Skip to main content

เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน

1. Margaret Mead (1901-1978) คนนี้เป็นยอดหญิงมานุษยวิทยาอเมริกันเลย เป็นลูกศิษย์ Franz Boas บิดามานุษยวิทยาอเมริกัน เป็นแฟนเขียนจดหมายกันหวานแหวกับ Ruth Benedict นักมานุษยวิทยาหญิงคนสำคัญอีกคนหนึ่ง มิ้ดเขียนหนังสืออ่านสนุก ท้าทายความคิดฟรอยด์ที่บอกว่าเด็กมีปมฆ่าพ่อหลงรักแม่กันทุกคน มิ้ดไปศึกษาในซามัว แล้วแย้งว่า ไม่จริง เพราะการเลี้ยงดูในสังคมอื่นต่างกัน เด็กที่เติบโตมาในซามัวไม่ได้เกลียดพ่อเหมือนเด็กฝรั่ง งานของมิ้ดโด่งดังมากหลายเล่ม ทำวิจัยหลายพื้นที่ มักเอาสังคมอื่นๆ ทั่วโลกมาวิจารณ์สังคมอเมริกัน คนทั่วไปรู้จักมิ้ดมาก แต่อาภัพไม่เคยได้ตำแหน่งในมหาวิทยาลัย

2. Mary Douglas (1921-2007) เป็นยอดหญิงของฝั่งอังกฤษ เขียนหนังสือหลายเล่มวนเวียนอยู่กับการศึกษาระบบสัญลักษณ์ในสังคมต่างๆ ดักลาสสร้างข้อสรุปสากลว่าด้วยความสะอาดและความสกปรกในทางวัฒนธรรม ว่าไม่ได้มีที่มาจากความสะอาดในทางกายภาพของสิ่งของหรอก แต่มาจากระบบคิดของคนเราเอง ความสะอาดกับความสกปรกยังเกี่ยวข้องกับอำนาจ ยิ่งสกปรกหรือยิ่งผิดจากภาวะปกติ ก็ยิ่งน่ากลัวยิ่งมีอำนาจ ดักลาสนับเป็นนักมานุษยวิทยาอังกฤษผู้หญิงคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมาก เมื่อเทียบกับว่าในสมัยเดียวกันและก่อนหน้านั้นแทบไม่มีนักมานุษยวิทยาหญิงในอังกฤษเลย 

3. Emiko Ohnuki-Tierney (1934--) นักมานุษยวิทยาหญิงญี่ปุ่นที่มาสอนหนังสืออยู่ที่อเมริกานานหลายปี มีผลงานต่อเนื่องมากมาย เริ่มจากการวิจัยชาวไอนุ ภายหลังมาเขียนงานเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตลอด เป็นผู้ที่ใช้การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ใช้เอกสาร แต่วิธีการศึกษาอดีตของโอนูกิ-เทียร์นีย์แตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ตรงที่เธออาศัยการวิเคราะห์สัญลักษณ์เป็นหลัก อย่างข้าวบ้าง ลิงบ้าง ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น เมื่อสองวันก่อนเพิ่งสนทนากับเธอ เธอเริ่มสนใจว่าข้าวในสังคมอื่นอย่างในไทยเป็นอย่างไรบ้าง โอนูกิ-เทียร์นี่ย์น่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาหญิงที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษและอเมริกันคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมากจนกระทั่งปัจจุบัน 

4. Barbara Myerhoff (1935-1985) มายเยอร์ฮอฟเป็นนักมานุษยวิทยาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก เพราะเธออายุสั้น เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งอย่างรวดเร็ว งานของมายเยอร์ฮอฟชิ้นสำคัญคือ Numer Our Days (1976) ที่เขียนถึงสังคมคนชราในที่พักคนชราชาวยิวที่แคลิฟอร์เนียนั้น โด่งดังอ่านกันอยู่จนทุกวันนี้ และยังถือว่าเป็นงานเขียนแนวทดลองที่ลองใช้วิธีการเล่าแบบปลกๆ เช่น มีการจินตนาการถึงบทสนทนาระหว่างนักมานุษยวิทยากับคนที่ตายไปแล้ว และมีการเล่าให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของคนในสังคมอย่างเด่นชัดแตกต่างกันในสังคมเดียวกัน มายเยอร์ฮอฟยังนับเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์ชาติพันธ์ุวรรณนา ก่อนเสียชีวิตเธอทำภาพยนตร์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยกับความเชื่อทางศาสนาของตัวเธอเอง 

5. Sherry Ortner (1941--) ออร์ตเนอร์เป็นนักมานุษยวิทยาหญิงอเมริกันที่ถือได้ว่าร้อนแรงที่สุดคนหนึ่งทีเดียว แม้ว่าจะมีคนหลายๆ คนสร้างแนวคิดที่เธอเรียกว่า "ทฤษฎีปฏิบัติการ" แล้ว ต้องเรียกว่าออร์ตเนอร์นี่แหละที่เป็นคนปลุกปั้นกระแสการศึกษาแนวนี้ขึ้นมา ถ้าจะถามว่ามานุษยวิทยาหลังการวิพากษ์ของพวกโพสต์โมเดิร์นแล้วทำอะไรกัน แนวทางที่เป็นหลักเป็นฐานแน่นหนาที่สุดก็คือแนวทางที่ออร์ตเนอร์สร้างขึ้นมานี่แหละ ออร์ตเนอร์ทำวิจัยสังคมชาวเชอร์ปา ที่ทิเบต ปัจจุบันหันมาศึกษาสังคมอเมริกันมากขึ้น และยังผลิตงานต่อเนื่อง 

6. Aihwa Ong (195?--) อองนับเป็นนักมานุษยวิทยาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือจากมาเลเซีย คนแรกๆ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก งานที่โด่งดังของอองเริ่มจากการศึกษาสาวโรงงานในโรงงานญี่ปุ่นที่ตั้งในประเทศมาเลเซีย คนงานเป็นหญิงมุสลิมที่ย้ายถิ่นจากชนบทมาอยู่ในเมือง เมืองมาแล้วก็พบตัวตนใหม่ๆ ของตนเอง พร้อมๆ กันกับต้องตกอยู่ใตการควบคุมในฐานะตัวตนใหม่ระบบโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากนั้นอองก็ผลิตงานที่โด่งดังอีกหลายชิ้น ที่สำคัญคือที่ว่าด้วยคนจีนย้ายถิ่นที่มาอาศัยในอเมริกา งานนี้เป็นการสะท้อนตัวเธอเองที่เป็นคนจีนจากปีนังด้วย อองเป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนหนังสือน่าอ่าน ผสมทฤษฎีกับรายละเอียดชีวิตคนได้ดี งานเธอเป็นตัวอย่างของการเขียนงานสมัยนี้ได้ดีมาก 

7. Ruth Behar (1956--) เบฮาร์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันเชื้อสายคิวบัน พ่อแม่อพยพมาจากคิวบา เบฮาร์โด่งดังมาจากการศึกษาผู้หญิงชาวแม็กซิกัน ที่ย้ายถิ่นข้ามไปมาระหว่างสหรัฐอมเริกากับแม็กซิโก งานของเธอนับเป็นการบุกเบิกการศึกษาข้ามพรมแดน และยังบุกเบิกงานแนวอัตชาติพันธ์ุนิพนธ์ คือเขียนวิเคราะห์ชีวิตของนักมานุษยวิทยาเองเข้าไปในการวิเคราะห์ชีวิตผู้คนที่ศึกษา งานของเบฮาร์มีลีลาการเขียนที่ชวนอ่านมาก บทสัมภาษณ์ที่ถ่ายทอดมาเป็นงานเขียนของเธอมีทั้งอารมณ์ขัน ความเศร้า และรายละเอียดที่ทำให้อ่านแล้วเห็นใจชีวิตผู้คน เบฮาร์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับอีกหลายคนในการเปิดศักราชของงานเขียนของนักมานุษยวิทยาหญิงสืบต่อจากรุ่นที่ Michelle Rosaldo, Louise Lamphere และ Sherry Ortner เคยบุกเบิกไว้ 

8. Kirin Narayan (1959--) นารายันคือนักมานุษยวิทยาเชื้อสายอินเดียที่มาเติบโตทางวิชาการในอเมริกา นารายันอยู่ในแนวหน้าของการเขียนงานทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน งานของเธอตั้งแต่ชิ้นแรกที่ว่าด้วยการเทศนาของนักบวชอินเดีย นารายันได้นำเอาแนวทางใหม่ของการเขียนที่ให้ความหมายและเสียงที่หลากหลายแสดงตัวออกมาในการใช้นิทานเพื่อเทศนา นี่จึงเป็นการศึกษานิทานจากภาคสนามที่ไม่จำกัดความหมายตายตัวของนิทานไปด้วยในตัว นารายันเป็นคนหนึ่งที่นำเอาประวัติชีวิตครอบครัวตนเองมาวิเคราะห์แล้วเขียนเป็นนิยายทางชาติพันธ์ุวรรณนา นอกจากงานวิชาการแล้ว เธอยังเขียนนิยายอย่างจริงจังด้วย ล่าสุดเธออกหนังสือว่าด้วยการเขียนงานทางมานุษยวิทยา

 

9. Saba Mahmood (1962--) มาฮ์มุดถือเป็นดาวรุ่งคนสำคัญคนหนึ่งในวงการมานุษยวิทยาปัจจุบัน เธอเป็นมุสลิมชาวปากีสถาน ปัจจุบันมาทำงานที่อเมริกา งานที่โด่งดังของเธอชื่อ Politics of Peity (2004) ศึกษาบทบาททางศาสนาของผู้หญิงมุสลิมอียิปต์ ประเด็นสำคัญคือการเข้ารีตและมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนานั้น หาใช่การจำยอมและสูญเสียอำนาจไม่ หากแต่เป็นการช่วยให้ผูหญิงเหล่านี้มีที่ยืนอย่างมีอำนาจในสังคมมุสลิมอย่างทัดเทียมหรืออาจเหนือกว่าชาย  

10.ที่จริงถ้านับ Nancy Scheper-Hughes ที่ได้แนะนำไปแล้วในลิสต์ก่อนหน้า (ดูที่นี่) ก็ครบสิบแล้ว แต่จะขอแนะนำชุดงานมานุษยวิทยาที่ศึกษาประเทศไทยสักหน่อย แนะนำรวมๆ กันทีเดียวหลายๆ คนเลยก็แล้วกัน นักมานุษยวิทยาที่ได้อ่านงานมาแล้วชอบๆ ก็ได้แก่ Katherine Bowie ไม่ใช่เพราะเธอเป็นอาจารย์ผม แต่เพราะงานของเธอให้ความเข้าใจสังคมไทยจากข้อมูลหลักฐานได้ชัดเจนดีมาก ข้อมูลและการตีความของเธอตั้งแต่เรื่องทาสในสยาม เศรษฐกิจการค้าและการเกษตรในศตวรรษที่ 19 เรื่องการสร้างมวลชนลูกเสือชาวบ้านยุค 6 ตุลาคม 1976 จนถึงเรื่องการเลือกตั้ง และล่าสุดกำลังจะออกหนังสือเรื่องพระเวสสันดร ล้วนเสนอภาพสังคมไทยที่หลากหลายและแตกต่างไปจากที่คนไทยถูกสอนม

 

วงการไทยศึกษายังมีนักมานุษยวิทยาหญิงที่สำคัญๆ อีกหลายคน เช่น Penny Van Esterik ที่บุกเบิกสตรีศึกษาในไทย เป็นผู้ชี้ว่าผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถานภาพสูงเป็นพิเศษ Mary Beth Mills ที่ศึกษาสาวโรงงานไทยคนแรกๆ Deborah Wong ศึกษาละครและดนตรีไทย ภายหลังทำงานในสหรัฐอเมริกา ศึกษาการแสดงและดนตรีของชาวเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ในอเมริกา Yoko Hayami ศึกษาชาวกะเหรี่ยงทั้งในไทยและพม่า ส่วนนักมานุษยวิทยาหญิงสัญชาติไทย ที่จริงผมก็ประทับในผลงานของหลายๆ ท่าน แต่ขอไม่เอ่ยถึง เพราะไม่อยากตกหล่นใครไป 

ร่ายมาเสียยาว คงพอให้ท่านผู้นำพอเห็นได้บ้างว่าทำไมจึงควรมีผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีให้มากขึ้น จะรอดูว่าปรับครม.คราวหน้าแล้วท่านจะให้ที่นั่งผู้หญิงมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าท่านยังไม่ถูกประชาชนไล่ออกไปก่อนน่ะนะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย