Skip to main content

เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน

1. Margaret Mead (1901-1978) คนนี้เป็นยอดหญิงมานุษยวิทยาอเมริกันเลย เป็นลูกศิษย์ Franz Boas บิดามานุษยวิทยาอเมริกัน เป็นแฟนเขียนจดหมายกันหวานแหวกับ Ruth Benedict นักมานุษยวิทยาหญิงคนสำคัญอีกคนหนึ่ง มิ้ดเขียนหนังสืออ่านสนุก ท้าทายความคิดฟรอยด์ที่บอกว่าเด็กมีปมฆ่าพ่อหลงรักแม่กันทุกคน มิ้ดไปศึกษาในซามัว แล้วแย้งว่า ไม่จริง เพราะการเลี้ยงดูในสังคมอื่นต่างกัน เด็กที่เติบโตมาในซามัวไม่ได้เกลียดพ่อเหมือนเด็กฝรั่ง งานของมิ้ดโด่งดังมากหลายเล่ม ทำวิจัยหลายพื้นที่ มักเอาสังคมอื่นๆ ทั่วโลกมาวิจารณ์สังคมอเมริกัน คนทั่วไปรู้จักมิ้ดมาก แต่อาภัพไม่เคยได้ตำแหน่งในมหาวิทยาลัย

2. Mary Douglas (1921-2007) เป็นยอดหญิงของฝั่งอังกฤษ เขียนหนังสือหลายเล่มวนเวียนอยู่กับการศึกษาระบบสัญลักษณ์ในสังคมต่างๆ ดักลาสสร้างข้อสรุปสากลว่าด้วยความสะอาดและความสกปรกในทางวัฒนธรรม ว่าไม่ได้มีที่มาจากความสะอาดในทางกายภาพของสิ่งของหรอก แต่มาจากระบบคิดของคนเราเอง ความสะอาดกับความสกปรกยังเกี่ยวข้องกับอำนาจ ยิ่งสกปรกหรือยิ่งผิดจากภาวะปกติ ก็ยิ่งน่ากลัวยิ่งมีอำนาจ ดักลาสนับเป็นนักมานุษยวิทยาอังกฤษผู้หญิงคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมาก เมื่อเทียบกับว่าในสมัยเดียวกันและก่อนหน้านั้นแทบไม่มีนักมานุษยวิทยาหญิงในอังกฤษเลย 

3. Emiko Ohnuki-Tierney (1934--) นักมานุษยวิทยาหญิงญี่ปุ่นที่มาสอนหนังสืออยู่ที่อเมริกานานหลายปี มีผลงานต่อเนื่องมากมาย เริ่มจากการวิจัยชาวไอนุ ภายหลังมาเขียนงานเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตลอด เป็นผู้ที่ใช้การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ใช้เอกสาร แต่วิธีการศึกษาอดีตของโอนูกิ-เทียร์นีย์แตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ตรงที่เธออาศัยการวิเคราะห์สัญลักษณ์เป็นหลัก อย่างข้าวบ้าง ลิงบ้าง ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น เมื่อสองวันก่อนเพิ่งสนทนากับเธอ เธอเริ่มสนใจว่าข้าวในสังคมอื่นอย่างในไทยเป็นอย่างไรบ้าง โอนูกิ-เทียร์นี่ย์น่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาหญิงที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษและอเมริกันคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมากจนกระทั่งปัจจุบัน 

4. Barbara Myerhoff (1935-1985) มายเยอร์ฮอฟเป็นนักมานุษยวิทยาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก เพราะเธออายุสั้น เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งอย่างรวดเร็ว งานของมายเยอร์ฮอฟชิ้นสำคัญคือ Numer Our Days (1976) ที่เขียนถึงสังคมคนชราในที่พักคนชราชาวยิวที่แคลิฟอร์เนียนั้น โด่งดังอ่านกันอยู่จนทุกวันนี้ และยังถือว่าเป็นงานเขียนแนวทดลองที่ลองใช้วิธีการเล่าแบบปลกๆ เช่น มีการจินตนาการถึงบทสนทนาระหว่างนักมานุษยวิทยากับคนที่ตายไปแล้ว และมีการเล่าให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของคนในสังคมอย่างเด่นชัดแตกต่างกันในสังคมเดียวกัน มายเยอร์ฮอฟยังนับเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์ชาติพันธ์ุวรรณนา ก่อนเสียชีวิตเธอทำภาพยนตร์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยกับความเชื่อทางศาสนาของตัวเธอเอง 

5. Sherry Ortner (1941--) ออร์ตเนอร์เป็นนักมานุษยวิทยาหญิงอเมริกันที่ถือได้ว่าร้อนแรงที่สุดคนหนึ่งทีเดียว แม้ว่าจะมีคนหลายๆ คนสร้างแนวคิดที่เธอเรียกว่า "ทฤษฎีปฏิบัติการ" แล้ว ต้องเรียกว่าออร์ตเนอร์นี่แหละที่เป็นคนปลุกปั้นกระแสการศึกษาแนวนี้ขึ้นมา ถ้าจะถามว่ามานุษยวิทยาหลังการวิพากษ์ของพวกโพสต์โมเดิร์นแล้วทำอะไรกัน แนวทางที่เป็นหลักเป็นฐานแน่นหนาที่สุดก็คือแนวทางที่ออร์ตเนอร์สร้างขึ้นมานี่แหละ ออร์ตเนอร์ทำวิจัยสังคมชาวเชอร์ปา ที่ทิเบต ปัจจุบันหันมาศึกษาสังคมอเมริกันมากขึ้น และยังผลิตงานต่อเนื่อง 

6. Aihwa Ong (195?--) อองนับเป็นนักมานุษยวิทยาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือจากมาเลเซีย คนแรกๆ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก งานที่โด่งดังของอองเริ่มจากการศึกษาสาวโรงงานในโรงงานญี่ปุ่นที่ตั้งในประเทศมาเลเซีย คนงานเป็นหญิงมุสลิมที่ย้ายถิ่นจากชนบทมาอยู่ในเมือง เมืองมาแล้วก็พบตัวตนใหม่ๆ ของตนเอง พร้อมๆ กันกับต้องตกอยู่ใตการควบคุมในฐานะตัวตนใหม่ระบบโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากนั้นอองก็ผลิตงานที่โด่งดังอีกหลายชิ้น ที่สำคัญคือที่ว่าด้วยคนจีนย้ายถิ่นที่มาอาศัยในอเมริกา งานนี้เป็นการสะท้อนตัวเธอเองที่เป็นคนจีนจากปีนังด้วย อองเป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนหนังสือน่าอ่าน ผสมทฤษฎีกับรายละเอียดชีวิตคนได้ดี งานเธอเป็นตัวอย่างของการเขียนงานสมัยนี้ได้ดีมาก 

7. Ruth Behar (1956--) เบฮาร์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันเชื้อสายคิวบัน พ่อแม่อพยพมาจากคิวบา เบฮาร์โด่งดังมาจากการศึกษาผู้หญิงชาวแม็กซิกัน ที่ย้ายถิ่นข้ามไปมาระหว่างสหรัฐอมเริกากับแม็กซิโก งานของเธอนับเป็นการบุกเบิกการศึกษาข้ามพรมแดน และยังบุกเบิกงานแนวอัตชาติพันธ์ุนิพนธ์ คือเขียนวิเคราะห์ชีวิตของนักมานุษยวิทยาเองเข้าไปในการวิเคราะห์ชีวิตผู้คนที่ศึกษา งานของเบฮาร์มีลีลาการเขียนที่ชวนอ่านมาก บทสัมภาษณ์ที่ถ่ายทอดมาเป็นงานเขียนของเธอมีทั้งอารมณ์ขัน ความเศร้า และรายละเอียดที่ทำให้อ่านแล้วเห็นใจชีวิตผู้คน เบฮาร์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับอีกหลายคนในการเปิดศักราชของงานเขียนของนักมานุษยวิทยาหญิงสืบต่อจากรุ่นที่ Michelle Rosaldo, Louise Lamphere และ Sherry Ortner เคยบุกเบิกไว้ 

8. Kirin Narayan (1959--) นารายันคือนักมานุษยวิทยาเชื้อสายอินเดียที่มาเติบโตทางวิชาการในอเมริกา นารายันอยู่ในแนวหน้าของการเขียนงานทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน งานของเธอตั้งแต่ชิ้นแรกที่ว่าด้วยการเทศนาของนักบวชอินเดีย นารายันได้นำเอาแนวทางใหม่ของการเขียนที่ให้ความหมายและเสียงที่หลากหลายแสดงตัวออกมาในการใช้นิทานเพื่อเทศนา นี่จึงเป็นการศึกษานิทานจากภาคสนามที่ไม่จำกัดความหมายตายตัวของนิทานไปด้วยในตัว นารายันเป็นคนหนึ่งที่นำเอาประวัติชีวิตครอบครัวตนเองมาวิเคราะห์แล้วเขียนเป็นนิยายทางชาติพันธ์ุวรรณนา นอกจากงานวิชาการแล้ว เธอยังเขียนนิยายอย่างจริงจังด้วย ล่าสุดเธออกหนังสือว่าด้วยการเขียนงานทางมานุษยวิทยา

 

9. Saba Mahmood (1962--) มาฮ์มุดถือเป็นดาวรุ่งคนสำคัญคนหนึ่งในวงการมานุษยวิทยาปัจจุบัน เธอเป็นมุสลิมชาวปากีสถาน ปัจจุบันมาทำงานที่อเมริกา งานที่โด่งดังของเธอชื่อ Politics of Peity (2004) ศึกษาบทบาททางศาสนาของผู้หญิงมุสลิมอียิปต์ ประเด็นสำคัญคือการเข้ารีตและมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนานั้น หาใช่การจำยอมและสูญเสียอำนาจไม่ หากแต่เป็นการช่วยให้ผูหญิงเหล่านี้มีที่ยืนอย่างมีอำนาจในสังคมมุสลิมอย่างทัดเทียมหรืออาจเหนือกว่าชาย  

10.ที่จริงถ้านับ Nancy Scheper-Hughes ที่ได้แนะนำไปแล้วในลิสต์ก่อนหน้า (ดูที่นี่) ก็ครบสิบแล้ว แต่จะขอแนะนำชุดงานมานุษยวิทยาที่ศึกษาประเทศไทยสักหน่อย แนะนำรวมๆ กันทีเดียวหลายๆ คนเลยก็แล้วกัน นักมานุษยวิทยาที่ได้อ่านงานมาแล้วชอบๆ ก็ได้แก่ Katherine Bowie ไม่ใช่เพราะเธอเป็นอาจารย์ผม แต่เพราะงานของเธอให้ความเข้าใจสังคมไทยจากข้อมูลหลักฐานได้ชัดเจนดีมาก ข้อมูลและการตีความของเธอตั้งแต่เรื่องทาสในสยาม เศรษฐกิจการค้าและการเกษตรในศตวรรษที่ 19 เรื่องการสร้างมวลชนลูกเสือชาวบ้านยุค 6 ตุลาคม 1976 จนถึงเรื่องการเลือกตั้ง และล่าสุดกำลังจะออกหนังสือเรื่องพระเวสสันดร ล้วนเสนอภาพสังคมไทยที่หลากหลายและแตกต่างไปจากที่คนไทยถูกสอนม

 

วงการไทยศึกษายังมีนักมานุษยวิทยาหญิงที่สำคัญๆ อีกหลายคน เช่น Penny Van Esterik ที่บุกเบิกสตรีศึกษาในไทย เป็นผู้ชี้ว่าผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถานภาพสูงเป็นพิเศษ Mary Beth Mills ที่ศึกษาสาวโรงงานไทยคนแรกๆ Deborah Wong ศึกษาละครและดนตรีไทย ภายหลังทำงานในสหรัฐอเมริกา ศึกษาการแสดงและดนตรีของชาวเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ในอเมริกา Yoko Hayami ศึกษาชาวกะเหรี่ยงทั้งในไทยและพม่า ส่วนนักมานุษยวิทยาหญิงสัญชาติไทย ที่จริงผมก็ประทับในผลงานของหลายๆ ท่าน แต่ขอไม่เอ่ยถึง เพราะไม่อยากตกหล่นใครไป 

ร่ายมาเสียยาว คงพอให้ท่านผู้นำพอเห็นได้บ้างว่าทำไมจึงควรมีผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีให้มากขึ้น จะรอดูว่าปรับครม.คราวหน้าแล้วท่านจะให้ที่นั่งผู้หญิงมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าท่านยังไม่ถูกประชาชนไล่ออกไปก่อนน่ะนะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย