการค้นหาความรู้ที่สำคัญต่อชีวิตนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐานคงไม่ได้มีอิทธิพลมากนักอีกต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด